Ryzen 9 7900X VS Ryzen 9 5900X อัปเกรดแล้วแรงกว่าแค่ไหน

ครั้งก่อนเราได้ทำบทความเปรียบเทียบการอัปเกรดซีพียู Ryzen 2000 Series ไปเป็น Ryzen 5000 Series บนซ็อกเก็ต AM4 กันไปแล้ว ซึ่งผลการทดสอบครั้งนั้นก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่าการอัปเกรดนั้นมีความคุ้มอย่างอย่างมาก เพราะผู้ใช้เปลี่ยนเพียงแค่ซีพียูอย่างเดียว หรือซีพียูกับชุดระบายความร้อน เท่านั้น ทุกอย่างยังคงใช้ของเดิมได้ 

แต่สำหรับคนที่ใช้งานซีพียูกลุ่มประสิทธิภาพสูงอย่าง Ryzen 9 5900X อยู่แล้ว และอยากจะอัปเกรดก็ทำได้สองทางคือขยับไปเป็น Ryzen 9 5950X รุ่นท็อปสุด 16 คอร์ 32 เธรด หรืออีกทางเลือกหนึ่งก็คือย้ายข้ามจากแพลตฟอร์ม AM4 มาเป็นแพลตฟอร์ม AM5 ที่ต้องเปลี่ยนทั้งเมนบอร์ด และแรมอีกด้วย เพราะแพลตฟอร์มใหม่นี้ต้องการแรมแบบ DDR5 เท่านั้น

เราเชื่อว่าคนที่ใช้ Ryzen 9 5900X ถ้าจะอัปเกรดทั้งทีก็คงจะอัปเกรดแบบข้ามแพลตฟอร์มไปเลยดีกว่า ดังนั้นในบทความครั้งนี้เราจะนำซีพียู Ryzen 9 5900X ที่เป็นซีพียูแบบ 12 คอร์ 24 เธรด มาเทียบกับ Ryzen 9 7900X ซึ่งเป็นซีพียูแบบ 12 คอร์ 24 เธรด เท่าเดิม แต่ว่าเป็นสถาปัตยกรรม Zen 4 ใหม่ล่าสุดจะให้ประสิทธิภาพในการทำงานที่แตกต่างกันเพียงใด

Ryzen 9 7900X VS Ryzen 9 5900X

 Ryzen 9 7900XRyzen 9 5900X
CodenameRaphael AM5Vermeer
Core ArchitectureZen 4Zen 3
# of CPU Cores1212
# of Threads2424
Max. Boost ClockUp to 5.6GHzUp to 4.8GHz
Base Clock4.7GHz3.7GHz
L2 Cache12MB6MB
L3 Cache64MB64MB
Default TDP170W105W
Integrated GraphicsRadeon™ Graphics 2CUNo
Processor Technology for CPU CoresTSMC 5nm FinFETTSMC 7nm FinFET
Processor Technology for I/O DieTSMC 6nm FinFET12 nm GoFlo
Chiplet Design2 x CCD / 1 x IOD2 x CCD / 1 x IOD
Unlocked for OverclockingYesYes
CPU SocketAM5AM4
Max. Operating Temperature (Tjmax)95°C90°C
Launch Date9/27/202211/5/2020
PCI Express® VersionPCIe 5.0PCIe 4.0
System Memory TypeDDR5DDR4
System Memory SpecificationUp to 5200MHzUp to 3200MHz

ถ้าดูจากสเปคแบบยังไม่ต้องไปเจาะลึกเรื่องสถาปัตยกรรมใหม่ เพียงเท่านี้เราก็พอมองเห็นความแตกต่างได้บ้างแล้ว อย่างเช่นความเร็ว Base Clock ที่ต่างกันราว 1GHz รวมไปถึง Boost Clock ที่ Ryzen 9 7900X สามารถทะลุระดับ 5.5GHz ไปได้อย่างไม่ยากเย็น รวมไปถึงการใช้หน่วยความจำที่ใหม่กว่าอย่าง DDR5 ที่รองรับความเร็วระดับ 5200MHz และถ้าใช้แรม DDR5 ประสิทธิภาพสูงที่สามารถโอเวอร์คล็อกได้เราก็จะได้เห็น DDR5 ความเร็วในระดับ 6000MHz (DDR) กันเลยทีเดียว

