Ryzen 3 2200G + RX Vega 8 ท้าชน GT 1030 และ RX 550

Ryzen 3 2200G

ยังคงได้รับความสนใจอย่างต่อเนื่องนะครับสำหรับซีพียูรุ่นเล็กอย่าง Ryzen 3 2200G ที่มาพร้อมกับกราฟิก Radeon RX Vega 8 ในตัว เพราะว่ามีราคาที่ไม่แพงประมาณ 3,600 บาท เท่านั้น และก็มีคนสงสัยว่าถ้าเทียบกับกราฟิกการ์ดรุ่นเล็กอย่าง GT 1030 ของเอ็นวิเดีย และ RX 550 ของเอเอ็มดีเอง RX Vega 8 นี้ จะให้ประสิทธิภาพออกมาขนาดไหน แตกต่างกันมากหรือไม่ บทความนี้ก็มีคำตอบให้แล้วครับ

Ryzen 3 2200G

ก่อนจะไปทดสอบเราก็ต้องขอพูดถึงคุณสมบัติทางด้านฮาร์ดแวร์ของซีพียู Ryzen 3 2200G ที่มาพร้อมกับ Radeon RX Vega 8 กันสักเล็กน้อยก่อนครับ ภายในของ Ryzen 3 2200G ประกอบไปด้วยซีพียูแบบ 4 คอร์ 4 เธรด มีคล็อกสปีดพื้นฐานอยู่ที่ 3.5GHz และสามารถเร่งความเร็วโดยอัตโนมัติได้สูงสุดที่ 3.7GHz ส่วน Radeon RX Vega 8 นั้นก็ได้ถูกสร้างขึ้นมาไว้บน Die เดียวหรือเป็นซิลิกอนชิ้นเดียวกันกับส่วนของซีพียูด้วยเลย โดยมีจำนวน Compute Unit (CU) 8 หน่วย ซึ่งเป็นที่มาของ Vega 8 นั่นเอง ในแต่ละ CU ก็จะมีสตรีมโปรเซสเซอร์หรือเฉดเดอร์อยู่ 64 หน่วย รวมแล้วใน Vega 8 ก็จะมีเฉดเดอร์รวมกันทั้งหมด 512 หน่วย ถ้าจะเทียบกับทางฝั่งเอ็นวิเดียสตรีมโปรเซสเซอร์เล็ก ๆ เหล่านี้ก็คือ CUDA คอร์นั่นเอง สำหรับความเร็วในการทำงานของ RX Vega 8 นั้นสูงสุดที่ 1100MHz และถ้าไม่ได้เล่นเกมความเร็วก็จะลดลงมาที่ 400MHz เพื่อประหยัดพลังงานและช่วยลดความร้อน

Ryzen 3 2200G
AMD Ryzen 5 2400GAMD Ryzen 3 2200G
CPU Cores4 Cores, 8 Threads4 Cores, 4 Threads
CPU Base Clock3.6GHz3.5GHz
CPU Max Boost ClockUp to 3.9GHzUp to 3.7GHz
CPU L1 Cache64K Instruction, 32K Data per core4K Instruction, 32K Data per core
L2+L3 Cache6MB6MB
GPU Cores11 Radeon Vega Cores (704 ALUs)8 Radeon Vega Cores (512 ALUs)
GPU ClockUp to 1250MHzUp to 1100MHz
GPU TMU Count4432
GPU ROP Count16 (32-bit)16 (32-bit)
GPU ACE/HWS Count2-Apr2-Apr
Total FP32 (TFLOPS)1.99 (1.76 GPU/0.231 CPU)1.35 (1.126 GPU/0.224 CPU)
PCIe Gen3 Lanes8x GPU / 4x General / 4x Chipset Link8x GPU / 4x General / 4x Chipset Link
TDP65W65W
DRAM SupportUp to DDR4-2933 (Dual Channel)Up to DDR4-2933 (Dual Channel)
Die Size and Transistors209.78mm2 / ~4.94 billion
Ryzen 3 2200G

