ในที่สุดเราก็มาถึงตอนสุดท้ายของการใช้งานโปรแกรม CPU-Z กันเสียทีครับ สำหรับในตอนสุดท้ายนี้เราก็จะพูดถึงแท็บที่เหลือทั้งหมดครับประกอบไปด้วย Memory, SPD, Graphics, Bench และ About แต่ว่าเราจะมุ่งเน้นไปที่แท็บ Memory และ SPD เป็นหลักนะครับเพราะว่ามีรายละเอียดที่ค่อนข้างมากและมีความสำคัญ ส่วนแท็บ Graphics, Bench และ About นั้นเราคงจะพูดถึงเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพื่อไม่ให้เสียเวลาเราไปเริ่มกันเลย
- The Beginner’s Guide: CPU-Z มีแล้วดูยังไง (ตอนที่ 1)
- The Beginner’s Guide: CPU-Z มีแล้วดูยังไง (ตอนที่ 2) เรื่องของแคช
- The Beginner’s Guide: CPU-Z มีแล้วดูยังไง (ตอนที่ 3) เมนบอร์ดและชิปเซต
- The Beginner’s Guide: CPU-Z มีแล้วดูยังไง (ตอนที่ 4) อ่านค่า RAM และ Graphics Card
สำหรับตัวอย่างของหน้าจอ CPU-Z ที่นำมาใช้อธิบายในครั้งนี้เราได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นซีพียูทางฝั่ง AMD กันบ้างครับ เป็นข้อมูลของซีพียู AMD Ryzen 7 1700 ทำงานร่วมกับหน่วยความจำ DDR4 ความเร็ว 3200MHz
แท็บ MEMORY
ในแท็บ Memory ก็จะมีการแบ่งข้อมูลออกเป็นสองส่วนหลัก ๆ ได้แก่ General ที่ใช้บอกข้อมูลทั่วไปของหน่วยความจำ และส่วนของ Timings ซึ่งเป็นข้อมูลโดยละเอียดของค่า Timing หรือคาบเวลาในการทำงานของหน่วยความจำครับ
Memory: General (ข้อมูลทั่วไปของหน่วยความจำ)
- Type: ชนิดของหน่วยความจำที่ใช้ ในตัวอย่างนี้เป็นหน่วยความจำแบบ DDR4 (หรือแสดงเป็นค่าอื่น ๆ ตามชนิดของหน่วยความจำที่ใช้ DDR, DDR2, DDR3, SDRAM)
- Size: รวมขนาดของหน่วยความจำทั้งหมดที่ติดตั้ง ในตัวอย่างนี้เราใช้หน่วยความจำ 8GB จำนวนสองโมดูลรวมแล้วจึงได้เป็น 16GB
- Channel #: หมายถึงจำนวนช่องทางที่ซีพียูหรือชิปเซตเชื่อมต่อกับหน่วยความจำ ถ้าเป็นซีพียูรุ่นเก่า ๆ ตัวควบคุมหน่วยความจำจะอยู่ในชิปเซต แต่ถ้าเป็นซีพียูรุ่นใหม่ ๆ ตัวควบคุมหน่วยความจำจะถูกรวมไว้เป็นส่วนหนึ่งของซีพียูด้วยเลย สำหรับจำนวนช่องทางการเชื่อมต่อกับหน่วยความจำในซีพียูรุ่นใหม่ ๆ ก็จะมีทั้งแบบ Single Channel, Dual Channel, Triple Channel และ Quad Channel ซึ่งหมายถึง 1, 2, 3 และ 4 ช่องทางนั่นเอง ยิ่งมีช่องทางในการเข้าถึงหน่วยความจำมากก็จะทำให้มีแบนด์วิดธ์หรือความกว้างของช่องทางมากขึ้น ทำให้รับส่งข้อมูลได้เร็วขึ้นตามไปด้วย
- DC Mode: ในช่อง DC Mode ถ้าไม่แสดงหรือเป็นสีเทาก็หมายถึงหน่วยความจำทำงานในแบบ Unganged Mode โหมดนี้จะเหมาะกับงานในลักษณะของ Multi-Threaded ส่วน Ganged Mode จะเหมาะกับแอปพลิเคชันที่ทำงานในแบบ Single-Threaded สำหรับ DC Mode นี้เป็นการออกแบบการเข้าถึงข้อมูลในหน่วยความจำของ AMD ในยุคของ Phenom X4 ซึ่งปรับแต่งค่าตรงนี้จะมีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานร่วมกับหน่วยความจำอย่างไรก็ดีในทางปฏิบัติแล้วต้องบอกว่าคอมพิวเตอร์ในยุคนั้นก็เริ่มมีการทำงานแบบ Multi-Thread, Multi-Task กันหมดแล้วทำให้ค่าปกติของ DC Mode ถูกกำหนดมาเป็นแบบ Unganged Mode เป็นหลัก และในปัจจุบันเราไม่มีการพูดถึงฟังก์ชันนี้กันแล้วครับเนื่องจากแบนด์วิดธ์ของหน่วยความจำมีมากขึ้น ประสิทธิภาพในการทำงานของซีพียูเองก็สูงขึ้นมาก รวมไปถึงตัวระบบปฏิบัติการอย่างวินโดวส์เองก็สามารถทำงานกับฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ของซีพียูได้ดีขึ้นนั่นเอง