ทางด้านเทคโนโลยีการผลิตใน Ryzen 7000 Series ก็มีความก้าวหน้าไปมาก โดยในส่วนของ CCD ได้เปลี่ยนจากเทคโนโลยี 7nm ลงมาเป็น 5nm แต่ยังคงใช้ของ TSMC เหมือนเดิม แต่นั่นก็ต้องแลกมาด้วยค่า TDP ที่เพิ่มขึ้นจาก 105W มาเป็น 170W ซึ่งมันก็ต่างกันมากถึง 65W แต่พอทดสอบเข้าจริง ๆ เราก็พบว่าแม้จะใช้พลังงานเพิ่มขึ้น แต่เรื่องอุณหภูมินั้นกลับสามารถคุมอยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดและปลอดภัย ซึ่งเราจะไปพูดถึงกันในช่วงของการทดสอบ

การเดินทางที่ยาวนานของสถาปัตยกรรม Zen เจนเนอร์เรชันแรกบซ็อกเก็ต AM4 ที่สามารถอัปเกรดมาต่อเนื่องและยาวนานจนถึง Zen 3 ที่ยังมีขายอยู่ในปัจจุบัน (2022) และยังคงมีต่อเนื่องไปจนถึงปี 2023 เป็นอย่างน้อย ในขณะเดียวกันช่วงนี้ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่สถาปัตยกรรม Zen 4 พร้อมซ็อกเก็ตใหม่ AM5 ที่เอเอ็มดีสัญญาว่าจะมีการใช้งานที่ยาวนานเช่นกัน
การเดินทางที่ยาวนานของสถาปัตยกรรม Zen เจนเนอร์เรชันแรกบซ็อกเก็ต AM4 ที่สามารถอัปเกรดมาต่อเนื่องและยาวนานจนถึง Zen 3 ที่ยังมีขายอยู่ในปัจจุบัน (2022) และยังคงมีต่อเนื่องไปจนถึงปี 2023 เป็นอย่างน้อย ในขณะเดียวกันช่วงนี้ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่มาสู่สถาปัตยกรรม Zen 4 พร้อมซ็อกเก็ตใหม่ AM5 ที่เอเอ็มดีสัญญาว่าจะมีการใช้งานที่ยาวนานเช่นกัน

ทำความรู้จักสถาปัตยกรรม Zen 4

ซีพียูสถาปัตยกรรม Zen 4 ใช้ชื่อรหัสว่า Raphael AM5 ซึ่งบ่งบอกถึงการเป็นซีพียูสำหรับเดสก์ท็อปพีซี โดยจะใช้กับซีพียูในกลุ่ม Ryzen 7000 Series ทั้งหมดที่ทำงานร่วมกับเมนบอร์ดซ็อกเก็ต AM5 ในภาพรวมสถาปัตยกรรม Zen เจนเนอร์เรชันที่ 4 นี้มีการเพิ่มคุณสมบัติการทำงานเข้าไปมากพอสมควรเมื่อเทียบกับสถาปัตยกรรม Zen 3

ในซีพียู Ryzen 7000 Series นี้ก็ยังคงใช้การออกแบบในลักษณะของ Chiplet เช่นเดิมที่มีมาตั้งแต่ยุค Ryzen 3000 Series จนมาถึงยุคของ Ryzen 5000 Series ก็ยังคงใช้การออกแบบในลักษณะนี้อยู่ เพียงแต่ตัวแพ็คเกจของซีพียูที่เคยเป็นแบบ PGA (Pin Grid Array) ได้ถูกปรับมาเป็นลักษณะของ LGA (Land Grid Array) หรือที่เราเรียกกันง่าย ๆ ว่าเป็นซีพียูแบบไร้ขานั่นเอง 

Die ในส่วนที่เป็นคอร์ของซีพียูเราจะเรียกว่า CCD (Core Complex Die) ที่จะมีส่วนย่อยที่เรียกว่า CCX (Core Complex) ซึ่งเป็นคอร์ของซีพียู ส่วน IOD หรือ I/O Die นั้นจะทำหน้าที่เป็นตัวควบคุมหน่วยความจำ, อินเทอร์เฟซกับอุปกรณ์ต่าง ๆ และยังมีกราฟิกสถาปัตยกรรม RDNA2 ขนาดเล็กรวมอยู่ด้วย
การเชื่อมต่อ CCD กับ IOD ซีพียูบางรุ่นอาจจะใช้ CCD เพียงชุดเดียวเท่านั้น เช่นซีพียูในกลุ่มที่เป็น 8 คอร์ และ 6 คอร์
คุณสมบัติเด่นของ IOD ที่อยู่ในซีพียู Ryzen 7000 Series ที่มีกราฟิก RNDA2 อยู่ในตัว

