AMD Ryzen 5 2400G (with Radeon RX Vega 11) คนละชั้นหรือเทียบชั้น RX 550 / GT 1030

Ryzen 5 2400G

หลังจากเราได้เห็นประสิทธิภาพในการทำงานและการเล่นเกมของ Ryzen 3 2200G ที่มาพร้อมกับกราฟิก RX Vega 8 ไปแล้ว เราก็รู้สึกตื่นเต้นอย่างมากที่จะได้ทดสอบซีพียู Ryzen 5 2400G ที่มาพร้อมกับกราฟิก RX Vega 11  เพราะ RX Vega 8 ในหลายการทดสอบสามารถทำคะแนนเบียดกับ GT 1030 และ RX 550 ได้อย่างน่าชื่นชม แล้วถ้าเป็น RX Vega 11 ที่อยู่ในซีพียู Ryzen 5 2400G มันจะแรงได้ถึงแค่ไหนกันนะ สามารถก้าวข้ามกำแพงของกราฟิกการ์ดแบบแยกไปได้หรือไม่ ไปติดตามกันเลยครับ

Ryzen 5 2400G

ทำความรู้จัก Ryzen 5 2400G ที่มาพร้อม Radeon RX Vega 11

AMD Ryzen 5 2400GAMD Ryzen 3 2200G
CPU Cores4 Cores, 8 Threads4 Cores, 4 Threads
CPU Base Clock3.6GHz3.5GHz
CPU Max Boost ClockUp to 3.9GHzUp to 3.7GHz
CPU L1 Cache64K Instruction, 32K Data per core4K Instruction, 32K Data per core
L2+L3 Cache6MB6MB
GPU Cores11 Radeon Vega Cores (704 ALUs)8 Radeon Vega Cores (512 ALUs)
GPU ClockUp to 1250MHzUp to 1100MHz
GPU TMU Count4432
GPU ROP Count16 (32-bit)16 (32-bit)
GPU ACE/HWS Count2-Apr2-Apr
Total FP32 (TFLOPS)1.99 (1.76 GPU/0.231 CPU)1.35 (1.126 GPU/0.224 CPU)
PCIe Gen3 Lanes8x GPU / 4x General / 4x Chipset Link8x GPU / 4x General / 4x Chipset Link
TDP65W65W
DRAM SupportUp to DDR4-2933 (Dual Channel)Up to DDR4-2933 (Dual Channel)
Die Size and Transistors209.78mm2 / ~4.94 billion

Ryzen 5 2400G ซีพียูแบบ 4 คอร์ 8 เธรด ทำงานที่ความเร็ว 3.6GHz และสามารถบูสได้สูงถึง 3.9GHz มาพร้อมกับกราฟิก Radeon RX Vega 11 ซึ่งก็คือ RX Vega ที่มี CU (Compute Unit) จำนวน 11 หน่วย นั่นเอง ในแต่ละ CU ประกอบไปด้วยเฉเดอร์หรือสตรีมโปรเซสเซอร์อีกจำนวน 64 หน่วย รวมแล้ว RX Vega 11 ก็จะมีสตรีมโปรเซสเซอร์ทั้งหมด 704 หน่วย ความเร็วในการทำงานของ RX Vega 11 สูงสุดจะอยู่ที่ 1250MHz ถือว่าสูงเอาเรื่องอยู่ครับ เพราะตามปกติแล้วสถาปัตยกรรมกราฟิกของเอเอ็มดีนั้นจะเลือกใช้ความเร็วของคล็อกที่ต่ำเพื่อลดการใช้พลังงานและความร้อน และพอมาเป็นกราฟิกที่รวมอยู่ในตัวซีพียูก็ทำให้เราอดห่วงเรื่องความร้อนไม่ได้เหมือนกัน ที่สำคัญคือฮีตซิงค์ที่มาพร้อมกับซีพียูรุ่นนี้ก็ยังเป็นแบบ TDP 65 วัตต์ เท่ากันกับ Ryzen 3 2200G อีกต่างหาก เพื่อคลายความสงสัยเรื่องอุณหภูมิเราก็ได้ทำการทดสอบเรื่องอุณหภูมิมาให้ดูด้วยครับแต่ก็เก็บไว้ในช่วงท้ายของการทดสอบนะครับ