สำหรับกราฟิกการ์ดที่เรานำมาทดสอบร่วมในครั้งนี้ก็ได้แก่ ASUS PH-GT1030-O2G ซึ่งเป็นกราฟิกการ์ดที่ใช้ชิป GT 1030 ที่มาพร้อมกับหน่วยความจำ GDDR5 2GB การ์ดรุ่นนี้ได้รับการโอเวอร์คล็อกมาจากโรงงานความเร็วมาตรฐาน GPU Clock ของ GT 1030 จาก NVIDIA จะอยู่ที่ 1227MHz และโหมดบูส 1466MHz ทาง ASUS ได้นำกราฟิกชิปรุ่นนี้มาโอเวอร์คล็อกทำให้ความเร็วของ GPU Clock จะอยู่ที่ 1531MHz (Boost) และอาจจะเพิ่มได้อีกระหว่างการทำงานถ้าอุณหภูมิไม่สูง ส่วนการทำงานทั่วไปก็จะลดความเร็วลงมาที่ระดับ 300MHz หรือต่ำกว่า

ส่วนกราฟิกการ์ด RX 550 ที่นำมาทดสอบร่วมในครั้งนี้เป็นของ PowerColor ที่มาพร้อมกับหน่วยความจำ GDDR5 2GB เช่นกัน RX 550 รุ่นนี้ก็ถูกนำมาโอเวอร์คล็อกเช่นกันทำให้สามารถบูสสูงสุดที่ 1190MHz ก็จะต่ำกว่ากราฟิกการ์ดจากทางฝั่งเอ็นวิเดียอยู่พอตัวครับ ส่วนการทำงานในโหมดทั่วไปก็จะอยู่ที่ราว ๆ 550MHz

อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบ

  • CPU: AMD Ryzen 3 2200G (3.5GHz/3.7GHz)
  • GPU: Integrated graphics Radeon RX Vega 8 (Share 2GB)
    • ASUS PH-GT1030-O2G
    • PowerColor AXRX 550 2GBD5-DHV2/OC
  • MAINBOARD: ASUS PRIME B350-PLUS (BIOS-3803)
  • RAM: KLEVV CRAS DDR4 2800MHz@2933 (4GBx2)
  • SSD: Plextor S3 SATA 6.0Gbps (512GB)
  • HDD: WD Green SATA 6.0Gbps (2TB)
  • PSU: Antec HCP Platinum 850W
  • Monitor: Philips 243V5 Full HD 24”
Ryzen 3 2200G

การตั้งค่าฮาร์ดแวร์ในการทดสอบ

การทดสอบเราปล่อยให้ซีพียูทำงานโดยอัตโนมัติคือจะมีคล็อกสปีดเริ่มต้นที่ 3.5GHz และบูสสูงสุดที่ 3.7GHz ไม่มีการปรับแต่งใด ๆ ในทุกการทดสอบ ไม่ว่าจะเป็นการทดสอบด้วย RX Vega 8 ที่มาพร้อมกับซีีพียูหรือทดสอบกับกราฟิกการ์ดแบบแยกด้วย GT 1030 และ RX 550

สำหรับความเร็วของ RX Vega 8 ที่มาพร้อมกับ Ryzen 3 2200G เราจะทดสอบ 3 ครั้ง โดยครั้งแรกจะใช้ค่าความเร็วแบบ Auto ซึ่งปกติจะทำงานที่ความเร็วระหว่าง 400-1100MHz จากนั้นก็จะโอเวอร์คล็อกความเร็วมาที่ 1320MHz และ 1500MHz ส่วนหน่วยความจำที่ใช้จะเป็นแบบ 4GB x 2 รวม 8GB และจะแชร์หน่วยความจำมา 2GB เพื่อใช้ในการแสดงผล และหน่วยความจำหลักของระบบก็จะเหลือความจุ 6GB สำหรับการทำงาน ความเร็วของหน่วยความจำเราตั้งไว้ที่ 2933MHz ซึ่งเป็นความเร็วมาตรฐานของซีพียู Ryzen 3 2200G รองรับ ดูค่าการทำงานของฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ได้จากโปรแกรม HWiNFO ครับ