สำหรับรายละเอียดอื่น ๆ ของสถาปัตยกรรม Zen 4 ก็พอที่จะสรุปย่อได้ดังนี้ครับ

  • CCD (Core Complex Die) หรือส่วนที่เป็น Die สำหรับคอร์ของซีพียูนั้นผลิดด้วยเทคโนโลยี 5nm FinFET จาก TSMC ในขณะที่ CCD ของ Zen 3 (Ryzen 5000 Series) ใช้กระบวนการผลิตแบบ 7nm FinFET การลดขนาดของกระบวนการผลิตนี้ทำให้เอเอ็มดีสามารถเพิ่ม CPU Clock ให้สูงขึ้นในขณะที่มีอุณหภูมิการทำงาน TjMAX อยู่ในเกณฑ์ที่ใกล้เคียงกัน
  • ส่วน IOD หรือ (Input Output Die) ใช้กระบวนการผลิตแบบ 6nm FinFET จาก TSMC เช่นกัน และถือเป็นความก้าวหน้าอย่างมากเมื่อเทียบกับ IOD ของ Zen 3 ที่ใช้เทคโนโลยีการผลิตแบบ 12nm จาก Global Foundry การปรับปรุงในส่วนนี้ทำให้ Zen 4 สามารถเพิ่มการเชื่อมต่อกับหน่วยความจำแบบ DDR5 ได้ในความเร็วที่สูง รวมไปถึงสามารถเพิ่มส่วนสำคัญของการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อื่น ๆ ด้วยความเร็วที่สูงขึ้น
  • รองรับชุดคำสั่ง AVX512 ซึ่งให้ประสิทธิภาพในการทำงานในลักษณะของ SIMD สูงขึ้น 100% เมื่อเทียบกับชุดคำสั่งแบบ AVX256 
  • รองรับหน่วยความจำแบบ DDR5 ที่ความเร็วมาตรฐาน 5200MT/s และถ้าใช้กับหน่วยความจำที่รองรับมาตรฐาน EXPO ของ AMD ก็อาจจะทำให้หน่วยความจำเหล่านี้ทำงานได้สูงถึง 6000MT/s หรือมากกว่า 
  • ใน Zen 4 เอเอ็มดีได้เพิ่มขนาดแคช L2 ให้ใหญ่ขึ้น โดยมี L2 สูงสุดที่ 1MB ต่อหนึ่งคอร์ของซีพียู (ในขณะที่ Zen 3 มีแคช L2 สูงสุดที่ 512KB ต่อคอร์)
  • CPU Clock ที่สูงขึ้น ถ้าดูจากซีพียูแบบรุ่นต่อรุ่นอย่างเช่นในกรณีของ Ryzen 9 7900X และ Ryzen 9 5900X นั้น Base Clock ถูกปรับเพิ่มจาก 3.7GHz ใน Zen3 มาเป็น 4.7GHz ใน Zen4 รวมไปถึง Max Boost Clock ก็ปรับเพิ่มจาก 4.8GHz มาเป็น 5.7GHz
  • รองรับ PCIe 5.0 สูงสุด 24 เลน โดยแต่ละเลนให้แบนด์วิดธ์เป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับ PCI3 4.0
  • นอกจากนี้แล้วซีพียู Ryzen 7000 Series ทุกรุ่นยังมาพร้อมกับ Radeon Graphics (RNDA2) ในตัว แม้จะไม่ใช้กราฟิกที่มีประสิทธิภาพสูง แต่ก็มีคุณสมบัติในการทำงานด้านพื้นฐานอย่างครบครันรวมไปถึงเรื่องของการเข้ารหัสและการถอดรหัสวิดีโอในระดับฮาร์ดแวร์อีกด้วย
RDNA2 รุ่นจิ๋วที่มีแค่ Compute Unit แค่ 2 หน่อวย (2CU) แต่ก็มีคุณสมบัติด้านวิดีโอที่ครบครัน รวมไปถึงการรองรับพอร์ตของจอภาพที่มีความทันสมัยอีกด้วย

เมนบอร์ดซ็อกเก็ต AM5 และชิปเซต AMD 600 Series

จากซีพียูที่ใช้สถาปัตยกรรม Zen รุ่นแรก Ryzen 1000 Series มาจนถึง Zen3 คือ Ryzen 5000 Series แม้ว่าทางเอเอ็มดีจะมีการเปลี่ยนรุ่นของชิปเซตไปพร้อมกับออกซีพียูเจนฯใหม่ แต่ว่าซ็อกเก็ตที่ใช้งานนั้นก็ยังคงเป็นซ็อกเก็ต AM4 มาตั้งแต่ปี 2017 จนมาถึงปี 2022 และตามข้อมูลอย่างเป็นทางการซ็อกเก็ต AM4 ยังคงอยู่ในสายการผลิตไปจนถึงสิ้นปี 2023 เป็นอย่างน้อย

ภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงจากแพลตฟอร์ม AM4 มาสู่ AM5