Ryzen 5 2400G
อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบ
  • CPU: AMD Ryzen 5 2400G (3.6GHz/3.9GHz)
  • GPU: Integrated graphics Radeon RX Vega 11 (Share 2GB)
    • ASUS PH-GT1030-O2G
    • PowerColor AXRX 550 2GBD5-DHV2/OC
  • MAINBOARD: ASUS PRIME B350-PLUS (BIOS-3803)
  • RAM: KLEVV CRAS DDR4 2800MHz@2933 (4GBx2)
  • SSD: Plextor S3 SATA 6.0Gbps (512GB)
  • HDD: WD Green SATA 6.0Gbps (2TB)
  • PSU: Antec HCP Platinum 850W
  • Monitor: Philips 243V5 Full HD 24”
Ryzen 5 2400G
การทดสอบ

การทดสอบครั้งนี้เรายังคงใช้เมนบอร์ด หน่วยความจำ และอุปกรณ์อื่น ๆ เหมือนเดิมทั้งหมดครับเพื่อให้สามารถนำไปเปรียบเทียบกับตอนที่ทดสอบ Ryzen 3 2200G ได้สะดวกด้วย เพราะเดี๋ยวต้องมีคนถามแน่นอนว่าต่างจาก Ryzen 5 2400G มากน้อยขนาดไหน ส่วนกราฟิกการ์ดแบบแยกที่นำมาทดสอบในครั้งนี้ก็ยังคงเป็น GT 1030 และ RX 550 เหมือนเดิมครับ สำหรับผลการทดสอบแรกเราขอนำเสอนการเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่าง Ryzen 3 2200G กับ Ryzen 5 2400G มาให้ได้ชมกันก่อนครับจะไดคลายข้อสงสัยเรื่องความแตกต่างของซีพียูแบบ 4 คอร์ กับซีพียูแบบ 8 คอร์ 4 เธรด ไปด้วยเลย

เทียบประสิทธิภาพระหว่าง Ryzen 3 2200G และ Ryzen 5 2400G
Ryzen 5 2400G

ประสิทธิภาพแบบเดิม ๆ ระหว่าง Ryzen 3 2200G และ Ryzen 5 2400G นั้นค่อนข้างจะแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดไม่ว่าจะเป็นส่วนของซีพียู หรือส่วนของกราฟิก โดยเฉพาะงานที่ต้องการซีพียูแบบหลายเธรด ประสิทธิภาพจะทิ้งห่างอย่างเห็นได้ชัด

Ryzen 5 2400G

แต่พอเราโอเวอร์คล็อกความเร็วของ RX Vega 8 และ RX Vega 11 ให้มีความเร็วเท่ากันที่ 1500MHz แล้วลองเล่นเกมผลที่ได้น่าสนใจครับ จะเห็นได้ว่าเฟรมเรตที่ RX Vega 8 ทำได้นั้นเพิ่มขึ้นมาอีกพอตัวเลยครับ ทำคะแนนเบียดกับ RX Vega 11 ได้เลย จะมีเพียงเกม AoS: Escalation เท่านั้นที่เร่งขึ้นมาได้ยากเพราะเกมนี้ต้องการพลังของซีพียูร่วมด้วย RX Vega 8 นั้นอยู่ในซีพียูแบบ 4 คอร์ ส่วน RX Vega 11 อยู่นซีพียูแบบ 4 คอร์ 8 เธรด นั่นเองครับ อย่างไรก็ตามต้องไม่ลืมนะครับว่านี่เป็นความเร็วเมื่อการโอเวอร์คล็อกแล้ว ส่วนประสิทธิภาพแบบเดิม ๆ นั้นทิ้งห่างอย่างที่ได้เห็นไปในผลการทดสอบด้านบนครับ