- NB Frequency: “NB” นี้เป็นคำย่อของคำว่า North Bridge ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของชิปเซต เราเคยเล่าเรื่องชิปเซตไว้อย่างละเอียดพอสมควรแล้วใน “The Beginner’s Guide: CPU-Z มีแล้ว ดูยังไง ตอนที่ 3 – เมนบอร์ดและชิปเซต” ย้อนไปอ่านกันได้ ดังนั้น NB Frequency จึงเป็นอะไรไปไม่ได้นอกจากความเร็วของชิปนอร์ธบริจด์นั่นเอง แต่มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้น เพราะถ้าเราพูดถึงซีพียูรุ่นใหม่ ๆ ในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นของเอเอ็มดีหรืออินเทลก็ตามซึ่งเป็นซีพียูที่ได้รวมส่วนที่เป็นนอร์ธบริจด์มาไว้ในตัวด้วย ตรง NB Frequency นี้จะหมายถึงความเร็วของส่วนที่เรียกกว่า Uncore คือส่วนที่ไม่ใช่คอร์ประมวลผลของซีพียูครับ เช่นในซีพียูของอินเทลที่มีความเร็ว 3.9GHz นั่นเป็นความเร็วเฉพาะในส่วนของคอร์ประมวลผลเท่านั้น แต่ว่าส่วนอื่น ๆ เช่นตัวควบคุมหน่วยความจำ ส่วนควบคุมการทำงานของ PCIe อาจจะทำงานที่ความเร็วเพียง 3GHz ก็ได้ (หรือแม้กระทั่งในส่วนคอร์ประมวลผลเองในหน่วยการทำงานต่าง ๆ ก็อาจจะทำงานที่ความเร็วไม่เท่ากันได้) สำหรับในรูปตัวอย่างนี้ที่เรานำมาจากซีพียู Ryzen 7 1700 (ความเร็ว 3GHz/3.7GHz) ที่มีการโอเวอร์คล็อกหน่วยความจำให้ทำงานที่ความเร็ว 1631.1MHz (DDR 3262.2MHz) ซึ่งสถาปัตยกรรมของ Ryzen นั้นส่วนที่เป็น Uncore จะทำงานตามความเร็วของหน่วยความจำ ทำให้ตัวเลขในช่อง NB Frequency แสดงออกมาเป็น 1631.1MHz เช่นเดียวกับค่า DRAM Frequency ซึ่งเป็นค่าที่เราจะพูดถึงต่อไป
Memory: Timings (ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของหน่วยความจำในส่วนที่เป็นเรื่องของคาบเวลา)
- DRAM Frequency: คือความเร็วของสัญญาณนาฬิกาที่หน่วยความจำทำงาน มีหน่วยเป็น MHz ในตัวอย่างนี้หน่วยความจำทำงานที่ความเร็ว 1631.1MHz ซึ่งเป็นค่าที่ถูกโอเวอร์คล็อกเพิ่มมาเล็กน้อย เพราะปกติหน่วยความจำรุ่นนี้ทำงานที่ความเร็ว 1600MHz หรือถ้าคิดแบบ DDR – Double Data Rate ก็คือ 3200MHz ตามปกติเรามักจะเรียกค่า DRAM Frequency ว่าเป็นความเร็วในการทำงานของหน่วยความจำ แต่เราจะพูดถึงความเร็วในแง่ของประสิทธิภาพในการทำงานค่า DRAM Frequency นั้นคงไม่สามารถบอกได้ทั้งหมดต้องดูค่าการทำงานอื่น ๆ ประกอบด้วย
- FSB:DRAM: ใช้แสดงค่าอัตราส่วนระหว่างความเร็วของ FSB กับความเร็วของ DRAM หรือความเร็วของหน่วยความจำ เช่นในตัวอย่างนี้ความเร็วของหน่วยความจำจะสูงเป็น 16 เท่า หรือนำความเร็วพื้นฐานของ FSB (Base Clock) มาคูณด้วย 16 เพื่อให้มีความเร็วประมาณ 1600MHz หรือได้ความเร็วที่ 3200MHz นั่นเอง แต่ว่าในตัวอย่างนี้เราได้ทำการปรับค่า FSB ไปที่ประมาณ 102MHz เพื่อโอเวอร์คล็อกซีพียู ทำให้เมื่อคูณด้วย 16 แล้วทำให้มีความเร็วเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 1632MHz (แสดงจริงเป็น 1631.1MHz) อย่างไรก็ตามอัตราส่วนตรงนี้ ก็จะแตกต่างกันไปตามรุ่นของซีพียูหรือตามสถาปัตยกรรมและแพลตฟอร์มที่เราใช้ เช่นซีพียูบางรุ่นใช้ FSB ที่ 133MHz เมื่อทำงานร่วมกับหน่วยความจำความเร็ว 2400MHz อัตราส่วนตรงนี้ก็จะเป็น 1:18