Ryzen 3 2200G
Ryzen 3 2200G
Ryzen 3 2200G

ทดสอบด้วยโปรแกรม Realbench R2.44

Ryzen 3 2200G

การทดสอบแรกเราขอเริ่มที่ Realbench R2.44 ก่อนเลยนะครับเพื่อตอบข้อสงสัยที่ว่าหากเราแบ่งพื้นที่ของหน่วยความจำมาถึง 2GB จาก 8GB เพื่อมาใช้เป็นพื้นที่ทำงานของ RX Vega 8 จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานโดยรวมของระบบมากน้อยขนาดไหน ซึ่งผลการทดสอบที่ได้ออกมาก็น่าสนใจมากครับ การแบ่งหรือแชร์หน่วยความจำออกมา 2GB นั้นไม่ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานครับ และเมื่อไปดูในคะแนนการทดสอบก็จะเห็นได้ว่าเมื่อโอเวอร์คล็อก RX Vega 8 ให้ทำงานเร็วขึ้นประสิทธิภาพในการทำงานก็เพิ่มขึ้นมาด้วย ครับโดยเฉพาะในส่วนของ Image Editing นั้นมีคะแนนเพิ่มขึ้นมาสูงกว่าการใช้กราฟิกการ์ดแบบแยกด้วยซ้ำไป ที่เป็นเช่นนี้เราคิดว่าการใช้งานหน่วยความจำของ Realbench นั้นยังไม่มากพอที่จะทำให้ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพในการทำงานก็เป็นได้

ทดสอบด้วย 3DMark Fire Strike

Ryzen 3 2200G

ในส่วนของ 3DMark Score และ Graphics Score กราฟิกการ์ดแบบแยกอย่าง RX 550 และ GT 1030 นั้นให้คะแนนที่สูงกว่า RX Vega 8 อย่างชัดเจน แม้ว่าจะมีการโอเวอร์คล็อกจนสูงถึง 1500MHz แล้วก็ตาม แต่สิ่งที่น่าสนในก็คือ Physics Score นั้น RX Vega 8 นั้นทำคะแนนได้สูงจนน่าตกใจ ซึ่งเป็นไปได้ว่าเกิดจากการประมวลผลอยู่ภายในตัวซีพียูเป็นหลักทำให้การรับส่งข้อมูลเป็นไปอย่างรวดเร็วจนทำคะแนนได้สูง แม้กระทั่งในช่วงที่ไม่ได้มีการโอเวอร์คล็อกก็ทำคะแนนได้สูงพอตัวอยู่แล้ว

ทดสอบด้วยเกม Ashes of the Singularity: Escalation

Ryzen 3 2200G

AoS: Escalation เป็นแบบเกมแนววางแผนแบบ RTS ที่ใช้ทรัพยากรของระบบค่อนข้างมากทั้งในส่วนของซีพียูและกราฟิก เราทดสอบเกมนี้ด้วยความละเอียด 1920×1080 รายละเอียดของภาพปรับ Low ซึ่งมีเพียง GT 1030 เท่านั้นที่ทำเฟรมเรตเฉลี่ยได้เกิน 30FPS เฟรม ส่วน RX 550 ทำเฟรมเฉลี่ยได้ที่ 28FPS เท่านั้น ที่น่าสนใจคือเมื่อโอเวอร์คล็อกความเร็วของ RX Vega 8 มาที่ 1500MHz นั้นทำให้เฟรมเรตเพิ่มขึ้นมาที่ 29.4FPS สูงกว่า RX 550 อยู่เล็กน้อย ถ้าต้องการเล่นเกมนี้ด้วย RX Vega 8 ก็คงจะต้องลดความละเอียดลงมาอยู่ในระดับ 720p (1280×720) แล้วละครับ

