ในแท็บที่ 3 ของโปรแกรม CPU-Z จะบอกถึงยี่ห้อและรุ่นของเมนบอร์ดที่เรากำลังใช้งานอยู่ในขณะนั้น และบอกกับเราด้วยว่าเมนบอร์ดนั้นใช้ชิปเซตรุ่นใด BIOS ของเมนบอร์ดเป็นเวอร์ชันไหน และอินเทอร์เฟซที่ใช่เชื่อมต่อกับกราฟิกการ์ดเป็นแบบใด ดูแล้วก็ไม่น่าจะมีอะไรเป็นพิเศษให้พูดถึงมากนัก แต่เราคิดว่าถ้าเรามาขยายความเพิ่มเติมอะไรอีกสักเล็กน้อยก็น่าจะทำให้คุณผู้อ่านได้ความรู้เกี่ยวกับเมนบอร์ดเพิ่มขึ้นมาอีกไม่มากก็น้อย
- The Beginner’s Guide: CPU-Z มีแล้วดูยังไง (ตอนที่ 1)
- The Beginner’s Guide: CPU-Z มีแล้วดูยังไง (ตอนที่ 2) เรื่องของแคช
- The Beginner’s Guide: CPU-Z มีแล้วดูยังไง (ตอนที่ 3) เมนบอร์ดและชิปเซต
- The Beginner’s Guide: CPU-Z มีแล้วดูยังไง (ตอนที่ 4) อ่านค่า RAM และ Graphics Card
ในแท็บ Mainboard ของ CPU-Z นี้ก็จะแบ่งการแสดงข้อมูลออกเป็นสามส่วนด้วยกัน ส่วนแรกก็คือข้อมูลของเมนบอร์ด (Mainboard) ส่วนที่สองก็คือข้อมูลของไบออส (BIOS) และส่วนที่สามบอกข้อมูลการเชื่อมต่อของกราฟิกการ์ด (Graphics Interface)
Mainboard
ส่วนแรกคือการแสดงข้อมูลทั่วไปของเมนบอร์ด เช่นผู้ผลิตเมนบอร์ด รุ่นของเมนบอร์ด ชิปเซตที่ใช้ โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้
- Manufacturer: แสดงชื่อผู้ผลิตเมนบอร์ด ในตัวอย่างคือ “MSI”
- Model: แสดงชื่อรุ่นของเมนบอร์ด ในตัวอย่างคือ “Big Bang-XPower II (MS-7737)” ส่วนช่องตัวเลขที่อยู่ด้านหลัง Model เป็นการระบุเวอร์ชันของเมนบอร์ดในตัวอย่างนี้เป็น “1.0” และเมนบอร์ดบางรุ่นก็อาจจะมีมากถึง 3 เวอร์ชันก็มีแต่ว่ายังคงใช้ชื่อรุ่นเหมือนเดิม
- Chipset: หัวข้อนี้มีการแบ่งข้อมูลเป็นสามช่อง ช่องแรกระบุผู้ผลิตชิปเซต ในที่นี้คือ Intel ช่องต่อมาเป็นการระบุถึงแพลตฟอร์ม ในตัวอย่างนี้คือ “Ivy Bridge-E” ส่วนช่องสุดท้ายคือ Rev. หรือเวอร์ชัน
- Southbridge: สำหรับ Southbridge นี้จริง ๆ แล้วก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งของคำว่าชิปเซต และในยุคปัจจุบันชื่อชิปที่อยู่ในช่อง Southbridge นี้ได้กลายเป็นชื่อเรียกของชิปเซตแล้วด้วยซ้ำไป (เรื่องมันยาวแต่จะเล่าให้ฟังในหัวข้อ “Chipset”) ในตัวอย่างนี้คือชิป “Intel” รุ่น “X79” เวอร์ชัน “06”
- LPCIO: “LPCIO” นี้ย่อมาจากคำว่า Low Pin Count (Input Output) เป็นโปรโตคอล หรือข้อตกลงในการติดต่อสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ ซึ่งมีอยู่ในหลายอุปกรณ์ที่มีการประมวลผลไม่ได้มีเฉพาะในแผงวงจรคอมพิวเตอร์เพียงอย่างเดียว แต่ใน CPU-Z ช่องของ LPCIO นี้จะบอกชื่อของผู้ผลิตชิป ที่ใช้ในการตรวจสอบพวกอุณหภูมิ ความเร็วรอบพัดลม แรงดันไฟฟ้า และเซ็นเซอร์อื่น ๆ ตรงนี้ขึ้นอยู่กับชิปที่นำมาใช้ ในตัวอย่างนี้ผู้ผลิตชิปคือ “Fintek” รุ่นของชิปคือ “F71889A” ในอีกแง่หนึ่งเราจะบอกว่าชิปตัวนี้ทำหน้าที่เป็น “Hardware Monitor” ก็ได้ครับ
