อัปเกรดซีพียูจาก Ryzen 7 2700X เป็น Ryzen 7 5800X 8C/16T เท่าเดิม หรือจะกระโดดไป Ryzen 9 5900X 12C/24T ดี

มาเล่าเรื่องราวย่อ ๆ ของการอัปเกรดซีพียูในครั้งนี้กันก่อนครับ โจทย์ก็คือต้องการเพิ่มประสิทธิภาพการประมวลผลด้วยซีพียูให้สูงขึ้น ซึ่งงานส่วนใหญ่จะใช้พลังจากซีพียูเป็นหลัก เช่นการเปิดแอปพิลเคชันหลายตัวพร้อมกัน เปิดการจำลองพีซีด้วย WMware เพื่อใช้ทดสอบซอฟต์แวร์ต่าง ๆ โดยไม่ต้องไปลงกับเครื่องจริง ซึ่งบ้างครั้งก็เปิดเครื่องจำลองมากกว่าหนึ่งเครื่อง รวมไปถึงงานด้านตัดต่อวิด๊โอที่ใช้โปรแกรม Davinci Resolve 18 รุ่นฟรี ซึ่งรุ่นฟรีนี้จะใช้พลังของซีพียูล้วน ๆ จะมีใช้การ์ดจอช่วยพรีวิวได้บ้างในระหว่างการตัดต่อ แต่การ Export และการทำงานอื่น ๆ จะต้องใช้พลังจากซีพียูแบบเต็ม ๆ ดังนั้นการอัปเกรดที่คุ้มค่าที่สุดของพีซีเครื่องนี้คือการเปลี่ยนเป็นซีพียูรุ่นใหม่นั่นเอง

ในการอัปเกรดนี้เรามีซีพียูตัวเลือกในมืออยู่สองรุ่นคือ Ryzen 7 5800X ที่ยังคงเป็นซีพียูแบบ 8 คอร์ 16 เธรด เหมือนเดิม และอีกหนึ่งรุ่นก็คือ Ryzen 9 5900X ที่เป็นซีพียูตัวโหดระดับ 12 คอร์ 24 เธรด แม้จะไม่ได้ทดสอบออกมาเป็นตัวเลขเราก็ทราบดีครับกว่าการอัปเกรดจาก Ryzen 7 2700X ที่เป็นสถาปัตยกรรม Zen+ มาเป็นซีพียูสถาปัตยกรรม Zen 3 นั้นมันแรงขึ้นอยู่แล้ว แต่เราก็อยากรู้ว่าแรงประมาณไหน ซึ่งทั้งหมดยังคงทำงานอยู่บนเมนบอร์ดรุ่นเก่าอย่าง GIGABYTRE B450 AURUS ELITE ที่เปิดตัวมาพร้อมกับ Ryzen 7 2700X ในปี 2018 โน่นเลย

ความแตกต่างของซีพียู 2700X VS 5800X VS 5900X

สำหรับพื้นฐานของ Ryzen 7 2700X นั้นคือซีพียูที่ใช้สถาปัตยกรรม Zen+ หรือ Zen Refresh ที่มีการปรับปรุงเพียงเล็กน้อยจากซีพียูในกลุ่ม Ryzen 1000 Series แต่ก็ถือว่า Ryzen 2000 Series นั้นมาตอกย้ำความสำเร็จในการกลับมาสู่ตลาดซีพียูได้อย่างยิ่งใหญ่และสร้างแรงกระเพื่อมไปถึงซีพียูค่ายฟ้าให้มีการปรับตัวอย่างที่เราทราบกันดี

เทียบคุณสมบัติทางด้านเทคนิคของ Ryzen 7 2700X, Ryzen 7 5800X และ Ryzen 5900X

ส่วนซีพียู Ryzen 7 5800X และ Ryzen 9 5900X นั้นใช้สถาปัตยกรรม Zen 3 เปิดตัวมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2020 ก็ยังถือว่าเป็นซีพียูที่ทันสมัยอยู่นะ แม้ว่าตอนนี้จะมีการเปิดตัว Ryzen 7000 Series ที่เป็นซ็อกเก็ต AM5 ออกมาแล้วก็ตาม ข้อมูลจากผู้ผลิตเมนบอร์ดได้รายงานออกมาว่าซีพียู Ryzen 5000 Series กับเมนบอร์ดแพลตฟอร์ม AM4 จะเป็นชิปเซตอะไรบ้างก็ขึ้นอยู่กับทางผู้ผลิตเมนบอร์ต ยังคงมีวางจำหน่ายอย่างเป็นทางการไปจนถึงสิ้นปี 2023 เป็นอย่างน้อย ซึ่งถ้าเป็นไปอย่างที่ข้อมูลบอก ก็เท่ากับว่าแพลตฟอร์ม AM4 จะเข้ามาจำหน่ายในแบบที่เป็นทางเลือกของความคุ้มค่า ส่วนแพลตฟอร์ม AM5 ที่เพิ่งเปิดตัวมาก็จะเป็นทางเลือกในกลุ่มที่เน้นประสิทธิภาพสูงไปโดยปริยาย