- CAS# Latency (CL): ชื่อเต็ม ๆ ของส่วนนี้ก็คือ CAS Latency Time ส่วนคำว่านั้น CAS ก็ย่อมากจากคำว่าอีกที Column Address Strobe หรือ Column Address Select และบางทีก็มีการเรียกกันในชื่ออื่นเช่น CAS Timing Delay, CAS คือจำนวนวงรอบของสัญญาณนาฬิกา (หรือ Ticks ซึ่งย่อเป็น t ซึ่งเราจะได้เห็นในคำย่ออื่น ๆ อีก) ระหว่างการส่งคำสั่ง READ จนเมื่อมีข้อมูลส่งมาถึงบัสข้อมูล เราอาจมองว่าการทำงานของแรมนั้นเหมือนกับตารางใน Excel และความล่าช้าหรือ CAS Latency จะเกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงคอลัมน์ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยกว่าการเปลี่ยนแถว หรืออาจจะอธิบายได้อีกแบบว่า CAS Latency คือจำนวนของสัญญาณนาฬิกาที่เริ่มจากส่วนตำแหน่งการเก็บข้อมูลของคอลัมน์ไปจนถึงการที่ข้อมูลเดินทางเข้าไปยัง Output Register ก็ได้ ค่า CL ของหน่วยความจำนั้นยิ่งน้อยก็ยิ่งดีเพราะถือว่ามีการหน่วงเวลาที่น้อย
- RAS# to CAS# Delay (tRCD): tRCD ย่อมาจาก RAS to CAS Delay ซึ่งเป็นระยะเวลาการรอสัญญาณจาก RAS (Row Address Strobe) ถึง CAS หมายถึงช่วงเวลาระหว่างการติดต่อกับ RAS และ CAS นั่นเอง เช่น ความล่าช้าระหว่างการเรียกใช้เมมโมรีแบงก์ชุดหนึ่งไปจนถึงเมื่อมีคำสั่งอ่านหรือเขียนส่งไปยังแบงก์นั้น ให้คุณผู้อ่านนึกถึงตารางของ Excel ที่มีตัวอักษรอยู่ด้านบนและตัวเลขด้านซ้ายเอาไว้ โดยตัวเลขด้านซ้ายเป็นตัวแทนของแถวและตัวอักษรด้านบนเป็นตัวแทนของคอลัมน์ มันก็จะเหมือนกับระยะเวลาที่คุณใช้เลื่อนตัวชี้ตำแหน่งไปยังแถว 20 และย้ายไปถึงคอลัมน์ที่ 10 (คอลัมน์ J ใน excel) ก็คือ RAS ไปถึง CAS นั่นเอง
- RAS# Percharge (tRP): tRP ย่อมาจากคำว่า RAS Precharge Delay เป็นความเร็วหรือช่วงเวลาที่ DRAM ใช้สำหรับการยกเลิกการติดต่อกับข้อมูลแถวหนึ่งแล้วไปเริ่มแถวใหม่ หรือการเปลี่ยนเมมโมรีแบงก์ (Memory Bank)
- Cycle Time (tRAS): tRAS ย่อมาจาก Active to Precharge หรือ Active Precharge Delay เป็นค่าที่ใช้สำหรับควบคุมความล่าช้าระหว่างคำสั่งเริ่มทำงาน และโดยพื้นฐานแล้ว Precharge คือค่าที่บอกเราว่าต้องใช้เวลามากน้อยขนาดไหนกว่าที่คำสั่งเริ่มต้นทำงานจะเริ่มกันได้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง เรื่องนี้มีผลกระทบต่อเวลาในการเริ่มต้นทำงานของแถวที่คุณต้องให้ความสำคัญเมื่อหน่วยความจำทำงานไปถึงคอลัมน์สุดท้ายของแถวใดแถวหนึ่ง หรือเมื่อมีการเรียกใช้ตำแหน่งของหน่วยความจำที่ต่างออกไปจากเดิมโดยสิ้นเชิง
- Bank Cycle Time (tRC): tRC ย่อมาจาก Row Cycle หรือบางครั้งก็เรียกว่า tRFC (Row Refresh Cycle), tRC นี้เป็นช่วงเวลาต่ำสุดระหว่างคำสั่งใหม่ที่มาแทนของเก่าในแบงก์เดียวกัน
- Command Rate (CR): เวลาที่ใช้ระหว่างชิปหน่วยความจำที่เปิดใช้งานและเมื่อคำสั่งแรกถูกส่งไปยังหน่วยความจำ บางครั้งค่านี้จะไม่ถูกประกาศ โดยปกติจะเป็น T1 (1 clock cycle) หรือ T2 (2 clock cycles)
- DRAM Idle Timer: เป็นการตั้งค่าของคาบเวลาใน BIOS ให้อยู่ในสภาวะหยุดทำงานก่อนที่จะเริ่มการทำงาน เป็นการตั้งเวลาหน่วงเพื่อให้ตัวควบคุมหน่วยความจำที่อยู่บนเมนบอร์ด (ชิปเซต) ทำงานร่วมกับ Control Logic ที่อยู่บนหน่วยความจำ คุณสมบัตินี้จะอยู่ในฮาร์ดแวร์รุ่นเก่า ๆ แต่ในปัจจุบันไม่ต้องกำหนดค่านี้แล้ว
- Total CAS# (tRDRAM): ค่าเดียวกันกับ CL หรือ CAS Latency Time (แสดงกับหน่วยความจำในบางแพลตฟอร์ม)