BIOS
BIOS (Basic Input/Output System) เป็นโปรแกรมขนาดเล็กของเมนบอร์ดซึ่งจะถูกสั่งให้ทำงานโดยอัตโนมัติทันทีที่เมนบอร์ดถูกเปิดใช้งาน BIOS จะทำหน้าที่ตรวจสอบความพร้อมของฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ที่ติดตั้งอยู่บนเมนบอร์ด ไม่ว่าจะเป็นซีพียู แรม กราฟิกการ์ด ฮาร์ดดิสก์ และอื่น ๆ ถ้าไม่มีความผิดพลาดใด ๆ ก็จะสั่งให้บูตเข้าสู่ระบบปฏิบัติการ สำหรับข้อมูลในแท็บ Mainboard หัวข้อ BIOS จะบอกข้อมูลให้เราทราบอยู่สามรายการคือ
- Brand: ผู้พัฒนา BIOS ในที่นี้คือ American Megatrends, Inc. หรือที่เรียกกันย่อ ๆ ว่า AMI
- Version: รุ่นของ BIOS เวลาเราเห็นข่าวเกี่ยวกับการอัปเกรด BIOS เราก็มาดูตรงนี้ครับว่าเมนบอร์ดของเราได้ติดตั้ง BIOS เวอร์ชันไหน และการอัปเกรด BIOS ในแต่ละครับก็จะช่วยเพิ่มเติมความสามารถหรือแก้ไขปัญหาของเมนบอร์ดอีกด้วย
- Date: ระบุวันที่ของ BIOS บางครั้งชื่อรุ่นของ BIOS อาจจะเป็นตัวเลขเดียวกันแล้วลงท้ายด้วยตัวอักษร a,b,c ซึ่งอาจจะงงว่าอันไหนใหม่กว่ากัน ก็มาดูที่วันที่ของ BIOS ได้ครับชัดเจนกว่า อย่างเมนบอร์ดทีเราใช้ก็อัปเกรดเป็น BIOS รุ่นล่าสุดแล้วครับและได้รับการอัปเกรดมาตั้งแต่ปี 2014
Graphics Interface
แสดงข้อมูลอินเทอร์เฟซของกราฟิกการ์ดที่ใช้ในระบบว่าเป็นชนิดใด ถ้าเป็นเมนบอร์ดรุ่นใหม่ ๆ ที่เราใช้กันอยู่อินเทอร์เฟซของกราฟิกก็จะอยู่ในกลุ่มของ PCI-Express แต่ถ้าเก่ากว่านั้นเราก็จะได้เห็นอินเทอร์เฟซกราฟิกแบบ AGP (Accelerated Graphics Port) ซึ่งเป็นพอร์ตความเร็วสูงที่ออกแบบมาเพื่อเชื่อมต่อสัญญาณจากกราฟิกการ์ดโดยเฉพาะ และหลังจากนั้นระบบทั้งหมดก็เปลี่ยนมาให้ PCI-Express สล๊อต AGP จึงได้หายไป และก่อนหน้าก็มีมีสล๊อตอื่น ๆ อีก แต่คิดว่าไม่พูดถึงจะดีกว่าเดี๋ยวจะยาวไป มาดูที่รายละเอียดของ Graphics Interface ของ CPU-Z กันต่อครับ หัวข้อในส่วนนี้ประกอบไปด้วย 4 รายการได้แก่
- Version: ใช้บอกชนิดอินเทอร์เฟซของกราฟิกการ์ดที่กำลังใช้งาน ในตัวอย่างนี้กราฟิกการ์ดของเราใช้อินเทอร์เฟซแบบ PCI-Express แต่ถ้าเป็นอินเทอร์เฟซแบบอื่นเช่นในเครื่องรุ่นเก่า ๆ เราอาจจะได้พบข้อความ PCI หรือ AGP แล้วตามด้วยเลขเวอร์ชัน เช่น 2.0 หรือ 3.0 เป็นต้น
- Link Width: ก่อนที่จะมาใช้หัวข้อ Link Width มีการใช้ชื่อหัวข้อว่า Transfer Rate มาก่อน แต่ในปัจจุบันหมายถึงความกว้างของสัญญาณที่ใช้ในการเชื่อมต่อ ในตัวอย่างนี้เป็น 16X หรือใช้ PCI-Express 16 เลน นั่นเอง