ย้อนกลับมาดูรายละเอียดของ Ryzen 7 5800X และ Ryzen 9 5900X กันสักเล็กน้อยครับ ซีพียูทั้งสองรุ่นนี้เป็นซีพียูสถาปัตยกรรม Zen 3 ด้วยกันทั้งคู่ และใช้ดีไซน์ของซีพียูในลักษณะของ Chiplet คือมีได (die) หรือชิปหลายตัวรวมอยู่ในแพ็คเกจซีพียูเดียวกัน โดยจะแบบออกเป็นสองส่วนหลัก ๆ คือ CCD (Core Complex Die) ที่ทำหน้าที่ของคอร์ประมวลผลของซีพียู โดยทั่วไป CCD หนึ่งหน่วยจะมีคอร์ประมวลผลสูงสุดอยู่ที่ 8 คอร์ ดังนั้นซีพียูที่มีคอร์ประมวลผลมากกว่า 8 คอร์ ก็จะเป็นต้องมี CCD มากกว่าหนึ่งตัวขึ้นไป เช่นใน Ryzen 7 5900X ที่เป็นซีพียูแบบ 12 คอร์ 24 เธรด ก็จะใช้ CCD สองชิป โดยแต่ละชิปจะมีคอร์ประมวลผล 6 คอร์ และไดอีกส่วนที่อยู่ในแพ็กเกจของตัวซีพียูก็คือ IOD (Input/Output Die) ทำหน้าที่เป็นส่วนควบคุมหน่วยความจำ และควบคุมบัสของระบบรวมไปถึงเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ผ่านทาง PCI-Express ด้วย ดูรูปประกอบเพื่อความเข้าใจนะครับ

ซีพียู Ryzen 5000 Series รุ่นที่เป็น 8 คอร์ และต่ำกว่านั้นจะมี CCD หนึ่งชุด ซึ่งรวมถึงซีพียู Ryzen 7 5800X ที่เรานำมาอัปเกรดในวันนี้ด้วย
ซีพียู Ryzen 5000 Series ที่มีมากกว่า 8 คอร์ จะใช้ CCD จำนวนสองชุด ถ้าเป็นรุ่นสูงสุดก็จะเป็นซีพียูแบบ 16 คอร์ 32 เธรด ก็จะใช้ CCD แบบ 8C/16T สองตัวทำงานร่วมกัน ส่วน Ryzen 9 5900X ที่เป็นซีพียูแบบ 12 คอร์ 24 เธรด จะใช้ CCD สองชุดเช่นกัน แต่ว่าเป็น CCD แบบ 6C/12T จำนวนสองตัว
ถ้าเราเปิดดูภายในของแพ็คเกจซีพียูออก เราก็จะพบการวางตำแหน่งของ Chiplet ทั้งหมดในลักษณะนี้

ก็ฝากไว้คร่าว ๆ ประมาณนี้ครับสำหรับเรื่องของสถาปัตยกรรมซีพียูที่มีความแตกต่างกันระหว่าง Ryzen 7 2700X กับ Ryzen 7 5800X และ Ryzen 9 5900X ขั้นตอนต่อไปก่อนที่เราจะอัปเกรดซีพียูได้นั้นก็ต้องเตรียมเมนบอร์ดให้พร้อมก่อนด้วยการอัปเดตไบออส (BIOS) ส่วนรายละเอียดและข้อควรระวังมีอะไรบ้างไปติดตามกันต่อครับ

เตรียมพร้อมก่อนอัปเกรดซีพียู

ตรวจสอบเมนบอร์ดว่ารองรับซีพียูที่ต้องการเปลี่ยนหรือไม่

นี่ถือว่าเป็นขั้นตอนสำคัญก่อนที่จะลงมือซื้อซีพียูใหม่เลยก็ว่าได้ ให้เราไปตรวจสอบดูก่อนเลยว่าเมนบอร์ดรุ่นที่เราใช้งานอยู่นั้นรองรับซีพียูที่เราต้องการจะอัปเกรดหรือไม่ วิธีที่ง่ายที่สุดก็คือตรวจสอบรุ่นยี่ห้อเมนบอร์ดทีเราใช้ แล้วก็เข้าไปยังเว็บไซต์ผู้ผลิตเมนบอร์ดของเรา ส่วนวิธีดูว่าเมนบอร์ดที่เราใช้งานอยู่ว่าเป็นรุ่นอะไรก็ทำได้หลายวิธีตั้งแต่เปิดเคสแล้วไปดูชื่อรุ่นที่ตัวเมนบอร์ดโดยตรง หรืออีกวิธีก็คือดาวน์โหลดโปรแกรม CPU-Z มาติดตั้ง จากนั้นเรียกโปรแกรม CPU-Z ให้ทำงานแล้วคลิกไปที่แท็บ Mainboard เราก็จะได้ยี่ห้อและรุ่นของเมนบอร์ด รวมไปถึงรุ่นของไบออสในเมนบอร์ดของเรา