- Row to Column (tRCD): ค่าเดียวกันกับ RAS# to CAS# Delay (ใช้กับหน่วยความจำในบางแพลตฟอร์ม)
— ปวดหัวเรื่อง Memory Timing เหรอ…พักก่อนได้ —
เรื่องของ Memory Timing ของหน่วยความจำนั้นจะว่าง่ายก็ง่าย จะว่าสับสนก็ใช่ ถ้าจะให้เข้าใจแบบง่ายสุดก็ให้นึกถึงการจราจรครับ ที่ประกอบไปด้วย ถนน และยานพาหนะต่าง ๆ (ขอเรียกรวม ๆ ว่ารถก็แล้วกันนะครับ) ถนนก็เหมือนกับเส้นทางเดินของข้อมูลส่วนรถก็คือตัวข้อมูลที่จะต้องเดินทางไปยังเป้าหมาย ลองนึกถึงถนนที่เต็มไปด้วยทางแยก ทางร่วมต่าง ๆ ถ้าเราปล่อยให้เดินรถโดยไม่มีกติกาอะไรเลยคงชนกันพังพินาศไปหมด ทางแก้ก็คือใช้สัญญาณไฟจราจรและเครื่องหมายจราจรที่คอยกำกับว่าจะให้รถเส้นทางไหนไปก่อนไปหลังตามจังหวะสัญญาณไฟจราจรและเดินรถไปตามเครื่องหมายจราจร ระบบ Memory Timing ของหน่วยความจำก็ทำหน้าที่แบบนั้นนั่นแหละครับ –
ที่เราพูดเกี่ยวกับ Memory Timing นั้นคือเรื่องราวที่ออกจะหนักไปสักหน่อย แต่เวลาเราไปเลือกซื้อหน่วยความจำจริง ๆ เราไม่จำเป็นต้องดูละเอียดมากขนาดนั้น เราก็ดูแค่ชนิดของหน่วยความจำที่ต้องการใช้, ความจุ, ความเร็วในการทำงาน และค่า CL ที่ระบุไว้บนกล่องก็พอแล้ว โดยมากจะเขียนมาประมาณนี้ “Corsair Vengeance LPX 16GB (1x16GB) DDR4 DRAM 3000MHz C15 Memory” และถ้าละเอียดหน่อยก็จะมีค่า CL เพิ่มเติมมาให้แบบนี้ CL 15-15-15-36 ซึ่งตัวเลขทั้ง 4 ที่ระบุมานี้ก็คือค่า CL, tRCD, tRP และ tRAS โดย 4 ค่านี้จะเป็นคาบเวลาหลักที่ส่งผลต่อการทำงานของหน่วยความจำครับ (ค่าอื่น ๆ จะมีการอ้างอิงจากค่าหลักทั้ง 4 ส่วนนี้) เราขอยกตัวอย่างโดยใช้กราฟการทำงานของค่า CL ง่าย ๆ อย่าง CL 3-3-3-10 นะครับ
จากรูปด้านบนเป็นการแสดงถึงขั้นตอนการอ่านข้อมูลจากหน่วยความจำ (อย่างง่าย) โดยมีรูปของสัญญาณควบคุมการทำงานอยู่ 4 ส่วนด้วยกันคือ Clock หรือสัญญาณนาฬิกาที่เป็นตัวอ้างอิงในการทำงาน สองคือสัญญาณคำสั่ง Command สามคือสัญญาณ RAS และสี่คือสัญญาณ CAS ส่วนสุดท้ายคือข้อมูลออก Data Out
จะเห็นได้ว่าก่อนเริ่มทำงานจะมีสัญญาณ Precharge ส่งออกมาก่อนเพื่อเป็นการบอกถึงจุดเริ่มต้นของวงรอบในการทำงานของหน่วยความจำ จากนั้นก็มีการรอสัญญาณ tRP (หรือ RAS) ไป 3 Clock จึงมีคำสั่ง Active เพื่อให้พร้อมสำหรับการอ่าน จากนั้นก็รออีก 3 Clock คือช่วงของ tRCD (หรือ RAS to CAS Delay) จากนั้นก็มีคำสั่งการอ่านข้อมูล (Read) ออกมา และจากคำสั่ง Read ก็ใช้เวลาอีก 3 Clock ซึ่งเป็นช่วงเวลาของ CL (หรือ CAS Latency) นั่นเอง นั่นจึงทำให้เป็นที่มาว่า CL ยิ่งน้อยก็ยิ่งดีเพราะใช้เวลารอคอยน้อยนั่นเอง แต่ต้องเทียบกับความเร็วในการทำงานที่เท่ากันด้วยนะ ทีนี้เมื่อได้ข้อมูลมาแล้วก็จะต้องมีวงรอบใหม่เกิดขึ้น แต่จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องให้หมดรอบของสัญญาณ tRAS จำนวน 10 Clock ก่อน แต่ว่าเป็นการเริ่มนับจากสัญญาณในจังหวะ Active นะ ช่วงเวลานี้จึงมีชื่อว่า tRCD หรือ Active to Precharge Delay ก็หวังว่าน่าจะทำให้เข้าใจการทำงานของหน่วยความจำเพิ่มขึ้นมาบ้างแล้วนะครับ
ป.ล. รูปสัญญาณตัวอย่างด้านบนนั้นถือว่าเรียบง่ายมากครับเพราะใช้อธิบายเป็นตัวอย่าง แต่ถ้าเป็นรูปแบบของสัญญาณการทำงานจริงจะเป็นลักษณะตามภาพด้านล่างครับ (ซึ่งก็เป็นเพียงหนึ่งรูปของหนึ่งในฟังก์ชันการทำงานเท่านั้น)
แท็บ SPD