ตอนนี้ก็ถืงเวลาไปทดสอบ RX Vega 11 เทียบกับ GT 1030 และ RX 550 กันแล้วครับ

ทดสอบด้วย Realbench R2.44

Ryzen 5 2400G

การทดสอบด้วย Realbench R2.44 นั้น Ryzen 5 2400G ที่ใช้ความเร็วปกติของ RX Vega 11 ก็ยังสามารถทำงานได้รวดเร็วกว่าการใช้กราฟิกการ์ดแบบแยกครับ ทำไม่จึงเป็นเช่นนั้น! สาเหตุเป็นเพราะว่าการทำงานของคอร์ซีพียูกับกราฟิก RX Vega 11 ในบางส่วนนั้นสามารถสื่อสารกันได้โดยตรงผ่านทาง Infinity Fabric ในขณะที่การทำงานด้วยกราฟิกการ์ดแบบแยกจะต้องทำงานผ่าน PCIe x16 ทั้งหมดซึ่งจะใช้เวลาในการรับส่งข้อมูลที่นานกว่า นอกจากนี้ด้วยประสิทธิภาพของกราฟิก RX Vega 11 กับกราฟิกการ์ดแยกที่เรานำมาเทียบด้วยทั้งสองรุ่นก็ไม่ได้แตกต่างกันมากสำหรับการทำงานทั่วไป จึงทำให้คะแนนการทำงานของ Ryzen 5 2400G ร่วมกับ RX Vega 11 โดยรวมทำได้ดีกว่าการทำงานร่วมกับกราฟิกการ์ดแบบแยกครับ จะมีก็เพียงการทดสอบด้วย OpenCL เท่านั้นที่ RX 550 ทำได้ดีกว่า

Ryzen 5 2400G

ทดสอบประสิทธิภาพด้วย 3DMark Fire Strike

Ryzen 5 2400G

คะแนนจาก 3DMark Fire Strike ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพการทำงานของ RX Vega 11 อีกครั้งว่ามีดีพอที่จะใช้งานทดแทนกราฟิกการ์ดแบบแยกได้ดีพอตัว และเมื่อเพิ่มความเร็วของ GPU Clock ขึ้นไปประสิทธิภาพในการเพิ่มขึ้นมาอย่างน่าสนใจ

ทดสอบด้วยเกม Ashes of the Singularity: Escalation

Ryzen 5 2400G

AoS: Escalation เป็นเกมแบบ RTS ที่ใช้ทั้งซีพียูและกราฟิกมากพอสมควร เราเลือกทดสอบเกมนี้ด้วย DirectX 12 และผลการทดสอบก็แสดงให้เห็นอีกครั้งว่าถ้ามีการประมวลผลที่ใกล้ชิดกันระหว่างซีพียูกับกราฟิกก็จะทำให้ RX Vega 11 สามารถแสดงศักยภาพในการทำงานออกมาได้ดี การทดสอบนี้จะเห็นได้ว่าเฟรมเรตของ RX Vega 11 ขณะที่ยังไม่ได้โอเวอร์คล็อกก็สูงกว่าทั้ง RX 550 และ GT 1030 อยู่เล็กน้อย นี่ถ้าใช้แรมที่แรงกว่านี้คะแนนน่าจะไปได้ไกลกว่านี้ครับ

ทดสอบด้วยเกม Tom Clancy’s The Division

Ryzen 5 2400G

ไม่ธรรมดาครับกับเกม The Division ผลการทดสอบของ RX Vega 11 กับซีพียูที่เป็นแบบ 4 คอร์ 8 เธรด สามารถทำเฟรมเรตเฉลี่ยได้ขึ้นมาใกล้เคียงกันกับ RX 550 กันเลยทีเดียว แม้ว่าจะไม่ได้เร่งความเร็วด้วยการโอเวอร์คล็อกก็ยังทำเฟรมเรตได้ในระดับ 46 FPS ถือว่าดีเกินคาด

ทดสอบด้วยเกม GTA V

Ryzen 5 2400G

ในเกม GTA V นี้ทาง RX Vega 11 ทำเฟรมเรตได้ดีมากนะครับ ความเร็วแบบปกติก็สามารถทำเฟรมเรตได้เกือบจะ 60 FPS เลยทีเดียว แต่ว่าเกมนี้ความแรงที่เหนือชั้นยังคงเป็นของกราฟิกการ์ดแบบแยกอย่าง RX 550 และ GT 1030 ครับ