ตรวจสอบรุ่นเมนบอร์ดใช้ชัดเจน

ที่สำคัญคือเราควรตรวจสอบรุ่นของเมนบอร์ดที่ใช้อยู่ให้ชัดเจน เช่นเมนบอร์ดที่เราใช้งานอยู่ตอนนี้คือ GIGABYTE B450 AORUS ELITE (Rev 1.0) เมนบอร์ดบางรุ่นจะใช้ชื่อรุ่นเดิมแต่อาจจะมีการเปลี่ยนเวอร์ชันย่อยเช่นเป็น Rev 2.0 ก็มี ซึ่งบางทีเขาเปลี่ยนพวกชิปควบคุมต่าง ๆ แม้ว่าการทำงานโดยรวมจะเหมือนกัน แต่ในแง่ของไบออสแล้วอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงและแตกต่างกัน ดังนั้นก็อย่าลืมดูพวกรุ่นย่อยของเมนบอร์ดให้ดี เพราะถ้าอัปเดตพลาดแล้วก็อาจจะทำให้เมนบอร์ดใช้งานไม่ได้

อ่านรายละเอียดของไบออสให้ดี

นอกจากนี้ เมนบอร์ดบางรุ่นโดยเฉพาะเมนบอร์ด AMD AM4 ที่ใช้ชิปเซตรุ่นเล็กอย่าง A320 มักจะมีข้อจำกัดในการอัปเดตไบออส เนื่องจากความจุของชิปไบออสมีจำนวนจำกัด ไม่สามารถใส่ข้อมูลซีพียู AMD ซ็อกเก็ต AM4 ที่มีอยู่ทั้งหมดได้ ทำให้เวลาเราอัปเดตไบออสไปแล้วเมนบอร์ดก็จะรองรับเฉพาะซีพียูรุ่นใหม่เท่านั้น อาจจะไม่สามารถย้อนกลับมารองรับซีพียูรุ่นปัจจุบันที่เรากำลังใช้งานอยู่ได้ เช่นถ้าเราใช้ Ryzen 1000 Series อยู่ แล้วต้องการอัปเดตไบออสไปเพื่อให้รองรับ Ryzen 3000/5000 Series พออัปเดตเสร็จแล้ว เราต้องเปลี่ยนมาใช้ซีพียูใหม่ด้วยเลย เราจะไม่สามารถใช้งาน Ryzen 1000 Series บนเมนบอร์ดตัวนี้ได้อีกต่อไป ถ้าเราอัปเดตไบออสไปโดยที่ยังไม่มีซีพียูใหม่อยู่ในมือ แบบนี้ก็ยังไม่ควรจะไปอัปเดตไบออสล่วงหน้าครับ

คืนค่าปกติก่อนอัปเกรดไบออส

ข้อควรระวังอีกนิด ก่อนอัปเดตไบออสแนะนำให้เปลี่ยนการตั้งค่าในไบออสให้เป็นปกติก่อนด้วยการคืนค่า โดยเฉพาะใครที่โอเวอร์คล็อกซีพียูหรือโอเวอร์คล็อกแรมไว้ก็ให้คืนค่าเป็นปกติก่อนอัปเดตไบออสด้วยจะดีมากเพื่อป้องกันความผิดพลาดของการทำงานครับ

เครื่องที่ใช้ในการทดสอบ

  • CPU: Ryzen 7 2700X (8C/16) , Ryzen 7 5800X (8C/16T), Ryzen 9 5900X (12C/24T)
  • Mainboard: GIGABYTE B450 AORUS ELITE
  • RAM: TOUGHRAM Z-ONE DDR4 3200MHz 32GB (8GB x 4)
  • Graphics: Power Color Radeon RX 5500 XT 8GB
  • SSD NVMe: PLEXTOR PX-512M9PGN+ (512GB)
  • SSD SATA: PLEXTOR PX-512M/VG (512GB)
  • HDD: WD80EFZX-68UW8N0 (8TB)
  • PSU: Thermaltake TOUGHPOWER GRAND RGB 650W GOLD

เครื่องที่ใช้ทดสอบนี้ก็เป็นเครื่องที่ถูกใช้งานเป็นประจำอยู่ทุกวันครับ การ์ดจอที่ใช้ก็ไม่ได้แรงมาก เพราะไม่ได้ใช้เล่นเกมเป็นหลักมีไว้สำหรับช่วยประมวลผลด้านกราฟิกและตัดต่อวิดีโอเท่านั้น

ทดสอบด้วย AIDA64 Memory Bandwidth

การทดสอบด้านแบนด์วิดธ์ของหน่วยความจำจะเห็นได้ว่ามีกความแตกต่างกันพอสมควรระหว่าง Ryzen 7 2700X กับ Ryzen 7 5800X โดยเฉพาะในส่วนของ Memory Write จะเห็นได้ว่าน้อยกว่ากันเกือบครึ่ง ในขณะที่ Ryzen 9 5900X ยังอยู่ในระดับเดียวกันกับ Ryzen 7 2700X ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ Ryzen 7 5800X นั้น ปรับมาใช้ดีไซน์ที่เป็น Chiplet และมีการใช้ CCD ตัวเดียว ลองย้อนกลับไปดูภาพประกอบทางด้านบน จึงทำให้ช่องทางในการติดต่อกับหน่วยความจำผ่านทาง Infinity Fabric เหลือเพียงช่องทางเดียว จึงทำให้คะแนนในการเขียนข้อมูลนั้นหายไปครึ่งหนึ่ง ในขณะที่ Ryzen 9 5900X นั้นใช้ CCD สองตัว จึงยังคงรักษาผลรวมในการทำงานไว้ได้