การอยู่กับซ็อกเก็ตเดิมเป็นเวลานานก็มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดีก็คือทำให้ผู้ใช้สามารถอัปเกรดเฉพาะซีพียูได้ ในขณะที่ยังคงใช้เมนบอร์ดรุ่นเดิม ส่วนปัญหาที่เราพบเห็นได้บ่อยที่สุดในระหว่างการใช้งานซ็อกเก็ต AM4 ก็คือทุกครั้งที่มีการออกซีพียูใหม่ มักจะมีปัญหาเรื่องการใช้งานร่วมกับเมนบอร์ดรุ่นเก่าที่ยังไม่ได้อัปเดตไบออส ซึ่งจะเกิดขึ้นบ่อยมากสำหรับคนที่ซื้อเมนบอร์ดรุ่นก่อนหน้าไปใช้งานร่วมกับซีพียูรุ่นล่าสุด เพราะบางทีเมนบอร์ดนั้นยังไม่ได้รับการอัปเดตไบออส ทำให้ทั้งผู้ขายและผู้ซื้อต้องวุ่นวายไปหาซีพียูมาเพื่อช่วยแก้ปัญหา

พอมาถึงยุคของ AM5 ที่เอเอ็มดีเองก็ได้ประกาศออกมาแล้วว่าจะเป็นซ็อกเก็ตที่ใช้งานต่อเนื่องยาวนานเหมือน AM4 และเพื่อเป็นการป้องกันปัญหาเรื่องความวุ่นวายของการอัปเกรดไบออส ทางเอเอ็มดีจึงกำหนดให้เมนบอร์ดและไบออสของแพลตฟอร์ม AM5 จะมีคุณสมบัติการอัปเกรดไบออสโดยไม่ต้องใช้ซีพียู แค่ต่อสายพาเวอร์เข้ากับเมนบอร์ด เสียบ USB Drive ที่มีไฟล์ไบออสรุ่นใหม่ จากนั้นก็กดปุ่มแฟลชไบออสที่เมนบอร์ด เพียงเท่านี้เมนบอร์ดก็จะไดัรับการอัปเดตไบออสใหม่โดยที่ไม่ต้องติดตั้งซีพียูและอุปกรณ์อื่น ๆ นับว่าเป็นเรื่องที่สะดวกมากครับ

กลับมาดูเรื่องของเมนบอร์ซ็อกเก็ต AM5 และชิปเซต 600 Series กันต่อครับ

ในตอนเปิดตัวเมนบอร์ด AM5 ทางเอเอ็มดีบอกกับเราว่าจะมีชิปเซตที่ใช้งานร่วมกับซีพียู Ryzen 7000 อยู่ด้วยกันทั้งหมด 4 รุ่นคือ X670E, X670, B650E และ B650 ซึ่งชิปเซตแต่ละรุ่นจะมีคุณสมบัติในการทำงานที่แตกต่างกันดังนี้

ดูจากตารางสเปคของชิปเซตแล้วอาจจะงง ถ้าเราตัดเรื่องจำนวนพอร์ตต่าง ๆ ออกไปสิ่งที่แตกต่างกันจริง ๆ ของชิปเซตแต่ละรุ่นก็คือ

  • X670E/B650E จะได้ทั้ง PICe 5.0 GPU และ PCIe 5.0 M.2
  • X670 จะได้ PCIe 5.0 M.2 หรือ PCIe 5.0 GPU อย่างใดอย่างหนึ่งแล้วแต่ผู้ผลิตเมนบอร์ด แต่ดูจากแนวโน้มแล้วผู้ผลิตเมนบอร์ดส่วนใหญ่จะเลือกให้ PCIe 5.0 M.2 เป็นหลักมากกว่า
  • B650 อาจจะได้ PCIe 5.0 M.2 แล้วแต่ผู้ผลิตเมนบอร์ด (ปกติจะเป็น PCIe 4.0 ทั้งหมด)
บล็อกไดอะแกรมแสดงการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่าง ๆ ของชิปเซต B650E และ X670E ที่เป็นการใช้ชิปเซตแบบคู่

ข้อมูลเบื้องต้นทั้งหมดนี้ก็คิดว่าน่าจะเพียงพอต่อการทำความเข้าใจของซีพียู AMD Ryzen 9 7900X และรวมไปถึงซีพียู Ryaen 7000 Series รุ่นอื่น ๆ ได้พอสมควรแล้วนะครับ ส่วนรายละเอียดแบบเจาะลึกลงสถาปัตยกรรมของ Zen 4 กำลังเรียบเรียงข้อมูลอยู่ครับ สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับสเปคซีพียูรุ่นอื่น ๆ ดูข้อมูลได้ที่เว็บไซต์ของเอเอ็มดีโดยตรงครับ AMD Ryzen™ 7000 Series Desktop Processors | AMD

อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบ

  • AM4:
    • CPU: Ryzen 9 5900X (12C/24T)
    • Mainboard: ASRock B550 Steel Legend
    • RAM: Thermaltake TOUGHRAM RGB DDR4 4000MHz (8GBx2)
  • AM5:
    • CPU: Ryzen 9 7900X (12C/24T)
    • Mainboard: ASRock X670E Taichi
    • RAM: G.SKILL Trident Z5 Neo DDR5-6000 (AMD EXPO) 16GBx2
  • CPU Cooling: Thermaltake TOUGHLIQUID Ultra 360
  • Graphics: Radeon RX 6800 XT
  • SSD NVMe: Transcend TS512GMTE220S (512 GB, PCI-E 3.0 x4)
  • PSU: Thermaltake TOUGHPOWER GRAND RGB 650W GOLD
คุณสมบัติโดยรวมของเมนบอร์ด ASRock X670E Taichi ที่ใช้ในการทดสอบซีพียู Ryzen 9 7900X

ทดสอบด้วย AIDA64 Cache & Memory Benchmark

Ryzen 9 5900X / AM4 / DDR4-4000 (XMP)
Ryzen 9 7900X / AM5 / DDR5-6000 (EXPO)

ถ้าดูผลการทดสอบในส่วนของ Memory จะเห็นได้ว่า Ryzen 9 7900X นั้นมีแบนด์วิดธ์ของหน่วยความจำเพิ่มขึ้นมาอย่างมากมายเลยทีเดียว โดยเฉพาะการเขียน (Write) ความเร็วที่ได้นั้นโปรแกรมที่ทดสอบต้องเลื่อนหน่วยให้อยู่ในระดับ GB/s กันเลยทีเดียว ไม่อย่างนั้นตัวเลขจะล้นช่องแสดงผลออกมา ส่วนความเร็ว Read และ Copy ทาง Ryzen 9 7900X ก็เร็วกว่าเช่นกัน มาดูทางด้านหน่วยความจำแคช Ryzen 9 7900X ก็ทำได้เร็วกว่าทั้งนี้เป็นเพราะความเร็วของ CPU Clock ที่เพิ่มขึ้นมาด้วยนั่นเอง

ทดสอบด้วย AIDA64 GPGPU Benchmark (x86 CPU)

อีกหนึ่งเครื่องมือที่ใช้วัดพลังในการประมวลผลของซีพียูได้เป็นอย่างดีก็คือการทดสอบด้วย AIDA64 GPGPU Benchmark แม้ว่าการทดสอบนี้จะถูกออกแบบมาเพื่อทดสอบการประมวลผลทั่วไปของ GPU เป็นหลัก แต่ทางผู้พัฒนาก็มีการตั้งเงื่อนไขการทำงานโดยใช้ชุดคำสั่ง x86 ของซีพียูทำงานในลักษณะเดียวกัน เราจึงนำเครื่องมือนี้มาใช้ในการทดสอบเปรียบเทียบการทำงานของ CPU แต่ละรุ่นด้วยเช่นกัน

AIDA64 Memory (x86)

การทดสอบหน่วยความจำในส่วนที่จะใช้วิธีการเข้าถึงข้อมูลในหน่วยความจำที่แตกต่างไปจากการทดสอบในหัวข้อ Cache & Memory Benchmark แต่ในภาพรวมหน่วยความจำ DDR5-6000 นั้นก็ได้แสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพในการทำงานที่แตกต่างอย่างชัดเจน

AIDA64 MemoryRyzen 9 7900XRyzen 9 5900X%
Memory Read (MB/s)749415895521%
Memory Write (MB/s)774045528529%
Memory Copy (MB/s)687745188225%
AIDA64 Integer (x86)

คะแนนการประมวลผลทางด้าน Int ของ Zen 4 นั้นเพิ่มขึ้นมามากพอดูเมื่อเทียบกันคอร์ต่อคอร์ ซึ่งเป็นผลมาจากการเพิ่มความเร็วของ Core Clock ส่วนหนึ่งและอีกส่วนหนึ่งก็มาจากการปรับปรุงสถาปัตยกรรมภายในด้วยนั่นเอง โดนเฉพาะในส่วนของ 64-bit Int นั้นใน Zen 4 ให้ประสิทธิภาพในการทำงานที่เกินจากที่เราคาดการไปมาก

AIDA64 IntegerRyzen 9 7900XRyzen 9 5900X%
Single-Precision (GFLOPS)2045173015%
Double-Precision (GFLOPS)1021864.215%
24-bit integer IOPS (GIOPS)1769138122%
32-bit integer IOPS (GIOPS)1768138022%
64-bit integer IOPS (GIOPS)884.3109.588%
AIDA64 Crypto (x86)