ทดสอบด้วยเกม Rise of the Tomb Raider

Ryzen 5 2400G

คะแนนหายไปหนึ่งช่องครับ เมื่อเราโอเวอร์คล็อก RX Vega 11 ไปที่ความเร็ว 1650MHz อันที่จริงตั้งแต่ 1600MHz แล้วหล่ะที่ทำให้ไม่สามารถทดสอบเกมนี้ให้จบได้ เกมนี้ใช้พลังทั้งซีพียูและกราฟิก แต่จะใช้กราฟิกหนักมากหน่อยเพราะในแต่ละฉากของเกมมีข้อมูลค่อนข้างมากและรายละเอียดสูงเมื่อเทียบกับเกมอื่น ๆ ดังนั้นพอมีการประมวลผลหนัก ๆ ทำให้เกมนี้ฟ้องออกมาให้เราเห็นว่าที่ความเร็วในระดับ 1600MHz นั้นไม่มีเสถียรภาพในการทำงานที่ดีพอ แม้ว่าจะผ่านการทดสอบอื่น ๆ มาได้ก็ตาม ซึ่งทำให้เราลงความเห็นกันว่าการโอเวอร์คล็อก RX Vega 11 นั้นควรใช้ค่าความเร็วอยู่ที่ประมาณ 1500MHz และค่าความเร็วแบบมาตรฐานของ RX Vega 11 ก็ถือว่าทำได้ดีนะ ได้เทียบเท่ากับ GT 1030 แต่ก็เป็นรอง RX 550 มากพอตัว

ทดสอบด้วยเกม For Honor

Ryzen 5 2400G

เมื่อทดสอบด้วยเกม For Honor ที่ความเร็ว 1650MHz ผลการทดสอบก็กลับคืนมาอีกครั้งครับ และเกมนี้ก็เป็นอีกเกมที่ใช้พลังจากกราฟิกไม่มากนักเมื่อปรับรายละเอียดไปในระดับ Low ความแรงยังคงเป็นของ RX 550 และ GT 1030 แต่ RX Vega 11 ที่ความเร็ว 1650MHz ก็ทำเฟรมเรตเบียด GT 1030 ขึ้นมาได้ใกล้ชิดเลยทีเดียว

ลองเล่น PUBG

เกม PUGB เราตั้งค่าความละเอียดไว้ที่ Full HD ปรับรายละเอียดของภาพทั้งหมดเป็น Very Low มีเพียง Anti Aliasing ที่ปรับเป็น Medium และ View Distance ปรับเป็น High สำหรับเฟรมเรตในระหว่างการเล่นนั้นก็มีการปรับขึ้นลงค่อนข้างมากครับคือมีตั้งแต่ 30-45 FPS และในวันที่เราเล่นทดสอบมีบางช่วงอยู่ดี ๆ เฟรมตกไปที่ 25-28 FPS แต่ก็ได้คอร์และเธรดของซีพียูเข้ามาช่วยครับ คือเฟรมอาจจะไม่สูงแต่ภาพไม่มีอาการกระตุก แต่พอผ่านพ้นช่วงนั้นมาเราก็ลองขับรถไปตามแนวถนนก็พบว่าเฟรมเรตจะอยู่แถว 35 FPS ครับ 

ไหนว่า RX Vega ในซีพียูแรงเท่า GTX 1050/1050 Ti โกหกหรืออย่างไร?

