หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นเคยและอาจจะสับสนกับกับชื่อของ NVIDIA RTX A2000 ว่ามันคือการ์ดจอในกลุ่มใดของเอ็นวิเดีย ที่ผ่านมาส่วนใหญ่ก็จะคุ้นเคยกับ NVIDIA GeForce สำหรับสายเกม หรือถ้าเป็นรุ่นใหม่หน่อยก็จะเป็น GeForce RTX ส่วนอีกชื่อหนึ่งที่คุ้นเคยกันก็คือ NVIDIA Quadro ซึ่งก็ทราบกันดีกว่าเป็นการ์ดจอในกลุ่ม Workstation สำหรับคนทำงานมืออาชีพเช่นตัดต่อวิดีโอ หรือทำงานด้านกราฟิกแบบ 3D เป็นต้น
สำหรับ NVIDIA RTX A2000 นั้นเป็นการ์ดจอที่อยู่ในกลุ่ม Workstation ครับ ซึ่งการ์ดจอรุ่นนี้ก็เป็นหนึ่งในการ์ดจอกลุ่ม NVIDIA RTX A Series ที่ประกอบไปด้วย RTX A6000, RTX A5500, RTX A5000, RTX A4500, RTX A4000 และเล็กสุดก็คือ RTX A2000 ที่เราพูดถึงกันในตอนนี้นี่เอง การ์ดจอ NVIDIA RTX A2000 จะมีอยู่ด้วยกันสองรุ่นนะครับ รุ่นหน่วยความจำ 6GB และรุ่นหน่วยความจำ 12GB ส่วนรุ่นที่เราทดสอบกันในครั้งนี้เป็นแบบ 6GB ครับ
ดีไซน์เล็กกะทัดรัด
การ์ดจอ LEADTEK NVIDIA RTX A2000 (6GB) ที่เราได้มาทดสอบในครั้งนี้ตัวการ์ดถูกออกแบบมาในแพลตฟอร์มแบบ Low-Profile เพื่อให้สามารถติดตั้งกับเคสที่มีความบางในแบบ Small Form Factor (SFF) ได้ ส่วนใครที่ต้องการติดตั้งกับเคสมาตรฐาน ATX ปกติ ก็สามารถถอด I/O Plate เปลี่ยนเป็นขนาดใหญ่แทนได้
ชุดระบายความร้อนถูกออกแบบมาให้เป็นลักษณะของโบเวอร์ ก็เรียกได้ว่าเป็นดีไซน์มาตรฐานของการ์ดจอมาหลายยุคหลายสมัย แต่ว่าพื้นที่ในการติดตั้งการ์ดนั้นต้องใช้ถึงสองสล็อตด้วยกัน เนื่องจากฮีตซิงค์ระบายความร้อนมีขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ เพื่อให้เพียงพอกับ CUDA Core ที่มากถึง 3328 คอร์ อย่างไรก็ดีตัวการ์ดใช้พลังงานค่อนข้างน้อยมาก ๆ คือเพียง 70 วัตต์ เท่านั้น เมื่อเทียบกับประสิทธิภาพที่ได้แล้วถือว่าเป็นการ์ดจอรุ่นเล็กที่ทรงพลังมาก ๆ
ช่องต่อจอภาพที่ให้มาจะเป็นแบบ mini DisplayPort จำนวน 4 ช่องด้วยกัน สามารถต่อจอพร้อมกันได้ถึง 4 จอ และจะแถมสายแปลงจาก mini DisplayPort ไปเป็น DisplayPort ขนาดปกติให้หนึ่งเส้นครับ
จาก NVIDIA Quadro สู่ NVIDIA RTX A Series
ในปี ค.ศ. 2018 เอ็นวิเดียได้เปิดตัวกราฟิกชิปสถาปัตยกรรม Turing ซึ่งถือว่าเป็นการสร้างกราฟิกชิปที่ก้าวกระโดดอีกครั้งของทางเอ็นวิเดีย กราฟิกชิปสถาปัตยกรรมใหม่นี้ ไม่ได้มีเฉพาะ CUDA Core ที่เราคุ้นเคยกันเท่านั้น แต่ยังมีหน่วยประมวลผลพิเศษเพิ่มเติมมาอีกสองส่วนได้แก่ Tensor Core สำหรับงานประมวลผลด้าน AI และ RT-Core สำหรับการประมวลผลด้าน Raytracing
การเปิดตัวในครั้งนั้นทำให้เกมเมอร์ได้รู้จักกับ NVIDIA GeForce RTX เป็นครั้งแรก ส่วนการ์ดจสายเวิร์คสเตชันอย่าง NVIDIA Quadro นั้นก็ได้ถูกแทนที่ด้วย NVIDIA RTX เช่น NVIDIA RTX 8000, NVIDIA RTX 6000 เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการ์ดจอรุ่นที่ระดับความแรงรองลงมาที่ใช้ชื่อว่า NVIDIA T Series ออกมาอีกด้วย เช่น NVIDIA T1000, NVIDIA T600 และ NVIDIA T400 เป็นต้น
จนกระทั่งกลางปี 2020 ทางเอ็นวิเดียก็ได้ออกกราฟิกสถาปัตยกรรมใหม่ที่ชื่อว่า Ampere ที่เป็นการอัปเกรดจาก Turing ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็น CUDA Core ที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ Tensor Core และ RT-Core เจนเนอร์เรชันใหม่ ซึ่งรวม ๆ แล้วก็ยกระดับประสิทธิภาพโดยรวมขึ้นมาเกือบเท่าตัว และนั่นทำให้การ์ดจอสายเวิร์คสเตชันจึงได้อัปเกรดจาก NVIDIA RTX และ NVIDIA T Series มาเป็น NVIDIA RTX A Series อย่างในทุกวันนี้ครับ