ประสิทธิภาพประมวลผลด้านการเข้ารหัสเราคิดว่า Ryzen 9 5900X ก็ทำได้ค่อนข้างสูงแล้ว เพราะเป็นซีพียูแบบ 12 คอร์ 24 เธรด แต่พอเปลี่ยนมาเป็นสถาปัตยกรรม Zen 4 ใน Ryzen 9 7900X ประสิทธิภาพในการทำงานก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก 

AIDA64 CryptoRyzen 9 7900XRyzen 9 5900X%
AES-25628434122067722%
SHA-1 Flash560404921812%
AIDA64 Compute (x86)

หัวข้อนี้เป็นการทดสอบด้วยการหาค่าตัวเลขที่มีความแม่นยำสูงแล้วนำมาสร้างภาพกราฟิกในแบบ off screen จึงทำให้ผลของการทดสอบออกมาในรูปแบบของ FPS หรือเฟรมต่อวินาที

AIDA64 ComputeRyzen 9 7900XRyzen 9 5900X%
Single-Precision Julia (FPS)1002820.818%
Double-Precision Mandel (FPS)530.5449.915%

ทดสอบด้วย 3DMark CPU Profile

3DMark CPU Profile เป็น Benchmark ใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามาในช่วงปีนี้เพื่อต้อนรับการมาของซีพียูรุ่นใหม่ ๆ ทั้งทางฝั่งอินเทลและเอเอ็มดี การทดสอบของ CPU Profile จะมีลักษณะดังนี้ครับ ในส่วนของ Max Threads นั้นจะเป็นการมอบหมายงานตามจำนวนเธรดที่ซีพียูรุ่นนั้น ๆ รองรับ เช่น Ryzen 9 7900X เป็นซีพียุแบบ 12 คอร์ 24 เธรด ในการทดสอบ Max Threads ก็จะใช้ทั้ง 24 เธรดในการทดสอบ ส่วนการทดสอบอื่น ๆ เช่น 1 Thread, 2 Threads, 4 Threads, 8 Threads และ 16 Threads นั้นเป็นการมอบหมายให้ซีพียูทำงานโดยไม่ได้คำนึงถึงจำนวนเธรดของซีพียูรุ่นนั้น ๆ ครับ แม้เราจะทดสอบกับซีพียูที่เป็นแบบ 8 เธรด ก็ยังต้องรองรับการทดสอบแบบ 16 Threads จากโปรแกรมอยู่ดี และคะแนนที่สูงกว่าก็แสดงถึงประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีกว่าครับ

3DMark CPU ProfileRyzen 9 7900XRyzen 9 5900X%
Max Threads129071084016%
16 Threads11396995013%
8 Threads8051685015%
4 Threads4248366914%
2 Threads2195189714%
1 Thread110996813%

ทดสอบด้วย CINEBENCH R23

มาถึงการทดสอบด้านการทำงานกับ Benchmark ยอดนิยมอย่าง CINEBENCH R23 กันบ้างครับ ประสิทธิภาพโดยรวมถือว่าสูงขื้นมาก งานแบบ Single Core เพิ่มขึ้นที่ 19% และงานแบบ Multi-Core เพิ่มขึ้นถึง 23%

CINEBENCH R23Ryzen 9 7900XRyzen 9 5900X%
CPU (Multi Core)291872242423%
CPU (Single Core)1997162019%

ทดสอบด้วย 7ZIP

7Zip คือโปรแกรมประเภทเดียวกันกับ WinZip และ WinRAR ที่หลายคนรู้จักกันดีและใช้งานอยู่เป็นประจำ แต่สำหรับ 7Zip นั้นคือการเป็นซอฟต์แวร์แบบโอเพ่นซอร์สที่ใช้งานได้อิสระอย่างแท้จริง และสามารถนำไปพัฒนาต่อได้ และในตัวของ 7Zip ก็มาพร้อมกับเครื่องมือในการทดสอบประสิทธิภาพของซีพียูในตัว โดยจะทดสอบด้วยการวัดความสามารถในการบีบข้อมูลและคืนขนาดของข้อมูลด้วยขนาดต่าง ๆ ตามที่ต้องการ รวมไปถึงการตั้งค่าการใช้จำนวนเธรดของซีพียูอีกด้วย โดยในการทดสอบของเราจะเลือกใช้ทั้งแบบ 24 เธรด ซึ่งเป็นจำนวนเธรดสูงสุดของซีพียูทั้งสองรุ่นที่ใข้ในการทดสอบและใช้ตัวเลยแบบเธรดเดียว เพื่อทดสอบว่าเมื่อเทียบกับแบบคอร์ต่อคอร์ ประสิทธิภาพในการทำงานจะเพิ่มขึ้นมาขนาดไหน สำหรับผลการทดสอบของ 7Zip ที่ได้นั้นถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่สูงมากเลยทีเดียว โดยเฉพาะคะแนนการทดสอบแบบ Multi Thread Compressing ที่ Ryzen 9 7900X ให้ประสิทธิภาพสูงกว่าถึง 41% เลยทีเดียว