นี่ต้องบอกว่าเป็นจุดอ่อนของการใช้ดีไซน์แบบ Chiplet ที่ต้องมีค่าความหน่วงเพิ่ม ทำให้คะแนนเรื่องหน่วยความจำของ Ryzen 7 5800X แบะ Ryzen 7 5900X จึงเป็นรองซีพียูรุ่นเก่าอย่าง Ryzen 7 2700X อย่างไรก็ตามเรื่องของ Memory Bandwidth มันก็ไม่ใช่เรื่องราวทั้งหมดของประสิทธิภาพ เดี๋ยวเราไปดูผลการทดสอบอื่น ๆ ก็จะเข้าใจเองครับว่า สถาปัตยกรรมที่ใหม่กว่าให้ประสิทธิภาพที่ดีกว่าได้อย่างไร

การทดสอบด้วย AIDA64 (Integer)

การทดสอบครั้งที่สองยังคงอยู่กับโปรแกรม AIDA64 แต่เราจะมาดูคะแนนในส่วนของการประมวลผลชุดคำสั่งด้าน Integer หรือเลขจำนวนเต็มกันครับ จากคะแนนเราเห็นได้อย่างชัดเจนเลยนะครับว่าซีพียูสถาปัตยกรรมใหม่อย่าง Ryzen 7 5800X ที่ยังคงมี 8C/16T เท่าเดิม ก็สามารถแสดงประสิทธิภาพในการทำงานที่เหนือกว่าได้อย่างชัดเจน และยิ่งพอเป็น Ryzen 9 5900X ที่เพิ่มไปเป็น 12C/24T ก็ยิ่งเห็นประสิทธิภาพที่ดีและแตกต่างกันมากยิ่งขึ้น พอมาดูแบบนี้แล้วเรื่อง Memory Bandwidth ที่ดูน้อยกว่ากลายเป็นเรื่องเด็ก ๆ ที่ไม่สำคัญไปเลย

การทดสอบด้วย AIDA64 (Cryptography)

การทดสอบทางด้าน Crypto หรือเรียกเต็ม ๆ ว่า Cryptography นั้นที่จริงแล้วมันก็คือการเข้ารหัสและการถอดรหัสข้อมูลนั่นเองครับ และผลการทดสอบก็ขี้ชัดเช่นเคยว่าซีพียูที่ใช้สถาปัตยกรรม Zen 3 นั้นเร็วกว่า Zen+ อย่างเห็นได้ชัด แม้ว่าจะมีคอร์และเธรดที่เท่ากันก็ตาม และยิ่งเพิ่มคอร์เพิ่มเธรดเข้าไปความแตกต่างก็ยิ่งชัดเจน

การทดสอบด้วย AIDA64 (Compute)

เป็นการทดสอบหัวข้อสุดท้ายจากโปรแกรม AIDA64 แล้วละครับ การทดสอบหัวข้อนี้จริง ๆ แล้วก็คือการประมวลผลชุดคำสั่งทางด้านคณิตศาสตร์นั่นเองครับ คือนอกจากจะคำนวณผลออกมาแล้วยังต้องมาสร้างเป็นกราฟิกอีกด้วย แต่ว่าเป็นลักษณะของ Off screen นะครับ คือประมวลผลแล้วไปเก็บไว้ในหน่วยความจำไม่ได้แสดงออกที่หน้าจอ และก็เช่นเคยครับผลการทดสอบที่ได้จะเห็นได้ว่า แม้จะเป็น 6C/12T เหมือน ๆ กัน แต่ Ryzen 7 5800X นั้นก็แรงกว่า Ryzen 7 2700X เกินสองเท่าไปเลย

ถ้าลองมาเปรียบเทียบเป็นตัวเลขแบบเต็ม ๆ เราก็จะเห็นได้ว่าแม้คะแนนด้านแบนด์วิดธ์ของหน่วยความจำนั้นจะลดลงเมื่อเทียบระหว่างสถาปัตยกรรม Zen+ มาเป็น Zen 3 อันเนื่องมาจากการใช้ Chiplet แต่ด้วยประสิทธิภาพในการทำงานด้านอื่น ๆ ที่เพิ่มมากขึ้น จึงทำให้แบนด์วิดธ์ของหน่วยความจำเป็นองค์ประกอบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น มาดูการทดสอบในส่วนถัดไปเราจะได้เห็นความแตกต่างที่ชัดเจนยิ่งขึ้นไปอีก

