
หลังจากที่มีพัดลมแบบ RGB ออกมาสู่ตลาดมาก ๆ จนผู้ใช้กลุ่มหนึ่งเริ่มรู้สึกว่าเบื่อหน่ายกับแสงสีที่เยอะแยะมากมาย โดยเฉพาะกับพัดลมที่บางครั้งมันติดตั้งอยู่ในตำแหน่งที่เรามองไม่เห็นด้วยซ้ำไป แล้วเราจะมีไฟ RGB ไปเพื่ออะไร หรือบางทีไฟมันก็มากเกินไปจนรำคาญตา และในที่สุดหลายคนก็เริ่มเห็นว่าพัดลมน่าจะกลับไปทำหน้าที่หลักของมันดีกว่าคือการทำหน้าที่ระบายความร้อนได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
และในที่สุดเราก็ได้เห็นผู้ผลิตพัดลมระบายความร้อนหลายแบรนด์หันกลับมาทำพัดลมระบายความร้อนคุณภาพสูงกันมากขึ้น และที่สำคัญก็คือไร้ไฟ RGB อีกด้วยครับ รวมไปถึงหนึ่งในผู้ผลิตอุปกรณ์คอมพิวเตอร์สายเกมมิ่งอย่าง XPG ก็ออกมาทำพัดลมระบายความร้อนประสิทธิภาพสูงแบบไม่มีไฟ RGB ออกมาด้วยเช่นกัน คือ Vento Pro 120 PWM
ดีไซน์ที่เน้นฟังก์ชันการใช้งาน
ถ้าเรามองรูปลักษณ์ภายนอกของ Vento Pro 120 PWM เราก็จะเห็นเป็นเพียงพัดลมธรรมดาทั่วไป ดูแล้วอาจจะนึกถึงพัดลมที่ใช้กับพวกอุปกรณ์ไฟฟ้าขนาดใหญ่ด้วยซ้ำไป แต่ถ้าเรามาดูรายละเอียดปลีกย่อยในแต่ละส่วน เราก็จะเห็นได้ว่าพัดลมรุ่นนี้ได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดี และใส่ใจในทุกรายละเอียดจริง ๆ และฟังก์ชันต่าง ๆ ที่ให้มาก็ล้วนแต่ทำออกมาเพื่อการใช้งานในสถานการณ์จริงได้อย่างลงตัวที่สุด
คุณสมบัติด้านเทคนิค
- ขนาด (H*W*D): 120 x 120 x 25mm
- ชนิดของตลับลูกปืน: Dual Bearings
- คอนเน็คเตอร์: 4-Pin PWM (ควบคุมความเร็วรอบได้)
- แรงดันไฟฟ้าที่ใช้งาน: DC 5V~13.2V
- ใช้กำลังไฟฟ้าสูงสุด: 1.56W
- ใช้กระแสไฟฟ้าสูงสุด: 0.16A (Max)
- แรงดันไฟฟ้าที่ทำให้พัดลมมีประสิทธิภาพสูงสุด: DC 12V
- แรงดันไฟฟ้าที่ทำให้พัดลมเริ่มทำงาน: DC 5V
- อายุการใช้งานเฉลี่ย: ที่ 25℃:250,000 ชั่วโมง / ที่ 60℃:60,000 ชั่วโมง
- ความเร็วรอบพัดลม (RPM): PWM Mode: 900 ~ 2,150 RPM ± 10% / DC Mode: 450 ~ 2,150 RPM ± 10%
- ระดับเสียงรบกวน: 28 dBA (Max)
- อัตราการไหลของอากาศสูงสุด: 75 CFM ± 10%
- แรงดันสถิต: 3.15 mm H₂O หรือประมาณ 0.004 ปอนด์ต่อตารางนิ้ว
- รับประกัน: 5 ปี
Vanto Pro 120 PWM ใช้งานได้อเนกประสงค์
Vanto Pro 120 PWM เป็นพัดลมขนาด 120ม.ม. หรือ 12 เซนติเมตร ก็เป็นขนาดปกติที่เราสามารถใช้งานกับเคส ฮีตซิงค์ระบายความร้อนประสิทธิภาพสูง และพัดลมสำหรับหม้อน้ำในชุดระบายความร้อนด้วยน้ำ และตัว Vento Pro 120 PWM เองก็เป็นพัดลมที่ออกแบบมาในลักษณะของ HIGH STATIC PRESSURE หมายถึงเป็นพัดลมที่มีแรงดันอากาศสูง ซึ่งก็สามารถใช้งานบนฮีตซิงค์หรือบนหม้อน้ำได้อย่างสบาย ๆ