พอเห็นผลการทดสอบทั้ง Ryzen 3 2200G และ Ryzen 5 2400G หลายหลายคนที่เคยได้ยินข่าวว่า RX Vega ที่อยู่ในซีพียู Ryzen 2000G Series นั้นแรงพอ ๆ กันกับ GTX 1050/1050 Ti ก็ไม่เป็นเรื่องจริงสินะ อันนี้ต้องทำความเข้าใจสักนิดครับว่ากราฟิก RX Vega ที่อยู่ในซีพียูแล้วแรงเท่ากับ GTX 1050/1050 Ti นั้น เป็น RX Vega M ครับ ที่มีจำนวน CU มากถึง 20 หน่วย (Vega M GL) และ 24 หน่วย (Vega M GH) ซึ่งถูกรวมอยู่ในแพ็กเกจเดียวกันกับซีพียูของทางฝั่งอินเทล และจริง ๆ แล้ว RX Vega M นั้นไม่ได้ถือว่าเป็นกราฟิกแบบรวมนะครับแต่เป็นกราฟิกการ์ดแบบแยกนี่แหละ เพียงแต่ทางอินเทลนำชิป RX Vega M ไปติดตั้งบนแผง PCB เดียวกันกับส่วนของซีพียูเท่านั้นเองครับ ก็ขอให้เข้าใจตามนี้นะครับจะได้ไม่สับสน และสำหรับ RX Vega 11 ที่อยู่ใน Ryzen 5 2400G ตอนนี้ก็ยังถือว่าเป็นกราฟิกแบบรวมที่แรงที่สุดในโลกครับ (ส่วนอนาคตค่อยว่ากันใหม่)

บอกเล่าประสบการณ์โอเวอร์คล็อก RX Vega 11@1650MHz.

ซีพียู Ryzen 3 2200G และ Ryzen 5 2400G มาพร้อมกับฮีตซิงค์ที่รองรับค่าความร้อนหรือ TDP ได้ 65 วัตต์ ซึ่งเพียงพอต่อการใช้งานทั่วไปและพอที่จะรองรับการโอเวอร์คล็อกได้บ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเช่นในตอนที่เราทดสอบ Ryzen 3 2200G เราสามารถโอเวอร์คล็อก RX Vega 8 ไปได้สูงสุดถึง 1500MHz จากความเร็วปกติ 1100MHz ถือว่าเป็นค่าที่สูงพอสมควร แต่ถ้าจะโอเวอร์คล็อกคอร์ของซีพียูร่วมด้วยฮีตซิงค์ที่มี TDP เพียง 65 วัตต์ นั้นไม่สามารถรองรับได้อย่างแน่นอนต้องเปลี่ยนเป็นฮีตซิงค์ที่รองรับค่า TDP ในระดับ 95 วัตต์ ขึ้นไปจึงจะพอขยับความเร็วของซีพียูที่เพิ่มขึ้นมาได้

แต่พอมาเป็น Ryzen 5 2400G ที่เป็นซีพียูแบบ 4 คอร์ 8 เธรด และยังมี RX Vega 11 ที่มีจำนวน CU เพิ่มขึ้น และความเร็วของคล็อกสปีดเพิ่มขึ้นด้วย ทำให้เราสงสัยว่าฮีตซิงค์แค่ 65 วัตต์ จะรองรับการทำงานได้อย่างเพียงพอหรือไม่ ซึ่งการทดสอบในแบบที่ไม่มีการโอเวอร์คล็อกใด ๆ ก็พบว่าฮีตซิงค์ TDP 65 วัตต์ นั้นเพียงพอครับ

Ryzen 5 2400G
Ryzen 5 2400G

.