ทดสอบด้วย Blackmagic RAW Speed Test

Blackmagic RAW Speed Test เป็นซอฟต์แวร์สำหรับทดสอบประสิทธิภาพของซีพียูและจีพียู ในการทำงานร่วมกับไฟล์ RAW ที่เป็นไฟล์วิดีโอมาตรฐานของทาง Blackmagic เอง ซึ่งแต่เดิมการทำงานของไฟล์ RAW ไม่ว่าจะเป็น RAW ที่เป็นภาพนิ่ง หรือเป็น RAW ของวิดีโอ จะต้องเพิ่งพาประสิทธิภาพในการทำงานของซีพียูเป็นหลัก การใช้กราฟิกหรือจีพียูช่วยงานด้านการประมวลผลไฟล์ RAW นี้ เพิ่งมามีในยุคหลัง ๆ นี้เองครับ เพราะปกติแล้วกราฟิกชิปหรือจีพียูนั้นแม้ว่าจะมีฮาร์ดแวร์สำหรับการเข้ารหัสและถอดรหัสวิดีโอในตัว แต่ฮาร์ดแวร์เหล่านั้นก็ทำงานร่วมกับไฟล์ที่เป็นมาตรฐานเฉพาะอย่างเช่น .MP4 เท่านั้น ไฟล์วิดีโอหรือภาพนิ่งที่เป็นแบบ RAW นั้น ไม่ได้ถือว่าเป็นมาตรฐาน เพราะมันจะถูกกำหนดมาจากแบรนด์ผู้ผลิตต่าง ๆ เอง เป็นเทคนิคในการเข้ารหัสข้อมูลที่แต่ละคนใช้ ไม่ได้เป็นมาตรฐานกลางดังนั้นการทำงานร่วมกับไฟล์ RAW ก่อนหน้านี้จึงต้องพึ่งพาความสามารถของซีพียูเป็นหลักครับ

พูดมาซะยืดยาวเราไปดูผลการทดสอบของ Blackmagic RAW Speed Test กันครับ โดยการทดสอบนี้จะเป็นการทดสอบด้วยไฟล์ RAW 4 รูปแบบ คือฺ BRAW 12:1, BRAW 8:1, BRAW 5:1 และ BRAW 3:1 โดยแต่ละรูปแบบก็จะแบ่งเป็นวิดีโอขนาด FHD, 4K, 6K และ 8K เราจะแบ่งกราฟผลการทดสอบเป็นสองส่วนนะครับ เพื่อความชัดเจนในการเปรียบเทียบ

เป็นไงกันบ้างครับเห็นผลการทดสอบแล้ว เรียกได้ว่าประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมาเป็นเท่าตัวเลยทีเดียวสำหรับการเปลี่ยนจาก Ryzen 7 2700X มาเป็น Ryzen 7 5800X ที่ยังคงเป็นซีพียู 8C/16T เรียบได้ว่าใครที่ทำงานด้านวิดีโอหรือสายการทำคอนเทนต์ต่าง ๆ การเปลี่ยนจากซีพียูรุ่นเดิมมาเป็นซีพียูใหม่แม้จะมีคอร์เธรดที่เท่าเดิมก็สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้แล้ว เปลี่ยนแค่ซีพียูอย่างเดียว อุปกรณ์อื่น ๆ ยังคงเดิม อ้อลืมบอกไปฮีตซิงค์เราก็ยังคงใช้ Wraith prism เช่นเดิม รวมไปถึงตอนที่ทดสอบ Ryzen 9 5900X ที่เป็นซีพียู 12C/24T เราก็ยังคงใช้ Wraith prism ครับ

ทดสอบด้วย 3DMark CPU Profile

CPU Profile เป็น Benchmark ใหม่ที่ผู้พัฒนา 3DMark เพิ่มเติมเข้ามาในช่วงปีนี้ครับ เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ทดสอบประสิทธิภาพการประมวลผลของซีพียูโดยตรง สำหรับการทดสอบของ CPU Profile นั้นจะเป็นลักษณะของการมอบหมายงานให้ซีพียูทำงานเป็นเธรด ๆ ไป โดยเริ่มจาก 1 Thread, 2 Threads, 4 Threads, 8 Threads, 16 Threads และ Max Threads (ใช้เธรดตามจำนวนที่ซีพียูนั้น ๆ รองรับ)

สำหรับจำนวนเธรดที่ใช้ในการทดสอบซีพียูนั้น ไม่ได้ถูกกำหนดขึ้นมาโดยดูจากข้อมูลของซีพียูที่ใช้ในการทดสอบ แต่เป็นจำนวนเธรดมาตรฐานที่ ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ได้กำหนดเป็นตัวงานเพื่อให้ซีพียูใช้ในการทดสอบครับ ดังนั้นคะแนนการทดสอบระหว่างในช่วง 1-4 Threads ของ Ryzen 7 5800X และ Ryzen 9 5900X จึงไม่แตกต่างกันมากนัก แถม Ryzen 9 5900X ที่ 1 Thread ยังได้คะแนนน้อยกว่าอีก แต่ก็เป็นเพราะว่าโปรแกรมเริ่มทดสอบจาก Max Threads ก่อนแล้วค่อย ๆ ลดจำนวนเธรดลง แต่ความร้อนสะสมของตัวซีพียูยังคงอยู่ทำให้ Ryzen 9 5900X ที่เป็นซีพียู 12C/24T แต่ยังคงใช้แค่ฮีตซิงค์ธรรมดาเจอความร้อนสะสมเข้าไปเวลาทำงานที่ 1 Thread จึงไม่สามารถบูตความเร็วของคอร์ได้เต็มที่นัก แต่พอมาดูการทำงานที่มีจำนวนเธรดในระดับ 8 และ 16 Threads คะแนนของ Ryzen 9 5900X นั้นเริ่มทิ้งห่างเพราะมีจำนวนคอร์และเธรดที่ว่างพอเพื่อมาสนับสนุนการทำงานที่มีจำนวนน้อย เมื่อเทียบกับ 12C/24T นั่นเองครับ