7ZipRyzen 9 7900XRyzen 9 5900X%
Multi Thread Compressing (GIPS)155.1891.3041%
Multi Thread Decompressing (GIPS)203.81172.8815%
Single Thread Compressing (GIPS)8.747.4115%
Single Thread Decompressing (GIPS)12.2510.6613%

ทดสอบด้วย Blackmagic RAW

Blackmagic RAW โปรแกรมทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของซีพียูและกราฟิกการ์ดในการประมวลผลไฟล์วิดีโอแบบ RAW ที่เป็นมาตรฐานของทาง Blackmagic โดยตรง ซึ่งมาตรฐานไฟล์นี้ไม่มีฮาร์ดแวร์เฉพาะในการเข้ารหัสและถอดรหัสในตัวซีพียูหรือบนกราฟิกการ์ด ไม่เหมือนกับไฟล์จำพวก MP4 ที่มีฮาร์ดแวร์สำหรับการเข้ารหัสและถอดรหัสอยู่ในกราฟิกการ์ด ดังนั้นการประมวลผลร่วมกับไฟล์ในลักษณะนี้จำเป็นต้องใช้ประสิทธิภาพในการทำงานของซีพียูและกราฟิกการ์ดโดยตรง ส่วนการทดสอบในครั้งนี้เราเลือกใช้คะแนนในส่วนของซีพียูมาพิจารณา โดยคะแนนที่ได้นั้นจะเป็นจำนวนเฟรมที่ซีพียูสามารถทำงานได้ต่อวินาที (FPS) โดยไฟล์ที่ Blackmagic RAW ใช้ทดสอบจะมีขนาดตั้งแต่ FHD ไปจนถึง 8K

Blackmagic RAW Test (FPS)Ryzen 9 7900XRyzen 9 5900X%
BRAW 12:1 HD135979142%
BRAW 12:1 4K34819743%
BRAW 12:1 6K1367743%
BRAW 12:1 8K874944%
BRAW 8:1 HD136478443%
BRAW 8:1 4K34119643%
BRAW 8:1 6K1337643%
BRAW 8:1 8K854942%
BRAW 5:1 HD128776740%
BRAW 5:1 4K32119140%
BRAW 5:1 6K1257441%
BRAW 5:1 8K804741%
BRAW 3:1 HD116173437%
BRAW 3:1 4K29018337%
BRAW 3:1 6K1137137%
BRAW 3:1 8K724538%

ทดสอบด้วย Blender 3.4

Blender 3.4 เพิ่งจะอัปเดตมาเมื่อไม่กี่วันนี้เองครับ ก็ถือว่าเป็นโอกาสดีที่เราจะใช้กับการทดสอบกับซีพียูรุ่นใหม่อย่าง Ryzen 9 7900X การทดสอบด้วย Blender เราจะใช้ Render Engine เป็นแบบ Cycle และเลือกไฟล์ตัวอย่างการเรนเดอร์มาสองงานคือ Classroom และ Barbershop ที่สามารถดึงประสิทธิภาพในการทำงานของซีพียูออกมาใช้งานในอย่างเต็มที่ เรียกได้ว่าเป็นการแสดงประสิทธิภาพของซีพียูรุ่นใหม่ ๆ ได้ดีกว่าการทดสอบอื่น ๆ เพราะการเรนเดอร์ด้วยงานกราฟิกแบบนี้จะเป็นเวิร์คโหลดที่ค่อนข้างหนักและใช้เวลาในการทดสอบอย่างต่อเนื่องค่อนข้างนาน ทำให้เรามองเห็นประสิทธิภาพในการทำงานของซีพียูแต่ละรุ่นได้อย่างชัดเจน

Blender 3.4Ryzen 9 7900XRyzen 9 5900X%
Classroom CPU Cycle (min)2.553.5640%
Barber CPU Cycle (min)12.3717.3640%