ต่อมาเราจึงเลือกที่จะโอเวอร์คล็อก RX Vega 11 เพียงอย่างเดียวครับ เพราะซีพียูรุ่นนี้เป็นแบบ 4 คอร์ 8 เธรด ซึ่งถือว่าแรงแบบธรรมชาติอยู่แล้ว และการเพิ่มเฟรมเรตในการเล่นเกมก็จะมาจากประสิทธิภาพของกราฟิกการ์ดมากกว่า ดังนั้นเราจึงปรับความเร็วของ RX Vega 11 จากเดิม 1250MHz เพิ่มไปเป็น 1500MHz โดยยังคงใช้ฮีตซิงค์ขนาด 65 วัตต์ เหมือนเดิมผลที่ได้ก็คือ…มันจะร้อน ๆ หน่อย แต่ก็ไม่ค้างไม่แฮงค์  แม้ว่าอุณภูมิในการทำงานของส่วนซีพียูและกราฟิกจะสูงในระดับ 70-75 องศาเซลเซียสก็ตาม (อุณหภูมิห้อง 30 องศา) เนื่องจากเอเอ็มดีได้ออกแบบ Ryzen 5 2400G รวมถึง Ryzen 3 2200G ให้มีระบบป้องกันพวกความร้อนสูงเกินโดยใช้เทคนิคแบบเดียวกันกับ Ryzen 2000U Series ที่อยู่ในโน้ตบุ๊กครับ คือมีสเต็ปการลดการใช้พลังงานมากกว่าซีพียู Ryzen 1000 Series ที่ออกมาก่อนหน้านี้ครับ แต่ว่าในการทดสอบจริงเราได้ปรับเปลี่ยนมาเป็นฮีตซิงค์ขนาด 95 วัตต์ เพื่อเสถียรภาพในการทดสอบครับ และเมื่อเปลี่ยนฮีตซิงค์ขนาด 95 วัตต์ แล้วอุณภูมิการทำงานนั้นจะอยู่ประมาณสัก 65 องศาเซลเซียสเท่านั้น

ส่วนการทดสอบ RX Vega 11 ที่ความเร็ว 1650MHz ก็ต้องเปลี่ยนเป็นอีตซิงค์ที่มีขนาดใหญ่กว่าเดิมครับเราลองใช้ฮีตซิงค์รุ่นที่รองรับ TDP ได้ในระดับ 180 วัตต์ ขึ้นไปครับ แต่ในที่สุดแล้วการโอเวอร์คล็อก RX Vega 11 ไปที่ความเร็ว 1650MHz กลายเป็นเรื่องที่ไม่เกิดประโยชน์ครับ เพราะประสิทธิภาพที่ได้เพิ่มมานั้นค่อนข้างน้อยและยังไม่มีเสถียรภาพในการทำงานที่ดีพออีกด้วยดังจะเห็นได้จากการทดสอบด้วยเกม Rise of The Tomb Raider นั้นไม่ผ่านครับ และเราก็ลองปรับความเร็วลงมาที่ระดับ 1600MHz ก็ยังเจอปัญหาแบบเดิมครับ เราจึงคิดว่าความเร็วของ RX Vega 11 ที่ 1500MHz นั้นเป็นค่าความเร็วที่ลงตัวที่สุดแล้วสำหรับการโอเวอร์คล็อกสำหรับการใช้งานในชีวิตประจำวันครับ

สรุปหลังการทดสอบและการใช้งาน

ผลการทดสอบ

ผลการทดสอบโดยรวมแม้ว่า พลังของ RX Vega 11 ที่อยู่ใน Ryzen 2400G นั้นอาจจะไม่ได้เร็วกว่า RX 550 และ GT 1030 ในทุก ๆ การทดสอบ แต่ในหลายการทดสอบก็แสดงให้เห็นว่า RX Vega 11 นั้นมีประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงจริง ๆ โดยเฉพาะถ้าเป็นแอปพิลเคชันหรือแม้กระทั่งเกมที่ต้องมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันบ่อยระหว่างส่วนของซีพียูกับส่วนของกราฟิก RX Vega 11 ก็จะได้เปรียบการทำงานกราฟิกการ์ดแบบแยกอย่างชัดเจนไม่ว่าจะเป็น RX 550 หรือ GT 1030 ก็ตาม โดยเฉพาะ GT 1030 นั้นมีจุดอ่อนตรงที่อินเทอร์เฟสเป็นแบบ PCIe x4 เท่านั้น ในขณะที่ RX 550 เป็น PCIe x8 และตัว RX Vega 11 เองเป็น PCIe x16 (+Infinity Fabric) ก็เลยได้เปรียบเรื่องของการถ่ายโอนข้อมูลครับ และอย่าลืมนะครับว่าความเร็วของหน่วยความจำที่ใช้ในครั้งนี้คือ 2933MHz ที่เป็นค่าปกติของซีพียูรุ่นนี้ และถ้าเรามีหน่วยความจำที่ดีกว่านี้ เช่นที่ 3200MHz แล้วโอเวอร์คล็อกเพิ่มเติมไปถึงสัก 3400MHz เราก็น่าจะได้เห็นประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงขึ้นไปอีกครับ (เดี๋ยวเราไปหาหน่วยความจำแรง ๆ แล้วมาทดสอบซ้ำดูครับ)