มาดูการเปรียบเทียบเป็น % กันบ้างครับ ระหว่าง Ryzen 7 2700X กับ Ryzen 7 5800X ประสิทธิภาพในการทำงานแบบคอร์ต่อคอร์ เธรดต่อเธรดนั้น เพิ่มขึ้นมาในระดับ 60% ถึง 78% เลยทีเดียว และนี่ก็เป็นพลังจากซีพียูล้วน ๆ ซึงมันก็พอจะชี้ชัดแล้วว่าถ้าใครใช้ซีพียู Ryzen 7 2700X และรวมทั้งซีพียู Ryzen 2000 Series รุ่นอื่น การอัปเกรดมาเป็น Ryzen 5000 Series นั้นช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมได้อย่างสบาย ๆ โดยไม่ต้องใช้เงินลงทุนมากนัก

ทดสอบด้วย 7Zip (Compress/Decompress)

7Zip เป็นซอฟต์แวร์สำหรับการบีบอัดข้อมูลเช่นเดียวกันกับโปรแกรม WinZip และ WinRAR ที่หลายคนคุ้นเคย แต่ 7Zip จะเป็นโปรแกรมแบบโอเพ่นซอร์สที่ใช้งานได้ฟรีอย่างเต็มรูปแบบรวมไปถึงนำไปพัฒนาต่อยอดได้ และใน 7Zip ก็มีฟังก์ชันสำหรับทดสอบประสิทธิภาพในการบีบและคลายขนาดของข้อมูลด้วยอัลกอริธึมที่ต้องใช้พลังจากซีพียูในการประมวลผล และเราก็สามารถกำหนดจำนวนเธรดที่จะใช้ในการทดสอบได้อีกด้วย สำหรับการทดสอบของเราจะเลือกการทดสอบแบบ 1 เธรด เพื่อดูประสิทธิภาพการทำงานของคอร์ซีพียูเดี่ยว ๆ เทียบกัน และทดสอบแบบเธรดสูงสุดตามที่ซีพียูแต่ละตัวรองรับได้ Ryzen 7 2700X และ 5800X จะทดสอบสูงสุดที่ 16 เธรด ส่วน Ryzen 9 5900X จะทดสอบที่ 24 เธรด

ในภาพรวม Ryzen 9 5900X นั้นนำโดดมากเมื่อทดสอบในแบบ Multi Thread เพราะทำงานได้สูงสุดถึง 24 เธรด พร้อมกัน ส่วนในการทดสอบแบบ Single Thread ทั้ง Ryzen 9 5900X และ Ryzen 7 5800X ก็จะทำคะแนนได้ใกล้เคียงกัน ส่วน Ryzen 7 2700X นั้น ก็ได้คะแนนน้อยกว่าในทุกกรณีอย่างไม่ต้องสงสัยครับ และถ้าดูคะแนนเฉพาะเธรดการอัปเกรด Ryzen 7 2700X มาเป็น Ryzen 7 5800X นั้นเราจะได้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัดอย่างน้อยโดยรวมก็ประมาณ 40% แต่ถ้ามีงบประมาณเหลือและต้องการใช้งานคอร์และเธรดเป็นจำนวนมากการกระโดดข้ามไป Ryzen 9 5900X ก็เป็นอะไรที่น่าสนใจมากครับ

ทดสอบด้วย CINEBENCH R23

CINEBENCH R23 โปรแกรมยอดนิยมที่ใช้สำหรับทดสอบประสิทธิภาพของซีพียูโดยเฉพาะ และเป็นการทดสอบโดยจำลองสถานการณ์จริงได้อย่างใกล้เคียงมาก ๆ ด้วยการจำลองการเรนเดอร์ข้อมูลจากภาพ 3D ที่มีแสงและเงาที่ซับซ้อนพอตัวให้มาแสดงผลบนหน้าจอแบบภาพนิ่ง

มาถึงการทดสอบหลัง ๆ แล้วก็แทบจะไม่ต้องอธิบายอะไรกันมากครับ ความแรงก็เป็นไปตามที่เห็นครับ สถาปัตยกรรมใหม่ Zen 3 แรงกว่าชัดเจนทั้งแบบ Single Core และ Multi Core ส่วน Single Core ของ Ryzen 9 5900X ช้ากว่า Ryzen 7 5800X ก็คือเรื่องเดิมครับ เราเทสแบบ Multi Core ก่อน ยังมีความร้อนสะสมอยู่จากจำนวนคอร์และเธรดที่มาก พอมาเทส Single Core ก็เลยบูสขึ้นไปได้น้อยแต่ก็ไม่ได้ถือว่าน่าเกลียดอะไรมาก เพราะอย่าลืมว่าเราทำงานกับฮีตซิงค์มาตรฐานธรรมดาของเอเอ็มดี ถ้ามีการจัดชุดน้ำอย่างเหมาะสมเราก็คิดว่า Ryzen 9 5900X น่าจะเฉิดฉายได้มากกว่านี้ แต่ว่าโจทย์ของเราในครั้งนี้คือเปลี่ยนเฉพาะซีพียูเท่านั้นจริง ๆ