ทดสอบด้วยเกม Tom Clancy’s The Division

Ryzen 3 2200G

The Division เป็นเกมยิงในมุมมองบุคคลที่หนึ่ง เกมนี้วางตลาดมาแล้วสองปีและเป็นเกมที่ต้องการพลังกราฟิกมากพอตัวหากใช้รายละเอียดของภาพในระดับสูง แต่สำหรับการปรับรายละเอียดในระดับ Low ที่ความละเอียด 1920×1080 ก็ไม่ได้ทำให้ภาพที่ได้ออกมาดูแย่นัก สำหรับเกมนี้ RX Vega 8 ที่ความเร็วปกตินั้นก็สามารถรับมือได้ครับ เพราะสามารถทำเฟรมเฉลี่ยในระดับ 38.9FPS ถือว่ามาได้ไกลเกินคาดครับ และเมื่อโอเวอร์คล็อกก็ทำให้เฟรมเรตเพิ่มเป็น 42.9 และ 45.4FPS ตามลำดับ ซึ่งเป็นเฟรมเรตที่เบียดกับ GT 1030 เลยทีเดียว แต่ทั้งหมดก็ยังพ่ายแพ้ให้กับ RX 550 ครับ

ทดสอบด้วยเกม GTA V

เกมนี้เปิดตัวมาตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2013 จนถึงตอนนี้ก็เป็นเวลาประมาณ 4 ปีกว่า ๆ แล้ว และถ้าย้อนเวลาไปเมื่อสองสามปีก่อนก็จะมีคำถามยอดฮิตว่าสเปคนี้เล่น GTA V ได้ไหม ก็เหมือนกับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเกมอย่าง PUGB ในตอนนี้นี่แหละครับ แม้จะเป็นเกมที่ออกมานานแล้วแต่ด้วยการที่เป็นเกมแบบ Open World ทำให้เกมนี้ใช้ทรัพยากรของฮาร์ดแวร์ค่อนข้างมาก แต่ด้วยฮาร์ดแวร์รุ่นใหม่เกมนี้กลายเป็นเกมธรรมดาไปครับ (แต่ถ้าเปิดรายละเอียดของภาพแบบสุด ๆ กราฟิกการ์ดเหล่านี้ก็ไปไม่เป็นเหมือนกันครับ) เราทดสอบเกมนี้ที่ความละเอียด 1920×1080 พร้อมรายละเอียดของกราฟิกแบบ Normal ปิด MSAA เปิด AA แต่เปิด AFx2 ก็ทำให้ได้ภาพที่ดูดีในระดับหนึ่งครับ

Ryzen 3 2200G

ส่วนผลการทดสอบที่ออกมาก็ทำได้ดีครับสำหรับ RX Vega 8 ทำเฟรมเฉลี่ยได้ที่ 55.75FPS และดูเหมือนว่าการโอเวอร์คล็อกไปที่ 1500MHz ก็ไม่ได้ช่วยให้เฟรมเรตเพิ่มมามากมายนัก คือเล่นแบบเดิม ๆ ก็สบายแล้ว ในขณะที่ RX 550 ทำเฟรมเฉลี่ยได้ที่ 88.86FPS และ GT 1030 ทำได้ที่ 78.78FPS ก็ถือว่าทำได้ดีเช่นกันสำหรับกราฟิกการ์ดรุ่นเล็กแบบนี้