เราอาจจะมุ่งเน้นการทดสอบประสิทธิภาพของ Ryzen 3 2200G และ Ryzen 2400G ในส่วนของกราฟิก RX Vega 8 และ RX Vega 11 มากไปสักนิดนะครับ แต่ก็ทำไปเพื่อตอบสนองให้กับคุณผู้อ่านที่ต้องการทราบถึงประสิทธิภาพในการทำงานของกราฟิกที่อยู่ในซีพียูทั้งสองรุ่นนี้ครับ เพราะประสิทธิภาพของซีพียูเราก็พอจะได้เห็นและเทียบเคียงได้จาก Ryzen 3 1200/1300X และ Ryzen 5 1400/1500X ในขณะที่กราฟิก RX Vega 8 และ RX Vega 11 นั้นถือว่าเป็นของใหม่ที่เพิ่งจะเปิดตัว และเป็นสิ่งสำคัญที่หลายคนใช้เป็นแนวทางการเลือกซื้อซีพียูด้วยครับว่าจะไปใช้ Ryzen 1000 Series ร่วมกับกราฟิกการ์ดแบบแยก หรือจะมุ่งมาที่ Ryzen 2000G ที่มาพร้อมกับกราฟิก RX Vega ในตัว และจากผลการทดสอบเราก็คิดว่าหลายคนน่าจะได้คำตอบและแนวทางในการเลือกใช้แล้วนะครับ

การใช้งาน

การใช้งานพื้นฐานทั่วไปบน Ryzen 2400G นั้นก็บอกได้เลยครับว่าไม่ได้รู้สึกแตกต่างไปจากตอนที่ใช้ Ryzen 3 2200G คือทั้งคู่ถูกออกแบบมาให้สามารถสร้างพีซีที่เรียบง่ายได้ ติดตั้งซีพียู หน่วยความจำ และไดร์ฟเก็บข้อมูลกับเมนบอร์ดบอร์ดเพียงเท่านี้ก็ทำงานได้แล้ว สร้างพีซีขนาดเล็กที่มีประสิทธิภาพสูงพอตัวได้เลย

ข้อได้เปรียบจริง ๆ ของ Ryzen 2400G นั้นจะแสดงออกมาในตอนที่ต้องการเปิดโปรแกรมใช้งานหลายโปรแกรมพร้อมกันครับการเป็นซีพียูหลายคอร์หลายเธรดทำให้เราสลับสับเปลี่ยนระหว่างแอปพลิเคชันที่ใช้ได้อย่างไม่รู้สึกติดขัด โดยเฉพาะการเล่นเกมด้วยจำนวน CU ที่มากกว่าย่อมทำให้เฟรมเรตที่ได้สูงกว่าอย่างไม่ต้องสงสัย ที่สำคัญคือในบางช่วงเวลาที่เฟรมดรอปลงมาเป็นบางช่วง (ปกติของ PUBG) อย่างไร้เหตุผล แม้จะอยู่ในช่วงเฟรมที่ลดลงมา แต่สิ่งที่เห็นได้ก็คือความต่อเนื่องในการเล่นยังคงอยู่ไม่รู้สึกว่ามันกระตุกครับ