ทดสอบด้วย Blender 3.3.1

Blender 3.3.1 เป็นโปรแกรมฟรียอดนิยมสำหรับสายงาน 3D เพราะทำงานได้ในระดับเดียวกับมืออาชีพ และหลัง ๆ มานี้ก็มีปลั๊กอินเสริมการทำงานด้วย AI มาให้ใช้งานกันอีก เรียกได้ว่าเป็นโปรแกรมที่ทำงานได้ดีไม่แพ้โปรแกรมที่มีราคาเป็นแสน ๆ เลยทีเดียว และนอกจากจะทำงานด้าน 3D แล้วยังสามารถทำงานด้าน 2D/3D Animation ได้ ทำงานด้าน Virtual Effect ระดับภาพยนตร์ได้ รวมไปถึงการตัดต่อวิดีโอก็ทำได้เช่นกัน เรียกได้ว่าครบจบในโปรแกรมเดียว

ส่วนการทดสอบในครั้งนี้เราดาวน์โหลดไฟล์ตัวอย่างที่ชื่อว่า Classroom มาทำการเรนเดอร์โดยใช้ซีพียูทำงานเพียงอย่างเดียว แม้ว่าตอนนี้ Blender จะสามารถดึงพลังของกราฟิก Radeon มาช่วยงานการเรเดอร์ในโหมด Cycle ได้แล้วก็ตาม ผลการทดสอบรายงานออกมาเป็นระยะเวลาในการเรเดอร์ การใช้เวลาน้อยกว่าถือว่ามีประสิทธิภาพสูงกว่าครับ

ที่เห็นเปอร์เซนต์ติดลบไม่ใช่ช้านะครับ แต่เป็นการลดเวลาในการทำงานลงครับ การเปลี่ยนซีพียูจาก Ryzen 7 2700X มาเป็น Ryzen 7 5800X จะประหยัดเวลาในการเรนเดอร์ลงได้ถึง 33% และถ้าเปลี่ยนเป็น Ryzen 9 5800X จะลดลงได้ถึง 51% เลยทีเดียวประหยัดเวลาไปเกินครึ่ง ส่วนความแตกต่างระหว่าง Ryzen 7 5800X กับ Ryzen 9 5900X จะอยู่ที่ 27% ครับ ก็ถือว่าสูงพอตัวจากซีพียู 6C/12T มาเป็น 12C/24T

ทดสอบด้วยเกม Shadow of The TOMB RAIDER

แม้ว่าพีซีเครื่องนี้เราจะไม่ได้ใช้เพื่อเล่นเกม แต่ก็ขอทดสอบประสิทธิภาพของซีพียูเกี่ยวกับเกมดูบ้างเพื่อให้มองเห็นถึงภาพรวมในการอัปเกรดซีพียูได้อย่างครบถ้วนครับ และสำหรับเกมที่เราใช้ก็คือ Shadow of The TOMB RAIDER แม้ว่าเป็นเกมที่เก่าแล้วแต่ก็มีการอัปเดตเอนจิ้นของเกมให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา เช่นรองรับ Raytracing, รองรับ FSR และรองรับ XeSS เป็นต้น และเกมนี้ก็เคยมีการแจกฟรีไปหลายรอบ ซึ่งเราก็คิดว่าผู้อ่านหลายท่านก็น่าจะได้ใช้ประโยชน์จากเกมนี้ในการทดสอบประสิทธิภาพกันมาบ้าง

ในการตั้งค่าการทดสอบเราเลือกความละเอียดที่ Full HD 1920×1080 ส่วนรายละเอียดของภาพเราใช้ตัวเลือกที่เป็นค่ามาตรฐานของเกมคือ Lowest, Medium และ Highest โดยใช้กราฟิก Radeon RX 5500 XT 8GB ซึ่งเป็นกราฟิกที่เราใช้ทำงานทั่วไปเป็นหลัก และคะแนนการทดสอบเราอยากจะให้โฟกันไปที่ CPU Render เป็นหลัก เพราะนั่นคือความสามารถที่แท้จริงของตัวซีพียู เพราะตัวกราฟิก Radeon RX 5500 XT นั้นมีประสิทธิภาพจำกัดในการใช้งานร่วมกับเกมนี้

เรามาดูเฟรมเรตในภาพรวมกันเลยดีกว่า ถ้าดูเฉพาะ GPU Average ก็จะเห็นได้ว่าการ์ดจอรุ่นนี้รองรับการปรับสุดที่ Full HD High setting ซึ่งจะเล่นได้แถว ๆ 64-65 เฟรม แม้ว่าจะมีการเพิ่มความแรงของซีพียูไปแค่ไหนก็ตาม รวมไปถึงการทดสอบที่ปรับรายละเอียดในระดับ Medium เฟรมเรตจาก GPU ได้ไม่ต่างกันมากนัก แม้ในการปรับ Low เท่านั้น ที่เฟรมเรจ ของซีพียูรุ่นใหม่จะช่วยพลักดันให้เฟรมเพิ่มไปจากเดิมได้อย่างน้อย 15 เฟรม ซึ่งเป็นอันเข้าใจได้ว่าทั้งหมดเป็นข้อจำกัดที่ตัวการ์ดจอ

