เวลาเราไปตรวจสอบคุณสมบัติของซีพียูด้วยโปรแกรม CPU-Z เราก็พบกับหัวข้อหนึ่งก็คือ “Max TDP” เช่น Max TDP 90W หรือ Max TDP 130W เป็นต้น รวมไปถึงเวลาที่มีการเปิดตัวซีพียูรุ่นใหม่ ล่าสุดก็อย่างเช่น Ryzen 7 ของ AMD ที่นอกจากจะมีสเปคต่าง ๆ บอกมาว่ามีคุณสมบัติอะไรบ้าง ก็จะมีการระบุด้วยว่าซีพียูแต่ละรุ่นมีค่า TDP เท่าไร

ในโปรแกรม CPU-Z ตรงช่อง Max TDP คือการแสดงค่า TDP (Thermal Design Power) สูงสุดของซีพียูมีหน่วยเป็นวัตต์ (Watts) ค่า TDP ของซีพียูในระดับเดกส์ท้อปรุ่นใหม่ ๆ ทั่วไปก็จะอยู่ที่ประมาณ 65 วัตต์ บ้าง 95 วัตต์ บ้าง หรือถ้าเป็นรุ่นประสิทธิภาพสูงมาก ๆ อย่างในกลุ่ม Core i7 Extreme Edition ก็จะมีค่า TDP สูงถึง 140 วัตต์ ก็มี แต่ตอนนี้ทาง AMD ก็มีซีพียูประสิทธิภาพสูงในระดับเดียวกันออกมาแล้วครับนั่นก็คือ Ryzen 7 แต่มีค่า TDP อยู่ในระดับซีพียูทั่วไปเท่านั้นคือ 65 วัตต์ และ 95 วัตต์ แล้วแต่รุ่น
ค่า TDP นี้บางคนเข้าใจว่ามันเป็นค่าการใช้กำลังไฟฟ้าซึ่งมีหน่วยเป็นวัตต์เหมือนกัน เลยทำให้เข้าใจผิดว่าซีพียูกินไฟ 65 วัตต์ หรือ 95 วัตต์ จริง ๆ แล้ว TDP คือค่าความร้อนที่ซีพียูสามารถสร้างขึ้นมาได้ในระหว่างการทำงานครับ และมีหน่วยเป็นวัตต์
TDP ที่มาจากคำว่า Thermal Design Power นี้จะใช้สำหรับการออกแบบชุดระบายความร้อน และเลือกซื้อชุดระบายความร้อนมาใช้งานให้เหมาะสมกับซีพียูครับ เช่นตอนนี้ทีมงานเราใช้ซีพียู Intel Core i7 4960X ที่มีค่า TDP 140 วัตต์ เวลาไปซื้อฮีตซิงค์ก็ต้องดูว่าฮีตซิงค์รุ่นนั้นออกแบบมาให้รองรับความร้อนในระดับ 140 วัตต์ หรือสูงกว่าหรือไม่ ถ้าสูงกว่าก็ดีครับ ยิ่งช่วยระบายความร้อนได้เร็ว แต่ถ้าต่ำกว่าก็ไม่ควรนำมาใช้งานอย่างนี้เป็นต้นครับ
ในตัวอย่างต่อไปนี้คือการทดสอบด้วยซีพียู Intel Core i7 6600K ที่มีค่า TDP สูงสุดที่ 95 วัตต์ และเมื่อเราลองทดสอบด้วยการทำให้ซีพียูและกราฟิกชิปภายในตัวซีพียูทำงาน 100% แล้ววัตต์การใช้กำลังไฟฟ้าด้วยโปรแกรม HWMonitor ก็จะเห็นได้ว่ากำลังไฟฟ้าสูงสุดที่ใช้จริง ๆ นั้นจะอยูที่ประมาณ 78 วัตต์ เท่านั้น ไม่ได้มีการใช้งานถึง 95 วัตต์ แต่ก็มีซีพียูบางรุ่นที่มีค่า TDP 140 วัตต์ เช่น Core i7-6950X แต่ถ้าสั่งให้ทำงานอย่างเต็มที่แล้วอัตราการใช้กำลังไฟฟ้าของซีพียูนั้นสูงถึงในระดับ 160 วัตต์ ขึ้นไปก็มีครับ ดังนั้นค่า TDP จึงยังคงเป็นค่าที่ใช้สำหรับดูแลเรื่องของความร้อนซีพียูครับ

ลองดูตัวอย่างสเปคของฮีตซิงค์จาก Thermaltake ครับ จะเห็นได้ว่าฮีตซิงค์แต่ละรุ่นจะมีการระบุค่าความร้อน TDP ที่รองรับ ทำให้เราเลือกใช้ฮีตซิงค์กับซีพียูได้ตรงกับความต้องการของซีพียูแต่ละรุ่นด้วยครับ อย่างไรก็ตามประสิทธิภาพในการรองรับความร้อนนั้นมักจะถูกเทียบด้วยอุณหภูมิห้องที่ระดับ 25 องศาเซลเซียส ซึ่งในบ้านเรานั้นอุณหภูมิห้องปกติถ้าแบบไม่ติดแอร์ก็จะอยู่ในช่วง 30-32 องศาเซลเซียสขึ้นไป ครับดังนั้นเวลาเราไปดูผลการทดสอบการระบายความร้อนของฮีตซิงค์รุ่นต่าง ๆ นั้นก็ลองดูรายละเอียดเพิ่มเติมอีกนิดว่าผู้ทดสอบนั้นทดสอบอยู่ในห้องที่มีอุณหภูมิแบบไหน

สรุปอีกครั้งนะครับค่า Max TDP ที่โปรแกรม CPU-Z แสดงขึ้นมานั้น เป็นค่าความร้อนที่ซีพียูสามารถสร้างขึ้นมาได้ค่า Max TDP ในแง่ของผู้ใช้ทั่วไปนี้ก็จะนำไปเป็นข้อมูลในการเลือกซื้อเลือกใช้ฮีตซิงค์หรือชุดระบายความร้อนให้เหมาะกับซีพียูนั่นเองครับ
*** ข้อมูลเพิ่มเติม TDP ของซีพียู Intel ที่แจ้งไว้จะเป็นค่าความร้อนที่เกิดขึ้นเมื่อซีพียูทำงานด้วยความเร็ว Base Clock ในแบบ All Core นั้นหมายความว่าหากเป็นซีพียูรุ่นที่มี Boost Clock และมีคอร์ใดคอร์หนึ่งทำงานเกิน Base Clock แล้วคอร์อื่น ๆ ทำงานที่ความเร็ว Base Clock ก็หมายความว่าค่า TDP ที่เกิดขึ้นจะสูงกว่าที่แจ้งออกมา ดังนั้นการเลือกซื้อฮีตซิงค์หรือชุดระบายความร้อนอื่น ๆ ก็อาจจะต้องซื้อเผื่อเพื่อให้รองรับกับความเร็วที่เพิ่มขึ้นด้วย ***