SPD ย่อมาจากคำว่า Serial Presence Detect เป็นข้อมูลของคุณสมบัติทางด้านเทคนิคของโมดูลหน่วยความจำที่ถูกเก็บไว้ในโมดูลหน่วยความจำแต่ละโมดูล ดังนั้นข้อมูลในโมดูลหรือแผงหน่วยความจำที่เราติดตั้งลงไปบนเมนบอร์ดจะมีข้อมูลเฉพาะเป็นของตัวเองครับ
ในแท็บ SPD แบ่งข้อมูลออกเป็นสองส่วนคือ Memory Slot Selection และ Timing Table ในส่วนของ Memory Slot Selection ก็จะมีจะมีลิสต์ให้เลือก Slot number หรือหมายเลขของสล๊อตที่ติดตั้งหน่วยความจำบนเมนบอร์ด ซึ่งจำนวนของ Slot number ก็ขึ้นอยู่กับจำนวนสล๊อตของหน่วยความจำบนเมนบอร์ด ซึ่งก็จะมี 1 สล๊อต 2 สล๊อต 4 สล๊อต และ 8 สล๊อต สำหรับเมนบอร์ดในกลุ่มผู้ใช้ทั่วไปจนถึงผู้ใช้ระดับมืออาชีพ แต่ถ้าเป็นเมนบอร์ดในกลุ่มเซิร์ฟเวอร์จำนวนสล๊อตสำหรับติดตั้งหน่วยความจำก็อาจจะมีมากกว่านี้ และเมื่อเราเลือก Slot number แล้วโปรแกรมก็จะไปอ่านค่าคุณสมบัติของหน่วยความจำที่ติดตั้งอยู่ในสล๊อตหมายเลขนั้นขึ้นมาให้เราทราบ โดยค่าที่แสดงออกมานี้นี้จะมาจากชิป SPD ที่อยู่ในโมดูลของหน่วยความจำนั่นเองครับ
Memory Slot Selection –
- Slot #n: หมายเลขของสล๊อตที่ใช้ติดตั้งหน่วยความจำ เช่น Slot #1 Slot #2 และจำนวนของสล๊อตที่ใช้ติดตั้งหน่วยความจำจะมีจำนวนกี่สล๊อตนั้นก็ขึ้นอยู่กับรุ่นของเมนบอร์ด
- Module Size: ขนาดความจุของหน่วยความจำ ในตัวอย่างนี้คือ 8192 MBytes (Megabyte) หรือ 8GB (Gigabyte)
- Max Bandwidth: ตามปกติจะบอกเป็นค่าแบนด์วิดสูงสุดที่หน่วยความจำรองรับ แต่ในปัจจุบันกลายเป็นช่องที่ใช้ระบุทั้งข้อมูลของชนิดหน่วยความจำที่ใช้ และความเร็วในการทำงานของหน่วยความจำ ในตัวอย่างนี้คือ DDR4-2400 (1200MHz) ซึ่งหมายถึงหน่วยความจำแบบ DDR4 ทำงานด้วยความเร็วของสัญญาณนาฬิกาที่ 1200MHz หรือคิดแบบ Double Data Rate (x2) ก็คือ 2400
- Manufacturer: ข้อมูลของบริษัทผู้ผลิตโมดูลหน่วยความจำ ในตัวอย่างนี้คือ Apacer Technology (ไม่ได้หมายถึงผู้ผลิตชิปหน่วยความจำ – แต่บางครั้งผู้ผลิตชิปหน่วยความจำก็ผลิตโมดูลหน่วยความจำด้วย เช่น Samsung, Micron)
- Part Number: หมายเลขรุ่นของผลิตภัณฑ์ (ถ้าเป็นหน่วยความจำรุ่นเดียวกันข้อมูลตรงส่วนนี้จะเหมือนกัน)
- Serial Number: หมายเลขประจำตัวของผลิตภัณฑ์ (แม้เป็นหน่วยความจำรุ่นเดียวกันแต่ข้อมูลตรงนี้จะต่างกันแม้ว่าเป็นหน่วยความจำที่ขายพร้อมกันเป็นชุด 2 โมดูล หรือ 4 โมดูล ก็ตาม)
- Correction: แสดงค่าเมื่อเป็นหน่วยความจำที่รองรับ ECC (Error Correcting Code หรือ Error Checking & Correction) เป็นหน่วยความจำที่มีการเพิ่มการตรวจความถูกต้องของข้อมูล ซึ่งต้องทำงานร่วมกับตัวควบคมหน่วยความจำที่รองรับการทำงานแบบ ECC ด้วยเช่นกัน ปกติมักจะใช้กับซีพียูในระดับเวิร์คสเตชันหรือเซิร์ฟเวอร์ เช่นซีพียู Xeon ของ Intel เป็นต้น
- Registered: เป็นโมดูลหน่วยความจำชนิดหนึ่ง ที่มีบัฟเฟอร์ขนาดเล็กที่เรียกว่า Register โมดูลที่จะทำหน้าที่ในการตรวจสอบความเหมาะสมในการจัดการขอมูล และตามปกติหน่วยความจำแบบนี้จะใช้งานอยู่ในระบบที่มีความซับซ้อนอย่างเช่นในเซิร์ฟเวอร์ และตัวของแพลตฟอร์มเองก็ต้องรองรับหน่วยความจำในลักษณะนี้ด้วย