- Max. Supported: สำหรับช่อง Max Supported นี้จะวางอยู่หลังหัวข้อ Link Width เพื่อเป็นการขยายความหมายของจำนวนช่องสัญญาณสูงสุดที่รองรับในที่นี้คือ 16X เช่นกัน
- Side Band Addressing: “Side Band Addressing” นี้เป็นชื่อของคุณสมบัติของกราฟิกการ์ดที่ใช้อินเทอร์เฟซแบบ AGP แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ากราฟิกการ์ด AGP ทุกรุ่นจะรองรับคุณสมบัตินี้ ดังนั้นของมูลในช่องนี้จะบอกอยู่สองค่าคือ “Enable” และ “Disable” แต่ในกรณีนี้กราฟิกการ์ดของเราเป็น PCI-Express ช่อง Side band Addressing จึงไม่มีการรายงาน (Side Band Addressing เป็นเหมือนช่องทางเพิ่มเติมในการรับส่งข้อมูลนอกหรือไปจากอินเทอร์เฟส AGP แบบปกติ)
จบครับ เอาจริง ๆ จบแค่นี้เลยสำหรับแท็บ “Mainboard” ของ CPU-Z แต่สำหรับเราจบแค่นี้คงง่ายไปหน่อยครับ ว่าแล้วเราก็มาขยายความเรื่องชิปเซตกันหน่อยดีกว่า
Chipset คืออะไร
คำว่า “Chipset” บนเมนบอร์ดที่เราได้ยินกันอย่างคุ้นเคยนั้น ความหมายของมันก็แปลตรงตัวเลยครับว่าเป็นชุดของชิป สำหรับคำว่าชิปเซตนี้ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับซีพียูนะครับ แต่ “Chipset” ได้เริ่มต้นจริง ๆ ก็คือในยุคของพีซีที่ใช้ซีพียู Intel 80286 โดยซีพียูในพีซีรุ่นก่อนหน้านั้นจะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่น ๆ โดยตรงกับซีพียูเลยก็มี บางส่วนก็จะเชื่อมผ่านทาง IC อื่นที่ทำหน้าที่เป็นตัวจัดการ I/O (Input/Output) พอมาในยุคของซีพียู Intel 80286 ที่มีการจัดระบบการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ใหม่ ๆ มากขึ้น เพราะเป็นยุคที่พีซีเริ่มเข้ามามีบทบาทในองค์ขนาดเล็กรวมไปถึงผู้ใช้ตามบ้านทั่วไปกันมากขึ้นนั่นเอง ดังนั้นจึงมีชิปที่ทำหน้าเป็น I/O (Input/Output) ในระบบของฮาร์ดแวร์เพิ่มตามไปด้วย
แต่ถ้าจะพูดถึงการเปลี่ยนแปลงของชิปเซตที่มีความใกล้เคียงกับในยุคปัจจุบันมากที่สุดก็ต้องมาเริ่มกันในช่วงเวลาของซีพียู Intel Pentium ที่เปิดตัวครั้งในราวปี 1993 ครับ และอันที่จริงชื่อของ Pentium ก็ควรจะจบลงไปตั้งแต่ปี 2005 หรือยืดเยื้อหน่อยก็ไม่น่าจะเกิน 2006 ซึ่งเป็นปีที่เริ่มของสถาปัตยกรรม Core แต่การที่ Intel ได้ทำตลาดชื่อของ “Pentium” มาอย่างยาวนานและเป็นชื่อที่ติดตลาดอย่างมากทำให้ Intel ไม่สามารถละทิ้งชื่อของ Pentium ออกไปได้จนถึงทุกวันนี้