ถ้าจะให้เทียบความคุ้มค่าระหว่าง Ryzen 3 2200G กับ Ryzen 5 2400G นั้นพูดยากครับ คือซีพียูทั้งสองรุ่นนั้นก็มีจุดเด่นด้วยกันทั้งคู่ สำหรับคนที่งบจำกัดจริง ๆ Ryzen 3 2200G ก็เป็นคำตอบที่ลงตัวสุดแล้วได้ทั้งเกมได้ทั้งงานมันก็คุ้มในแง่นี้ สำหรับ Ryzen 5 2400G ความคุ้มค่านั้นอยู่ตรงที่การเป็นซีพียูแบบ 4 คอร์ 8 เธรด แถมด้วยกราฟิกในตัวที่ให้ประสิทธิภาพเทียบเคียงกับกราฟิกการ์ดแบบแยกได้เลย ตามปกติถ้าต้องการซีพียูระดับนี้พลังกราฟิกการ์ดระดับนี้ก็ต้องมีงบประมาณอย่างน้อยเจ็ดแปดพันไปจนถึงใกล้ ๆ หมื่น แต่นี่เราจ่ายไม่ถึงหกพันบาท เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพแล้วก็ต้องบอกว่า Ryzen 5 2400G เป็น “The Budget King” ในช่วงเวลานี้เลยครับ

Ryzen 5 2400G เหมาะกับใคร

Ryzen 5 2400G วางจำหน่ายในราคา 5,950 บาท เมื่อเทียบกับ Ryzen 3 2400G ที่ขายในราคาประมาณ 3,600 บาท ทำให้รู้สึกว่าราคานั้นสูงขึ้นมาอีกพอสมควร แต่เมื่อลองพิจารณาว่านี่เป็นซีพียูแบบ 4 คอร์ 8 เธรด ที่มาพร้อมกับกราฟิกประสิทธิภาพสูงพอที่จะใช้ได้ทุกรูปแบบทั้งงานและการเล่นเกม ก็ต้องถือว่าเป็นราคาที่ไม่ได้สูงจนเกินไป

  1. โดยพื้นฐานของการเป็นซีพียูแบบ 4 คอร์ 8 เธรด ทำให้ Ryzen 5 2400G เหมาะสำหรับคนที่ต้องการทำงานหลาย ๆ อย่างพร้อมกัน เปิดแอปพลิเคชันหลายตัวทำงานพร้อมกัน หรือแม้แต่การเล่นเกมไปด้วย บันทึกวิดีโอไปด้วย หรือถ่ายทอดสดการเล่นเกมไปยังช่องทางต่าง ๆ ซีพียูที่มีหลายคอร์หลายเธรดจะช่วยทำเรื่องเหล่านี้ได้ดีกว่าการใช้ซีพียูแบบ 4 คอร์ ธรรมดา
  2. เหมาะสำหรับคนที่ต้องการพีซีประสิทธิภาพสูงในการสร้างคอนเทนต์ต่าง ๆ ถ้าคุณต้องการพีซีสักเครื่องสำหรับทำงานด้านกราฟิกไม่ว่าจะเป็นกราฟิกที่เกี่ยวข้องกับสิ่งพิมพ์ งานภาพถ่าย งานกราฟิกแบบขีด ๆ เขียน ๆ แนว Illustrator รวมไปถึงงานกราฟิกในลักษณะของ CAD/CAM ที่ไม่ได้มีขนาดใหญ่หรืองานที่ซับซ้อน RX Vega 11 ที่มาพร้อมกับซีพียูรุ่นนี้ก็สามารถรองรับได้สบายเช่นกัน สำหรับงานตัดต่อวิดีโอเท่าที่เราทดสอบดูก็สามารถจัดการกับไฟล์วิดีโอแบบ 4K ได้อย่างไม่มีปัญหาครับแต่ว่าควรจะมีหน่วยความจำอย่างน้อย 16GB ขึ้นไปครับ

สำหรับเรื่องราวของ Ryzen 3 2200G และ Ryzen 5 2400G ยังไม่หมดเพียงเท่านี้นะครับ ยังมีเรื่องราวของการปรับแต่งประสิทธิภาพเพิ่มเติมมาพูดคุยกันอีกหลายเรื่องเลยละครับ อย่างเช่นการโอเวอร์คล็อกในส่วนของซีพียู ซึ่งเรายังไม่เคยพูดถึงเลย หรือการโอเวอร์คล็อกกราฟิก RX Vega อย่างไรให้เหมาะสม การปรับแต่งหน่วยความจำอย่างไรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานทั้งหมดของระบบ เรื่องราวเรานี้เราก็จะนำมาเสนอในโอกาสต่อ ๆ ไปครับ

ข้อมูล www.amd.com