แต่ถ้าใครจะนำไปใช้เป็นพัดลมเพิ่ม Airflow ภายในเคสก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด แต่ก็แนะนำว่าให้ติดตั้งเข้ากับคอนเน็คเตอร์ที่เขียนว่า CHA_FAN (CHA ย่อมาจากคำว่า “Chassis” ซึ่งเป็นคำเดียวกันกับแชสซีที่หมายถึงโครงรถนั่นแหละครับความหมายเดียวกัน หรือในบ้านเราจะนิยมเรียกว่า “Case” เคส นั่นเองครับ) คือที่คอนเน็คเตอร์ CHA_FAN นี้ส่วนใหญ่จะไม่ได้จ่ายไฟแรงเหมือนกับคอนเน็คเตอร์ CPU_FAN ครับ เพราะเน้นแค่การไหลเวียนของอากาศ ช่วยยืดอายุการใช้งานของตัวพัดลมในทางอ้อมด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ขึ้นอยู่กับเมนบอร์ดด้วยครับและเราเองก็สามารถปรับการทำงานในส่วนนี้ได้ผ่านทางไบออสของเมนบอร์ดครับ
โดยรวมเอาเป็นว่าพัดลมรุ่นนี้ก็ใช้งานได้ทั้งเป็นตัวระบายความร้อนหลักให้กับฮีตซิงค์หรือหม้อน้ำ หรือจะใช้เป็นพัดลมสร้าง Airflow ในเคสก็ใช้ได้หมดไม่มีปัญหาครับ
ออกแบบมาเพื่อลดเสียงรบกวน
ถ้าใครจำได้พัดลมระบายความร้อนในยุคแรก ๆ ของพีซี เราจะมุ่งเน้นกันที่ความแรงเป็นหลักเพื่อทำให้ระบายความร้อนได้อย่างเต็มที่ ซึ่งก็มักจะมาพร้อมกับพัดลมที่มีรอบจัด เพราะพัดลมในยุคแรก ๆ จะใช้ขนาด 60-80ม.ม. เท่านั้น ทำให้การเพิ่มประสิทธิภาพต้องทำด้วยการเพิ่มรอบพัดลม นั่นทำให้มีเสียงดังรบกวนการทำงานที่ค่อนข้างมาก ถัดจากนั้นมาก็จะเพิ่มขนาดเป็น 120ม.ม. ทำให้ลดความเร็วรอบลงมาได้บ้าง เสียงรบกวนในการทำงานก็ลดลงมาตามลำดับ
จนมาถึงพัดลมยุคใหม่ที่มีการใส่ทุกเทคโนโลยีและการออกแบบเพื่อทำให้พัดลมนั้นทำงานได้เงียบที่สุดแต่ยังคงประสิทธิภาพในการสร้างอัตราการไหลเวียนของอากาศให้ได้มากที่สุด และ Vento Pro 120 PWM ของ XPG ก็ใส่เทคนิคสารพัดอย่างให้กับพัดลมรุ่นนี้เพื่อลดเสียงรบกวนให้ได้มากที่สุด ได้แก่

การใช้ตลับลูกปืนตรงแกนของพัดลมเป็นแบบ Dual Bearings ซึ่งมันจะช่วยรักษาเสถียรภาพของการหมุนลดการสั่นตรงบริเวณแกนพัดลม ทำให้พัดลมหมุนได้นิ่งไม่สั่นลดเสียการรบกวนลงแล้วหนึ่ง ประการที่สองตรงแกนพัดลมเพิ่มสปริงที่ทำหน้าที่เหมือนโชคที่คอซับแรงสั่นสะเทือนในการหมุนของพัดลม ซึ่งบางครั้งก็เกิดจากการปรับรอบเพิ่มขึ้นและลดลงตามตัว PWM ของเมนบอร์ด อย่างที่สามตำแหน่งสำหรับติดตั้งพัดลมตรงรูยึดน็อตทั้ง 4 มุม ทั้งด้านในและด้านนอกก็มียางรองเพื่อลดแรงสั่นสะเทือนด้วยเช่นกัน