และในยุคของ Pentium นี้เองที่ทำให้พีซีใช้ซีพียูของ Intel จะมีชิปเซตเพื่อมารองรับการทำงานของซีพียูอยู่สองส่วนด้วยกัน ส่วนแรกจะเรียกว่าชิป MCH (Memory Controller Hub) หรือบางทีก็เรียกว่าชิป Northbridge ที่แปลว่าทางเหนือหรือทิศเหนือนั่นแหละครับ ส่วนชิปตัวที่สองก็คือ ICH (I/O Controller Hub) และมีอีกชื่อว่าชิป Southbridge ที่แปลว่าทิศใต้ครับ การที่เรียกว่า Northbridge กับ Southbridge นั้นก็เป็นเพราะว่าชื่อ MCH กับ ICH นั้นเป็นชื่อเรียกเฉพาะของทาง Intel นั่นเองครับ แต่ว่า Intel ไม่ได้เป็นผู้ผลิตชิปเซตเพียงรายเดียวยังมีผู้ผลิตชิปเซตรายอื่น ๆ ด้วย เช่น VIA, SIS, ALI รวมไปถึง NVIDIA เองก็เคยผลิตชิปเซตมารองรับการทำงานของซีพียู Intel และซีพียูของ AMD ด้วย (อันนี้เรื่องยาวไว้ก่อนครับ) ทำให้ต้องมีการตั้งชื่อในแบบกลาง ๆ ไว้เพื่อสื่อสารกันก็เลยเรียกออกมาตามลักษณะของการเขียนบล็อกไดอะแกรม ลองไปดูภาพของเมนบอร์ดและบล็อกไดอะแกรมการทำงานเพื่อความเข้าใจครับ
ถ้าบล็อกไดอะแกรมของชิปเซตทำให้คุณสับสน เรามาดูบล็อกไดอะแกรมของแพลตฟอร์มดีกว่าครับอาจจะทำให้เข้าใจได้ง่ายขึ้น
ภาพด้านบนเป็นบล็อกไดอะแกรมของแพลตฟอร์มของซีพียูที่มีชื่อรหัสว่า “Presler” หรือ Intel Pentium Extreme Edition 955 (ปี 2005) ซึ่งตอนนั้นถือว่าเป็นแพลตฟอร์มที่แรงมากครับ ในภาพนี้เราจะเห็นได้ว่าซีพียูนั้นไม่มีการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ใด ๆ โดยตรงเลย มีเพียง FSB (Front Side Bus) เท่านั้นที่เชื่อมต่อจากชิปเซตมายังซีพียู ถ้าซีพียูจะติดต่อกับหน่วยความจำ DDR2 ก็ยังต้องทำงานผ่านตัวชิปนอร์ธบริดจ์เพราะทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมการทำงานของหน่วยความจำ และถ้าซีพียูต้องการข้อมูลจากฮาร์ดดิสก์ที่ชื่อมต่อแบบ SATA ก็จะเห็นได้ว่าข้อมูลก็จะต้องผ่านจากชิปเซาธ์บริดจ์มายังนอร์ธบริดจ์แล้วจึงถูกส่งเข้าซีพียู จะเห็นได้ว่าชิปเซตมีส่วนสำคัญอย่างมากในการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานโดยรวมของระบบ
นอกจากนี้แล้วพวกเราคงเคยได้ยินคำว่า Onboard Graphics, Onboard Video หรือ Integrated Graphics คำนี้ก็เกิดขึ้นมาจากชิปเซตบางรุ่นของ Intel และผู้ผลิตชิปเซตรายอื่นที่อยู่ในยุคเริ่ม ๆ ของ Pentium ได้ใส่ชิปแสดงผลไว้เป็นส่วนหนึ่งชิปนอร์ธบริดจ์ด้วย ทำให้เมนบอร์ดรุ่นนี้มีการ์ดแสดงผลมาด้วยในตัวจึงเป็นที่มาของคำว่า Onboard Graphics นั่นเอง แต่ว่ากราฟิกเหล่านี้ก็ไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงนัก แต่ก็สามารถใช้งานทั่วไปได้ดีและเป็นที่นิยมอย่างมากของพีซีที่นำไปใช้ในสำนักงานเพราะไม่ต้องเสียเงินซื้อกราฟิกการ์ดเพิ่มเติมนั่นเอง
แพลตฟอร์มในลักษณะนี้เราเรียกกันว่า “3 Chip Platform” เพราะมีชิปหลัก ๆ อยู่สามส่วนในระบบคือ “ซีพียู” “นอร์ธบริดจ์” และ “เซาธ์บริดจ์” แต่ในยุคปัจจุบันซีพียูที่เราใช้ เช่น Intel Core i7/i5/i3 รวมไปถึง AMD Ryzen จะเป็นระบบแบบ “2 Chip Platform” คือมี “ซีพียู” กับชิป “เซาธ์บริจด์” เท่านั้น ซึ่งเดี๋ยวเราจะพูดต่อไป