- Ranks: หรือ Memory Rank ในที่นี้หมายถึงการจัดชุดของชิปหน่วยความจำที่ใช้ให้มีความสัมพันธ์กับจำนวนบิตในการเข้าถึงข้อมูล เช่น ในระบบของเราเชื่อมต่อกับหน่วยความจำด้วยความกว้างแบบ 64 บิต ทางผู้ผลิตหน่วยความจำอาจจะเลือกใช้หน่วยความจำแบบ 32 บิต สองชุดมาต่อกันเพื่อทำให้เป็นบัสแบบ 64 บิต แบบนี้ก็จะเรียกว่าเป็น Dual Rank, หรือถ้าใช้ชิปหน่วยความจำที่มีความกว้างแบบ 64 บิต เลยก็จะเรียกเป็น Single Rank เป็นต้น ซึ่งค่าในช่องนี้สามารถแสดงได้เป็น Single, Dual, Quad และ Octal Rank
- SPD Ext.: ข้อมูลอื่น ๆ ซึ่งในตอนนี้มักจะเป็นข้อมูลที่ใช้ระบุถึงการรองรับคุณสมบัติ XMP (อธิบายเพิ่มภายหลัง)
- Week/Year: สัปดาห์ และปีที่ผลิต
Timings Table –
(เนื่องจากข้อมูลในส่วนของ Timing Table มีหลายส่วนที่เป็นค่าเดียวกันกับ Timing ในแท็บ Memory จึงไม่ขออธิบายเพิ่มเติม)
- Frequency: ความถี่ของสัญญาณนาฬิกาหรือ Clock Speed ที่หน่วยความจำใช้ทำงาน และโดยทั่วไปแล้วหน่วยความจำแต่ละรุ่นสามารถรองรับความเร็วของสัญญาณนาฬิกาได้หลายระดับ ในตัวอย่างนี้จะเห็นได้ว่ามีการแสดงตัวเลขของ Frequency ไว้ถึง 4 ค่าด้วยกัน 1163MHz, 1200MHz, 1200MHz (มีค่าเวลาที่ต่างไปจากช่องแรก) และ 1600MHz
- CAS# Latency: ดูรายละเอียดในหัวข้อ CAS# Latency (CL):
- RAS# to CAS#: ดูรายละเอียดในหัวข้อ RAS# to CAS# Delay (tRCD):
- RAS# Precharge: ดูรายละเอียดในหัวข้อ RAS# Percharge (tRP):
- tRAS: ดูรายละเอียดในหัวข้อ Cycle Time (tRAS):
- tRC: ดูรายละเอียดในหัวข้อ Bank Cycle Time (tRC):
- Command Rate: คือเป็นวงรอบของสัญญาณนาฬิกา เป็นช่วงเวลาระหว่างการยืนยันการเลือกชิปของหน่วยความจำและการส่งคำสั่ง ที่ส่งไปให้กับหน่วยความจำค่าปกติก็คือ 1T (หนึ่งรอบสัญญาณนาฬิกา) และ 2T (สองรอบสัญญาณนาฬิกา)
- Voltage: ค่าแรงดันไฟฟ้าที่ใช้กับหน่วยความจำ
ย้อนกลับไปดูในส่วนของ Timing Table อีกครั้งเราจะเห็นได้ว่ารายการต่าง ๆ ที่เราอธิบายไปเมื่อสักครู่นี้จะมีการแบ่งออกเป็นช่องย่อย ๆ ด้วยกัน 4 ช่อง โดยมีข้อความกำกับไว้ทางด้านบนได้แก่ JEDEC #7, JEDEC #8, JEDEC #9 และ XMP-3200
ข้อมูลทั้ง 4 ช่องนั้นจะถูกเก็บไว้ในชิปตัวเล็ก ๆ ที่ชื่อว่า SPD ที่อยู่ในโมดูลของหน่วยความจำครับ ซึ่งค่าเหล่านี้คือโปรไฟล์การทำงานของหน่วยความจำครับ เพราะว่าหน่วยความจำแต่ละโมดูลนั้นสามารถรองรับความเร็วในการทำงานที่หลากหลาย ตั้งแต่ในระดับร้อย MHz ไปจนถึงระดับพัน MHz และค่าที่แสดงออกมาทั้ง 4 ช่องนี้แท้จริงแล้วเป็น 4 ค่าความเร็วสูงสุดของหน่วยความจำที่รองรับครับ ภายในตัวชิป SPD ยังมีการบรรจุข้อมูล JEDEC #1 – JEDEC #6 เอาไว้ด้วย เพียงแต่โปรแกรม CPU-Z นี้เลือกแสดงเฉพาะ 4 ค่าสูงสุดครับ ส่วนค่า XMP (eXtreme Memory Profile) นี้ถือว่าเป็นโปรไฟล์การทำงานพิเศษที่ถูกออกแบบมาโดยอินเทลครับ ดังนั้นอย่าแปลกใจที่บางครั้งเราไม่สามารถตั้งค่าหน่วยความจำ XMP ได้บนเมนบอร์ดที่ใช้ซีพียู AMD โดยเฉพาะซีพียู Ryzen
ส่วนคำว่า JEDEC นั้นเป็นชื่อย่อของหน่วยงานผู้กำหนดมาตรฐานหน่วยความจำครับ ชื่อเต็ม ๆ คือ Joint Electron Device Engineering Council การกำหนดมาตรฐานกลางนี้ ช่วยให้ทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้งานหน่วยความจำสามารถผลิตและนำหน่วยความจำมาใช้งานร่วมกันได้ง่ายขึ้นครับ
แท็บ Graphics