และอย่างที่สี่ใบพัดของพัดลมทั้งตรงบริเวณโคนของใบพัดเพื่อลดการสั่น และปลายของใบพัดมีการตัดปลายเล็กน้อยเพื่อลดเสียงในการทำงานลง ทำให้พัดลมรุ่นนี้ทำงานได้เงียบมาก ๆ ในระดับ 28dBA ที่รอบสูงสุด 2150 รอบต่อนาที คือเบากว่าเสียงกระซิบ และยิ่งทำงานอยู่ในเคสก็แทบจะไม่มีเสียงรบกวนเลยด้วยซ้ำ
ต่อพ่วงกันได้สายไม่รุงรัง
Vento Pro 120 นี้มาพร้อมกับสายสำหรับต่อพ่วงพัดลมตัวที่สองทำให้เราสามารถต่อพ่วงสายไฟของพัดลมตัวต่อไปเข้าที่พัดลมตัวแรกได้เลย แต่ก็แนะนำว่าไม่ควรพ่วงกันเกินสามตัว เพราะจะทำให้โหลดไปตกอยู่กับคอนเน็คเตอร์ควบคุมพัดลมของเมนบอร์ด ซึ่งปกติเราก็คิดว่าตำแหน่งที่จะติดตั้งชิดกันได้เกินสามตัวก็คงมีไม่มากนัก ยกเว้นจะใช้เคสขนาดใหญ่จริง ๆ ซึ่งในทางปฏิบัติเคสขนาดก็มักจะปรับไปใช้พัดลมขนาด 140mm หรือ 200mm เป็นปกติอยู่แล้ว

ความทนทานระดับอุตสาหกรรม
อาจจะใช้ศัพท์ที่ดูโบรานหน่อย แต่ว่า Vento Pro 120 PWM ออกแบบมาด้วยเกณฑ์มาตรฐานเดียวกับการระบายความร้อนของเครื่องมือในอุตสาหกรรมเลยก็ว่าได้ เพราะพัดลมรุ่นนี้ทาง XPG ได้มีการออกแบบร่วมกับ Nidec ซึ่งเป็นโรงงานผู้ผลิตมอเตอร์สำหรับอุตสาหกรรม ตั้งแต่มอเตอร์พัดลมระบายความร้อนไปจนถึงมอเตอร์สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าเลยทีเดียว และ Nidec ก็อยู่ในอุตสาหกรรมนี้มากว่า 40 ปี และถือว่าเป็นอันดับหนึ่งของโลกอยู่ในตอนนี้อีกด้วย ไม่อย่างนั้นทาง XPG คงไม่กล้ารับประกันพัดลมรุ่นนี้นานถึง 5 ปี (ทั่วไปเราก็เห็นเพียง 1 ปี หรืออย่างมากก็ 3 ปี เท่านั้น) เอาเป็นว่าใช้งานได้แบบไม่ต้องกังวล
Vento Pro 120 PWM เหมาะกับใคร
ในมุมมองของเรา Vento Pro 120 PWM เหมาะสำหรับใช้เป็นพัดลมสำหรับฮีตซิงค์ของซีพียู กับพัดลมของหม้อน้ำเป็นหลักครับ เพราะเป็นพัดลมแรงดันสูง คือพัดลมพวกนี้จะมีแรงดันที่สามารถทะลุผ่านครีบหรือฟินของฮีตซิงค์และหม้อน้ำได้เป็นอย่างดี ใครที่มีฮีตซิงค์รุ่นเดิมอยู่แล้วพัดลมเริ่มเบา หรือพัดลมรุ่นเก่าดังเกินไป Vento Pro 120 PWM ก็เหมาะมากที่จะเข้ามาทดแทนในจุดนี้ครับ
ส่วนใครที่จะใช้เป็นพัดลมเคสก็ได้เช่นกันครับถ้าคุณมีงบประมาณมากพอ เพราะว่ากันตามตรงราคาของ Vanto Pro 120 PWM นั้นจะแพงกว่าพัดลมที่ทำออกมาสำหรับเคสโดยเฉพาะอยู่บ้าง เพราะพัดลมสำหรับเคสโดยมากแล้วจะไม่ได้มีรายละเอียดเยอะเพราะทำหน้าที่แค่สร้างการไหลเวียนของอากาศของเคสเท่านั้น อาจจะใช้พัดลมความเร็วระดับ 1500 รอบต่อนาทีทั่วไปก็ได้ แต่ถ้าคุณชอบของที่มีคุณภาพมีงบประมาณที่พร้อม การเลือกใช้ Vento Pro 120 PWM เป็นพัดลมเคส ก็คงไม่ได้ผิดกติกาแต่อย่างใดครับ
ข้อมูลเพิ่มเติม