อย่างที่เราได้กล่าวไปแล้วว่าในระบบ 3 Chip Platform มีจุดอ่อนตรงที่การเข้าถึงข้อมูลจะต้องทำงานผ่านทางชิปเซตซึ่งไม่สะดวกเลย และยิ่งไม่สะดวกหนักขึ้นเมื่อซีพียูรุ่นใหม่มีความเร็วในการประมวลผลเพิ่มมากขึ้นและต้องการเข้าถึงข้อมูลหรือประมวลผลร่วมกับกราฟิกการ์ดเพิ่มขึ้นทาง Intel จึงได้ออกแบบให้ซีพียูรุ่นใหม่ ๆ มีส่วนที่เชื่อมต่อกับหน่วยความจำและนำกราฟิกชิปมารวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของซีพียูด้วยเลยช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานโดยรวมของระบบอย่างมาก จนทำให้เหลือแค่ “2 Chip Platform” ดังภาพต่อไปนี้
นี่คือแพลตฟอร์มของ Intel ที่เป็นการทำงานร่วมกับระหว่างซีพียูคอร์เจนเนอร์เรชันที่ 7 และชิปเซต Z200 Series เราจะเห็นได้ว่าการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ที่ทำงานด้วยความเร็วสูงอย่างเช่นหน่วยความจำและกราฟิกการ์ดถูกควบคุมผ่านตัวซีพียูโดยตรง รวมไปถึงมีการรวมส่วนที่เป็นกราฟิกเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในซีพียูด้วยเลย
มาดูทางฝั่ง AMD กันสักเล็กน้อยครับ ในแฟลตฟอร์มของ AMD เช่นซีพียู FX 8000 Series (Socket AM3+) เองก็เป็นแบบ 3 Chip Platform มาก่อน แต่ว่าตอนนี้ก็ได้ถูกปรับปรุงมาเป็นแบบ 2 Chip เรียบร้อยแล้วเช่นกัน
จริง ๆ เรามีอยากจะพูดเรื่องชิปเซตอีกมายมายและลงรายละเอียดมากกว่านี้ครับ แต่มันอาจจะยาวเกินไปเพราะวัตถุประสงค์หลักของเราคือพูดถึงการใช้งานโปรแกรม CPU-Z เท่านั้น แต่ที่ขยายความออกมานี้ก็เพื่อให้มองเห็นภาพโดยรวมมากขึ้นจากการอ่านค่าต่าง ๆ จากหน้าจอของโปรแกรมครับ
ส่งท้าย
CPU-Z นั้นมีแท็บแสดงรายละเอียดของฮาร์ดแวร์อยู่ด้วยกันทั้งหมด 8 แท็บ หรือ 8 หน้าจอ บทความตอนที่ 1 ตอนที่ 2 และตอนที่ 3 นี้ เราได้อธิบายไปตอนละเพียงแท็บเดียวเท่านั้น เพราะเห็นว่าเป็นเรื่องที่สำคัญและมีรายละเอียดที่จะช่วยให้คุณผู้อ่านนำความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับซีพียูและเมนบอร์ดไปต่อยอดในเรื่องอื่น ๆ ได้ ส่วนในครั้งต่อไปเราจะว่ายาวด้วยแท็บที่เหลือคือ Memory, SPD, Graphics, Bench และ About ก็เป็นอันจบ 4 ตอน ของโปรแกรม CPU-Z ครับ
- The Beginner’s Guide: CPU-Z มีแล้วดูยังไง (ตอนที่ 1)
- The Beginner’s Guide: CPU-Z มีแล้วดูยังไง (ตอนที่ 2) เรื่องของแคช
- The Beginner’s Guide: CPU-Z มีแล้วดูยังไง (ตอนที่ 3) เมนบอร์ดและชิปเซต
- The Beginner’s Guide: CPU-Z มีแล้วดูยังไง (ตอนที่ 4) อ่านค่า RAM และ Graphics Card