แท็บ Graphics ใช้สำหรับแสดงข้อมูลของกราฟิกการ์ดที่เราใช้งานอยู่ในขณะนั้น ในกรณีที่เครื่องของเราติดตั้งกราฟิกการ์ดไว้มากกว่าหนึ่งการ์ดก็สามารถเลือกดูข้อมูลได้ แต่ว่าข้อมูลของกราฟิกการ์ดที่ได้นั้นจะไม่ละเอียดเหมือนกับโปรแกรมเฉพาะทางอย่าง GPU-Z (อ่านการใช้งาน GPU-Z) ไปดูกันครับว่าในแท็บ Graphics บอกข้อมูลอะไรกับเราได้บ้าง
ในแท็บ Graphics จะแบ่งข้อมูลออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกคือ Display Device Selection มีไว้สำหรับเลือกดูข้อมูลของกราฟิกการ์ดในกรณีที่เราติดตั้งกราฟิกการ์ดไว้มากกว่าหนึ่งการ์ด ในตัวอย่างนี้กราฟิกการ์ดที่เราใช้คือ NVIDIA GeForce GTX 980
ส่วนที่สองคือ GPU จะเป็นการบอกรายละเอียดของตัวกราฟิกชิปที่อยู่ในกราฟิกการ์ด ประกอบไปด้วยหัวข้อต่าง ๆ ดังนี้
- Name: บอกชื่อรุ่นของกราฟิกชิปที่ใช้ ในตัวอย่างนี้คือ NVIDIA GeForce GTX 980
- Board Manuf.: บอกข้อมูลของโรงงานผู้ผลิตกราฟิกการ์ด บางครั้งก็จะแสดงเป็นชื่อขอบบริษัท บางครั้งก็จะแสดงเป็นเลขรหัสของผู้ผลิต ในตัวอย่างนี้กราฟิกการ์ดของเราเป็นแบรนด์ของทาง NVIDIA โดยตรง ซึ่งเป็นการว่าจ้างผลิตมาอีกทอดหนึ่งแต่มีการควบคุมโดย NVIDIA ชื่อของผู้ผลิตจึงถูกระบุเป็นรหัสเฉพาะ
- Code Name: เป็นชื่อรหัส หรือชื่อของสถาปัตยกรรมกราฟิกชิปที่ใช้ ในตัวอย่างนี้คือ GM204 เป็นกราฟิกชิปที่ใช้สถาปัตยกรรม Maxwell ของ NVIDIA
- Revision: คือเวอร์ชันหรือรุ่นของการผลิตชิป
- Technology: บ่งบอกขนาดของเทคโนโลยีในการผลิตกราฟิกชิปตัวอย่างนี้ขนาดของเทคโนโลยีในการผลิตคือ 28 นาโนเมตร
ส่วนที่สาม Clock จะบอกข้อมูลของสัญญาณนาฬิกาของส่วนต่าง ๆ ได้แก่
- Core: ความเร็วในการประมวลผลของคอร์ซีพียู (ส่วนใหญ่) ความเร็วมีหน่วยเป็น MHz แต่ค่าความเร็วในช่องนี้จะมีการแปรผันกันไปตามลักษณะการทำงานของกราฟิกการ์ดแต่ละรุ่น กราฟิกการ์ดบางรุ่นทำงานคงที่ด้วยคล็อกสปีดเดียว กราฟิกการ์ดบางรุ่นสามารถปรับเปลี่ยนความเร็วในการทำงานได้ ในตัวอย่างนี้กราฟิกชิป GTX 980 ปรับลดความเร็วในการทำงานลงมาอยู่ที่ระดับ 135MHz เนื่องจากไม่มีการใช้งานโหลดทางด้านกราฟิก
- Shader: กราฟิกการ์ดบางรุ่นจะมีความเร็วในการทำงานของ Shader และองค์ประกอบอื่น ๆ ที่ไม่เท่ากัน ข้อมูลตรงนี้ก็จะมีการแสดงแยกกันออกมา แต่สำหรับกราฟิกการ์ด GTX 980 ของเราไม่มีการแบ่งแยกตรงส่วนนี้จึงไม่มีการแสดง
- Memory: ความเร็วของหน่วยความจำที่ใช้ในการแสดงผลของกราฟิกการ์ด ซึ่งขึ้นอยู่กับรุ่นและยี่ห้อของกราฟิกการ์ด และขึ้นอยู่กับผู้ผลิตด้วยว่าจะเลือกใช้งานหน่วยความจำที่มีความเร็วมากน้อยขนาดไหน รวมไปถึงกราฟิกการ์ดบางรุ่นก็ยังสามารถปรับเปลี่ยนความเร็วในการทำงานของหน่วยความจำเพื่อประหยัดพลังงานและลดความร้อนไปด้วยในตัว
ส่วนที่สี่ Memory แสดงขนาดและชนิดของหน่วยความจำ ประกอบด้วย
- Size: ขนาดความจำของหน่วยความจำที่อยู่บนกราฟิกการ์ด ในตัวอย่างนี้คือ 4096 MByte หรือ 4GB
- Type: บอกชนิดของหน่วยความจำที่ใช้ ในตัวอย่างนี้กราฟิกการ์ดของเราใช้หน่วยความจำแบบ GDDR5 ซึ่งเป็นหน่วยความจำที่ออกแบบมาสำหรับกราฟิกการ์ดโดยเฉพาะ
- Bus Width: บอกถึงความกว้างของบัสหน่วยความจำที่ใช้มีหน่วยเป็นบิต ในการ์ดตัวอย่างของเราไม่ได้ระบุข้อมูลตรงนี้มาให้
แท็บ Bench
แท็บ Bench หรือ Benchmark นี่เป็นแท็บที่ถูกเพิ่มเข้ามาใหม่เมื่อไม่นานมานี้ ใช้สำหรับทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของซีพียูแบบเบื้องต้น โดยสามารถเปรียบเทียบผลทดสอบของซีพียูที่เรากำลังใช้งานอยู่กับฐานข้อมูลที่มีอยู่ของ CPU-Z ได้