แต่ถ้าเรามาเจาะการทำงานที่ตัวซีพียู เราจะเห็นได้ว่าความสามารถในการเรนเดอร์ของซีพียูนั้นค่อนข้างสูงทีเดียวสำหรับเกมนี้ ยิ่งพอเปลี่ยนมาเป็นซีพียูรุ่นใหม่ จำนวนเฟรมเรตที่ซีพียูทำงานได้นั้นก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก นั่นทำให้ซีพียูรุ่นใหม่ ๆ เหมาะอย่างมากที่จะทำงานร่วมกับกราฟิกการ์ดประสิทธิภาพสูง ซึ่งจะทำให้การเล่นเกมเต็มประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ถ้าเราดูเฉพาะค่า CPU Render Average ก็จะเห็นได้ว่าการอัปเกรดมาเป็นซีพียู Ryzen 7 5800X นั้นซีพียูสามารถทำงานกับเกมได้ดีขึ้นถึง 35% ขึ้นไป ในความละเอียดสูง ดังนั้นใครที่มีการอัปเกรดกราฟิกการ์ดรุ่นใหม่ ๆ ไปก่อนหน้านี้ด้วยราคาที่ดี แต่ยังคงใช้ซีพียูในกลุ่ม Ryzen 2000 Series อยู่ การอัปเกรดมาเป็น Ryzen 5000 Series แม้จะยังคงมีคอร์เธรดเท่าเดิม แต่ประสิทธิภาพคุณได้มากขึ้นแน่นอนครับ

สรุปผลการทดสอบ

อันที่จริงก็แทบจะไม่ต้องสรุปอะไรมากแล้วละครับ เพราะผลการทดสอบก็ชัดเจนอย่างมากแล้วว่าเพียงแค่เปลี่ยนจากซีพียู Ryaen 7 2700X ที่ใช้สถาปัตยกรรม Zen+ มาเป็น Ryzen 7 5800X ที่เป็นสถาปัตยกรรม Zen 3 แม้ว่าจะยังคงเป็นซีพียูแบบ 8 คอร์ 16 เธรด เท่าเดิม แต่ด้วยการเป็นสถาปัตยกรรมที่ได้รับการปรับปรุงมาใหม่ ทำให้พลังการประมวลผลแบบคอร์ต่อคอร์นั้นเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซิ่งสิ่งที่เอเอ็มดีทำกับสถาปัตยกรรม Zen 3 นั้น มีมากมายครับ เช่นการปรับปรุงตัวคาดการณ์คำสั่ง (Branch Predictor), การปรับปรุง Front end, การปรับปรุง Integer ที่ดีขึ้น คือตอนเป็น Zen 2 (Ryzen 3000 Series ก็ได้รับการปรับปรุงมารอบหนึ่งแล้ว) พอมาเป็น Zen 3 เรียกได้กว่าเป็นการยกเครื่องที่สมบูรณ์, การปรังปรุงแคชที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และอื่น ๆ อีกสารพัด แม้ใน Zen 3 จะเป็นการออกแบบในลักษณะ Chiplet ที่มีค่าความหน่วงเพิ่มขึ้น แต่ก็ถูกชดเฉยด้วยประสิทธิภาพการทำงานด้านอื่นอีกหลายประการ ดังที่เราได้เห็นในการทดสอบต่าง ๆ จนเรียกได้กว่าเรื่องการใช้ดีไซน์ที่เป็น Chiplet แล้วลดประสิทธิภาพนั้นถูกลบล้างไปได้เลย และว่ากันตามตรงตอนนี้ถือได้ว่า AMD เป็นมือวางอันดับหนึ่งในเรื่องการแก้ปัญหาด้าน Latency ของ Chiplet แล้วก็ว่าได้ ซึ่งมีโอกาสก็จะเล่าให้ฟังในตอนที่ทดสอบกับ Ryzen 7000 Series ที่เป็นซีพียูใหม่ล่าสุดบนแพลตฟอร์ม AM5 ครับ

เอาเป็นว่าใครที่ใช้แพลตฟอร์ม AM4 อยู่แล้วต้องการอัปเกรดประสิทธิภาพของการทำงานแบบง่ายและประหยัดที่สุด ถ้าคุณใช้ซีพียูในกลุ่ม Ryzen 1000, Ryzen 2000 การอัปเกรดมาเป็น Ryzen 5000 Series ก็ถือว่าเป็นอะไรที่คุ้มค่ามาก ๆ แม้ว่าจะเป็นการใช้งานซีพียูที่มีคอร์เธรดเท่าเดิมก็ตาม หรือถ้ามีงบประมาณหน่อยอยากจะอัปเกรดเพิ่มคอร์เพิ่มเธรดอย่างที่เราได้ทดลองไปก็น่าสนใจไม่น้อยเช่นกันครับ เพราะเราไม่ต้องไปเปลี่ยนอุปกรณ์อื่น ๆ เลย ยกเว้นบางกรณีถ้าคุณมีฮีตซิงค์เดิม ๆ ในระดับ 6 คอร์ แล้วอยากกระโดดมาเป็น 12 คอร์ อะไรแบบนี้ก็ต้องพิจารณางบสำหรับชุดระบายความร้อนเพิ่มเติมครับ ซึ่งโดยรวมแล้วก็ถือว่ายังมีความคุ้มค่าอยู่ดีครับ

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
Scroll to Top