ทดสอบด้วยเกม Rise of the Tomb Raider

Ryzen 3 2200G

Rise of the Tomb Raider เป็นเกมที่เล่นในมุมมองบุคคลที่สาม เกมนี้เปิดตัวในปี 2015 จนตอนนี้ก็ยังถือว่าเป็นเกมที่ยังคงต้องการฮาร์ดแวร์ในระดับสูงทั้งในส่วนของซีพียูและกราฟิกการ์ด สำหรับผลการทดสอบเราเลือกใช้คะแนนในฉาก Geothermal Valley ซึ่งเป็นฉากสุดท้ายของ Benchmark ที่มาพร้อมกับตัวเกม ฉากนี้จะเรียกใช้ทั้งพลังของซีพียูและพลังของกราฟิกอย่างเต็มที่ RX Vega 8 ในแบบเดิม ๆ สามารถทำเฟรมเรตได้ที่ 30FPS เท่านั้นถือว่าต่ำไปสำหรับเกมนี้เพราะถ้าเล่นจริง ๆ จะเจออาการภาพกระตุกแน่นอน และเมื่อโอเวอร์คล็อกไปที่ 1500MHz ก็สามารถเรียกเฟรมเรตเพิ่มมาได้เป็น 35FPS อีกห้าเฟรมสำหรับเกมนี้ก็ไม่ได้ถือว่าดีมาก แต่ลดอาการภาพกระตุกระหว่างเล่นได้ RX Vega 8 ที่ความเร็ว 1500MHz นี้ทำเฟรมเรตเบียดกับ GT 1030 ได้ แต่ RX 550 ทำได้ดีที่สุดและทิ้งห่างค่อนข้างมาก

ทดสอบด้วยเกม For Honor

Ryzen 3 2200G

For Honor เป็นเกมแบบต่อสู้ในมุมมองบุคคลที่สามจัดได้ว่าเป็นเกมที่มีภาพสวยงาม แต่ใช้กราฟิกไม่หนักมากแต่สเปคแนะนำก็ให้เล่นเกมกราฟิกการ์ดในระดับ GTX 750Ti ขึ้นไป จะว่าไปก็แรงกว่า GT 1030 อยู่เล็กน้อย ดังนั้นการเล่นเกมลื่น ๆ ด้วย RX Vega 8 ก็ไม่น่าจะเป็นปัญหา และในการทดสอบ RX Vega 8 ความเร็วปกติก็ทำเฟรมเรตได้ที่ 39FSP สำหรับเราก็ถือว่าไม่เลว แต่มาตรฐานของเกมเองบอกว่าควรจะเล่นได้อย่างน้อยที่ 45 FPS จึงจะเหมาะสม แต่เราคิดว่าระดับ 39FPS นี่ก็ดีแล้วสำหรับกราฟิกรุ่นเล็กที่ติดมากับซีพียู และเมื่อโอเวอร์คล็อก RX Vega 8 มาที่ 1500MHz ก็สามารถทำเฟรมเรตได้ที่ 44FPS ก็เฉียดไปนิดหนึ่ง ส่วน RX 550 กับ GT 1030 ทำเฟรมเรตไปสบาย ๆ ที่ 56FPS และ 52FPS ตามลำดับ ก็ถือว่าผ่านสำหรับความต้องการขั้นต่ำของเกม

ทดสอบด้วยเกม PLAYERUNKNOWN’S BATTLEGROUNDS

ถ้าไม่ทดสอบเกม PUBG หลายคนคงจะเคืองเราก็เลยลองทดสอบด้วยการปรับภาพที่ความละเอียด 1080p ปรับรายละเอียดภาพแบบ Very Low ทั้งหมด ยกเว้น Anti-Aliassing ปรับเป็น Medium และ View Distance ปรับเป็น High คุณภาพของภาพก็จะได้ประมาณนี้ครับ (จับภาพเป็นไฟล์ .JPG โดยใช้ Stream ไม่มีการปรับแต่ง) ก็ถือว่าพอใช้ได้ครับ เฟรมเรตอยู่ประมาณ 29-30 FPS เวลาปะทะกันก็จะลดไปแถว ๆ 25 FPS หรือต่ำกว่า นี่คือเฟรมเรตในช่วงที่เราปรับความเร็วของ RX Vega 8 มาที่ 1500MHz แล้ว ดังนั้นถ้าต้องการเฟรมเรตที่สูงกว่านี้คงต้องความละเอียดของภาพลงมาที่ 1600×900 หรือไม่ก็ลงไปที่ 720p (1280×720) ก็จะทำให้เฟรมสูงขึ้นมาในระดับ 50-60 FPS ได้