และในการทดสอบด้วย Blender นี้ทำให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าการเลือกซีพียูรุ่นใหม่สถาปัตยกรรมใหม่ นั้นส่งผลต่อการทำงานอย่างชัดเจน เมื่อคุณต้องมาเจอกับเวิร์คโหลดขนาดใหญ่และต่อเนื่อง สายทำงานกราฟิกสายเรนเดอร์น่าจะตัดสินใจได้ไม่ยาก เพราะในสายงานของพวกเขาเวลามีค่ามาก ๆ

บทสรุปส่งท้าย

ก็ถือว่าแรงพอตัวเลยนะครับกับ Ryzen 9 7900X ที่ใช้สถาปัตยกรรม Zen 4 แม้มันจะไม่ได้รู้สึกว่าแรงแบบก้าวกระโดดเป็นเท่าตัว เหมือนตอนที่เห็นผลการทดสอบจากการเปลี่ยนจาก Ryzen 2000 มาเป็น Ryzen 5000 ที่เรียกได้ว่าเป็นความแรงที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด แต่ก็ต้องไม่ลืมว่านั่นเป็นการเปลี่ยนด้วยการปรับปรุงมาแล้วถึงสองเจนฯ

ถ้าดูจากการใช้งานจริงของผู้ใช้ส่วนใหญ่ที่เลือกซีพียูในระดับ 12 คอร์ 24 เธรด มาใช้งาน ก็มักจะเป็นผู้ใช้งานในระดับมืออาชีพ ซึ่งคะแนนการทดสอบในส่วนของการทำงานในหลาย ๆ การทดสอบนั้นก็ได้แสดงให้เห็นว่า Ryzen 9 7900X ที่ใช้สถาปัตยกรรม Zen 4 นั้นมีความน่าสนใจอย่างมากในการอัปเกรดไปใช้งาน เช่นการทำงานร่วมกับไฟล์วิดีโอแบบ RAW และการเรนเดอร์ของ Blender นั้นให้ประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีกว่า Ryzen 9 5900X ที่เป็น Zen 3 อยู่ราว ๆ 40% นั่นหมายถึงคุณจะประหยัดเวลาในการทำงานลงไปอย่างมาก

นอกจากนี้การอัปเกรดจากแพลตฟอร์มเดิมมาสู่แพลตฟอร์มใหม่อย่าง Ryzen 9 7900X พร้อมด้วยเมนบอร์ดซ็อกเก็ต AM5 นั้น สิ่งที่เราจะได้จริง ๆ ไม่ได้อยู่ที่เฉพาะเรื่องของประสิทธิภาพจากตัวซีพียูเพียงอย่างเดียวเท่านั้น เรายังจะได้รับประโยชน์อื่น ๆ จากแพลตฟอร์มใหม่นี้อีกหลายประการ เช่น การรองรับหน่วยความจำความจุสูงได้ง่ายกว่าและได้แบนด์วิดธ์ที่สูงกว่า รวมไปถึงการรองรับอินเทอร์เฟซใหม่ เช่น PCIe 5.0 ที่ใช้ความเร็วสูงขึ้นเป็นสองเท่าเมื่อเทียบกับ PCIe 4.0 และมีจำนวนเลนที่มากกว่า และยังมีการรองรับมาตรฐานใหม่อื่น ๆ เช่น USB 4.0 เป็นต้น ซึ่งมันก็เป็นสิ่งที่ตอบโจทย์กับผู้ใช้ในระดับมืออาชีพที่ต้องการความเร็วในการทำงาน และสิ่งเหล่านี้เราคงไม่สามารถใช้งานได้ถ้ายังคงใช้แพลตฟอร์ม AM4 อยู่เหมือนเดิม

ดังนั้นการเลือกว่าเราจะยังคงอยู่กับแพลตฟอร์มเดิม หรือก้าวข้ามมาสูงแพลตฟอร์ม่ใหม่ เรื่องของประสิทธิภาพจากซีพียูคงจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญเพียงเรื่องเดียว เรายังต้องพิจารณาไปถึงสภาพแวดล้อมในการใช้งาน และรวมถึงการอัปเกรดที่จะเกิดขึ้นในครั้งต่อ ๆ ไปในอนาคตอีกด้วย

แน่นอนว่าในตอนนี้แพลตฟอร์ม AM4 ยังคงมีความคุ้มค่าและยังอยู่กับเราไปอีกหนึ่งปีเป็นอย่างน้อย ซึ่งเราก็ยังคงสามารถลงทุนและใช้งานต่อไปได้ แต่ถ้าใครกำลังวางแผนที่จะประกอบเครื่องใหม่และมีความพร้อมเรื่องงบประมาณ เราคิดว่าแพลตฟอร์ม AM5 ก็มีความน่าสนใจอย่างมากและคิดว่าก็สามารถให้ความคุ้มค่าในระยะยาวได้ดีไม่แพ้กันครับ