การทดสอบก็จะมีอยู่สองส่วนด้วยกันคือ การทดสอบ CPU Single Thread หมายถึงการทดสอบการทำงานของซีพียูเพียงเธรดเดียว หรือคอร์เดียว และการทดสอบ CPU Multi Thread ที่เป็นการทดสอบประสิทธิภาพโดยรวมของคอร์และเธรดทั้งหมดที่ซีพียูรุ่นนั้น ๆ มี และการทดสอบแบบ Multi Thread เราสามารถคลิกเลือกหรือบังคับจำนวน Threads ที่ต้องการทดสอบได้
และถ้าต้องการเทียบผลการทดสอบซีพียูของเรากับซีพียูรุ่นอื่นก็ทำได้โดยไปเลือกที่ ช่องรายการ Reference แล้วเลือกรายชื่อของซีพียูที่ต้องการ คะแนนของซีพียูที่ต้องการนำมาเทียบก็จะไปแสดงในช่อง Reference ทั้งในส่วนของการทดสอบแบบ Single Thread และ Multi Thread
การทดสอบทำได้โดยการคลิกที่ปุ่มคำสั่ง “Bench CPU” โปรแกรมก็จะทดสอบให้ทั้งในส่วนของ Multi Thread ให้ก่อน แล้วตามด้วยการทดสอบ Single Thread ส่วนปุ่มทดสอบ “Stress CPU” นั้นใช้ทดสอบการทำงานของซีพียูแบบต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ โดยไม่มีการหยุดจนกว่าเราจะสั่ง “Stop” สามารถใช้ทดสอบเสถียรภาพในการทำงานของซีพียูได้
แท็บ About
แท็บนี้จะใช้แสดงข้อมูลของโปรแกรม CPU-Z เอง ว่าเป็นเวอร์ชันอะไรมีการอัปเดตไปเมื่อไหร่ และยังมีการแสดงข้อมูลของเวอร์ชันวินโดวส์ที่เรากำลังใช้งานอยู่ด้วย ในหน้าจอนี้เราสามารถสร้างรายงานสเปคเครื่องทั้งหมดของเราได้ด้วยการคลิกที่ปุ่ม “Save Report (.TXT)” เพื่อบันทึกเป็นไฟล์ .TXT เพื่อเปิดอ่านได้โดยใช้ Notepad หรือโปรแกรมอื่น ๆ หรือจะสร้างรายงานสเปคเครื่องด้วยการคลิกที่ปุ่ม “Save Report (.HTML)” เพื่อสร้างรายงานที่เป็นไฟล์แบบ .HTML ที่สามารถเปิดอ่านได้จากเว็บเบราเซอร์ทั่วไปและจะมีหน้าตาที่ดูสวยงามกว่า
นอกจากนี้ยังมีปุ่ม “Validation” เพื่อส่งข้อมูลต่าง ๆ ของซีพียูที่เราใช้ไปยังเว็บไซต์ของผู้พัฒนาโปรแกรมเพื่อเป็นฐานข้อมูล ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการส่งไปจากบรรดานักโอเวอร์คล็อก หรือคนที่ชอบการโอเวอร์คล็อกซีพียู เพื่อแสดงประสิทธิภาพการทำงานของซีพียูที่สูงขึ้นและเหมือนเป็นการบันทึกหลักฐานได้อีกทางหนึ่งว่าเคยโอเวอร์คล็อกซีพียูรุ่นนั้นรุ่นนี้ได้ความเร็วเท่าไร ด้วยเงื่อนไขของฮาร์ดแวร์อะไรบ้าง ก็เป็นการแบ่งปันข้อมูลร่วมกันไปด้วยในตัว ส่วนปุ่ม “Clock” ก็จะใช้สำหรับแสดงความเร็วของซีพียู หน่วยความจำ และกราฟิกการ์ด ในแบบ real-time
นี่ก็คือทั้งหมดของโปรแกรม CPU-Z ครับ สำหรับเวอร์ชันที่เราใช้ในการเขียนนี้ก็เป็นรุ่น 1.78.1 ซึ่งในวันที่บทความนี่ถูกเผยแพร่ออกไปก็คงจะมีเวอร์ชันใหม่ออกมาแล้ว ซึ่งอาจจะมีรายละเอียดและความแตกต่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ออกไปบ้าง แต่ส่วนหลัก ๆ เราก็คิดว่ายังคงเหมือนกับที่เราได้แนะนำมาครับ แต่ถ้ามีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ CPU-Z เมื่อไร เราก็จะมีการมาอัปเดตให้ทราบกันอีกครั้งครับ
- The Beginner’s Guide: CPU-Z มีแล้วดูยังไง (ตอนที่ 1)
- The Beginner’s Guide: CPU-Z มีแล้วดูยังไง (ตอนที่ 2) เรื่องของแคช
- The Beginner’s Guide: CPU-Z มีแล้วดูยังไง (ตอนที่ 3) เมนบอร์ดและชิปเซต
- The Beginner’s Guide: CPU-Z มีแล้วดูยังไง (ตอนที่ 4) อ่านค่า RAM และ Graphics Card
ดาวน์โหลด CPU-Z