Ryzen 3 2200G

Ryzen 3 2200G ที่มาพร้อมกับ RX Vega 8 เหมาะกับใคร

  1. คนที่ต้องการประกอบพีซีราคาประหยัดเพื่อใช้ทำงานทั่วไป ตกแต่งไฟล์ภาพ รวมถึงการตัดต่อวิดีโอระดับ Full HD ที่งานไม่ซับซ้อนมากนัก เช่นตัดคลิปวิดีโอจากสมาร์ทโฟน สามารถประกอบเป็น HTPC สำหรับความบันเทิงอย่างการรับชมภาพยนตร์ในระดับ 4K ได้อย่างสบาย
  2. เหมาะสำหรับคนที่เล่นเกมออนไลน์ที่ต้องการกราฟิกไม่สูงนักเช่นเกมอย่าง LOL, DOTA2, CS:GO, FIFA Online และ Overwatch เป็นต้น หรือถ้าจะเล่นเกมแบบที่ต้องการกราฟิกหนัก ๆ ก็สามารถปรับ Full HD แล้วเลือกรายละเอียดของภาพในระดับต่ำ แต่ถ้าต้องการภาพที่สวยงามคงต้องลดความละเอียดลงมาในระดับ HD (720p) ก็จะสามารถเพิ่มรายละเอียดของภาพให้สวยงามได้ แต่ Ryzen 3 2200G ไม่เหมาะกับการเล่นเกมไปด้วยสตรีมเกมไปด้วยแนะนำให้ขยับไปใช้ Ryzen 5 2400G ที่มี Radeon RX Vega 11 จะเหมาะกว่าเพราะเป็นซีพียูแบบ 4 คอร์ 8 เธรด และมี Vega Core ถึง 11 หน่วย
Ryzen 3 2200G
sdr

บอกเล่าประสบการณ์ส่งท้าย

การมาของ Ryzen 3 2200G ถือว่าเป็นการเติมเต็มให้กับแพลตฟอร์ม Ryzen รุ่นราคาประหยัดได้อย่างสมบูรณ์แบบครับ เพราะก่อนหน้านี้แม้เรามี Ryzen 3 1200 กับ Ryzen 3 1300X ที่ราคาไม่สูง แต่สุดท้ายเราก็ต้องจัดเตรียมงบอย่างน้อยสักสามพันบาทเพื่อกราฟิกการ์ดที่พอจะอาศัยทำงานและเล่นเกม หรือประหยัดจริง ๆ ไม่เล่นเกมใช้ทำงานก็ยังต้องเสียเงินเพิ่มอีกอย่างน้อยสัก 1500 บาท สำหรับกราฟิกการ์ดรุ่นเล็ก ๆ ในขณะที่คนที่เลือกใช้ Core i3 นั้นสามารถนำไปทำงานได้เลยเพราะมีกราฟิกมาในตัว

แต่ว่าพอมี Ryzen 3 2200G ออกมาก็ถือว่าปิดช่องว่างตรงนี้ได้อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยราคาประมาณ 3,600 บาท ได้ทั้งซีพียูแบบ 4 คอร์ พร้อมกับกราฟิกการ์ดประสิทธิภาพสูงพอตัวที่สามารถทำงานได้เล่นเกมได้ ยิ่งถ้าใครเล่นเกมเฉพาะค่ายการีน่า หรือเล่นพวก DOTA2 ซีพียูรุ่นนี้ถือว่าตอบโจทย์สุด ๆ คุ้มจนไม่รู้จะว่าอย่างไร แถมเมนบอร์ดก็มีราคาถูกอีกด้วย ซึ่งทำให้เรามีงบประมาณเหลือพอที่จะไปจัดการกับหน่วยความจำที่มีราคาสูงเหลือเกิน

ก็ย้ำอีกครั้งนะครับว่าในการทดสอบของเรานั้นใช้หน่วยความจำเพียงแค่ 8GB เท่านั้น และยังแบ่งมาใช้สำหรับการแสดงผลถึง 2GB นั่นแสดงให้เห็นว่าถ้าคุณมีงบประมาณจำกัดก็สามารถเลือกใช้หน่วยความจำแบบ 4GB สองโมดูลเพื่อติดตั้งให้ทำงานแบบ Dual Channel ซึ่งจะช่วยให้ประสิทธิภาพในการทำงานทั้งในส่วนของซีพียูและกราฟิกทำงานได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้นครับ ดูได้จากผลการทดสอบของเราที่ผ่านมา แม้จะมีหน่วยความจำเหลือสำหรับการทำงานและเล่นเกมเพียง 6GB ก็ยังสามารถรองรับเกมหนัก ๆ ได้ทั้งหมด แม้ว่าจะต้องเล่นด้วยภาพที่มีรายละเอียดต่ำสุดก็ตาม แต่ทุกเกมก็เล่นด้วยความละเอียด Full HD ก็ต้องถือว่าไม่ธรรมดาและบอกได้เลยว่าแรงเกินตัวด้วยซ้ำไป

การแชร์หน่วยความจำมาใช้ในการแสดงผลถ้าต้องการเล่นเกมหนัก ๆ แนะนำให้แชร์ไว้ที่ 2GB ครับ เพราะเกมเดี๋ยวนี้ต้องการหน่วยความจำสำหรับการแสดงผลมากพอสมควร หรือถ้าจะแชร์ให้น้อยกว่านี้ก็แนะนำให้ตั้งค่าที่ 1GB ครับ การตั้งค่าการแชร์หน่วยความจำนี้ก็ต้องเข้าไปทำใน BIOS ของเมนบอร์ดครับ อย่าปล่อยให้ตั้งค่าเป็น Auto เพราะบางเกมจะมองว่าเรามีหน่วยความจำไม่เพียงพอไม่สามารถเล่นได้ก็มี

และในการทดสอบทั้งหมดนี้เรายังไม่ได้โอเวอร์คล็อกความเร็วของซีพียูเพิ่มเลยนะครับปล่อยให้ใช้ความเร็วตามปกติเป็นหลัก เพราะว่าตอนที่เราทดสอบเราใช้ฮีตซิงค์ที่รองรับ TDP 65 วัตต์ เท่ากันกับฮีตซิงค์มาตรฐานของ Ryzen 3 2200G เพียงแต่หน้าตาไม่เหมือนกันเนื่องจากเราใช้ฮีตซิงค์จากซีพียูรุ่นเก่าครับ และถ้าต้องการโอเวอร์คล็อกเต็มรูปแบบทั้งซีพียูและกราฟิกก็คงต้องมองหาฮีตซิงค์ที่รองรับ TDP ขนาด 95 วัตต์ หรือ 120 วัตต์ ขึ้นไปได้ก็จะดีมากครับ

สำหรับคนที่ต้องการประสิทธิภาพเต็ม ๆ จาก Ryzen 3 2200G แนะนำว่าให้มองหาเมนบอร์ดที่เป็นชิปเซต B350 เป็นหลักครับเพราะสามารถโอเวอร์คล็อกได้อย่างเต็มรูปแบบไม่ว่าจะเป็นซีพียู กราฟิก และหน่วยความจำ แต่ถ้าใครงบน้อยจริงเลือกใช้เมนบอร์ดชิปเซต A320 ก็ได้ครับ แต่จะปรับความเร็วเพิ่มได้เฉพาะในส่วนของหน่วยความจำเท่านั้นครับ

เอาล่ะครับเราคงจะได้เห็นผลการทดสอบและประสิทธิภาพในการทำงานของ Ryzen 3 2200G ที่มี Radeon RX Vega 8 ในตัวไปแล้วนะครับว่าสามารถที่จะนำมาใช้เล่นเกมได้ดีตามสมควร แม้ว่าในการเล่นเกมทั้งหมดของเรานั้นต้องปรับภาพในระดับต่ำก็ตาม แต่เมื่อมองในแง่ที่ว่า RX Vega 8 เป็นเพียงกราฟิกแบบรวมก็ต้องถือว่าทำได้ดีเกินตัวไปมากเลยทีเดียว

Share via
Copy link