NVIDIA RTX VS GeForce RTX
อีกหนึ่งคำถามยอดนิยมสำหรับคนที่เป็นมือใหม่นั่นก็คือ RTX A2000 เทียบได้กับรุ่นไหนของ GeForce RTX ตอบได้เลยครับว่าไม่มี เพราะว่าไม่มีการ์ดจอ GeForce RTX รุ่นใดที่มีจำนวน CUDA Core เท่ากับ RTX A2000 ครับ เพราะพอผ่านยุคของ Quadro มาแล้วทางเอ็นวิเดียจะไม่กลับไปใช้ระบบชิปคู่ขนานกันอีกแล้วครับ แต่จะมีการพัฒนาแยกออกมาอย่างชัดเจนเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพต่อการใช้พลังงานและราคา (ถ้าปกติ) มากที่สุดครับ
แต่ถ้าจะให้เทียบจริง ๆ โดยดูเฉพาะจำนวน CUDA Core การ์ด NVIDIA RTX A2000 ก็จะใกล้เคียงกันกับ GeForce RTX 3060 ที่มีจำนวน 3584 CUDA Core และเป็นสถาปัตยกรรม Ampere เหมือน ๆ กัน
ในวันที่เราทดสอบการ์ด RTX A2000 นี้เราไม่มี RTX 3060 อยู่ในมือครับ เรามีแค่ RTX 2070 Super ที่ให้ประสิทธิภาพในการเล่นเกมได้เท่า ๆ กันกับ RTX 3060 ดังนั้นในการทดสอบครั้งนี้เราจึงขอนำ RTX 2070 Super ที่เรามีอยู่มาทำการทดสอบเพื่อเทียบเคียงให้เห็นความแตกต่างระหว่างการ์ดจอสายเล่นเกมและการ์ดจอสำหรับคนทำงานได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้นครับ
RTX A2000 | RTX 3060 | RTX 2070 Super | |
Price (USD) | $700 (12GB) /$450 (6GB) | $650 | $800 |
CUDA Cores | 3328 | 3584 | 2560 |
ROPs | 48 | 48 | 64 |
GPU Base Clock | 562 MHz | 1320 MHz | 1605 MHz |
GPU Boost Clock | 1200 MHz | 1777 MHz | 1770 MHz |
Mem Clock | 1500 MHz | 1875 MHz | 1750 MHz |
GPU Architecture | GA106 | GA106 | TU104 |
Memory | 6GB/12GB, GDDR6, 192-bit / ECC | 12 GB, GDDR6, 192-bit | 8 GB, GDDR6, 256-bit |
Total board power | 70W | 175W | 215W |
สเปคเครื่องที่ใช้ในการทดสอบ
- CPU: Intel Core i7-11700K
- Mainboard: ASRock B560M Steel Legend
- RAM: Thermaltake TOUGHRAM DDR4-3600MHz (32GBx2)
- GPU: NVIDIA A2000 6GB / NVIDIA RTX 2070 Super
- PSU: Thermaltake TOUGHPOWER iRGB PLUS 850W
- Windows 10
เริ่มต้นด้วย 3DMark
หลายคนอาจจะสงสัยเมื่อ RTX A2000 เป็นการ์ดจอสำหรับสายงานมืออาชีพ แล้วเอามาทดสอบเกี่ยวกับเกมทำไม เหตุผลก็คือเราเอาไว้เล่าเรื่องครับ อันที่จริงไม่ต้องทดสอบก็บอกได้เลยว่าการ์ดจอ RTX 2070S มีประสิทธิภาพในการเล่นเกมได้ดีกว่า RTX A2000 อย่างไม่ต้องสงสัย แต่เราจะไปดูกันว่ามีความแตกต่างกันมากน้อยขนาดไหน
จากผลการทดสอบแม้ RTX A2000 จะเป็นกราฟิกชิปที่ใช้สถาปัตยกรรมใหม่กว่ามีจำนวน CUDA Core มากกว่า แต่ด้วยรูปแบบการทำงานของตัวแอปพลิเคชันทำให้จำนวนเฟรมเรตที่ RTX A2000 ทำได้นั้นน้อยกว่า RTX 2070S อยู่มากพอสมควร แต่หากหันมามองดูที่เรื่องการใช้พลังงาน RTX 2070S ใช้กำลังไฟฟ้าสูงสุดที่ 215 วัตต์ ส่วน RTX A2000 ใช้กำลังไฟฟ้าสูงสุดแค่ 70 วัตต์ และที่ตัวการ์ดก็ไม่ได้ต่อไฟเพิ่มเติมใช้ไฟจากสล็อต PCIe ก็เพียงพอแล้ว และถ้ามองในมุมนี้ก็ถือว่า RTX A2000 ก็ทำได้ไม่เลวเลย (RTX 3060 เองก็ยังใช้กำลังไฟฟ้ามากถึง 175 วัตต์) คะแนนของ RTX A2000 นี้ถ้าจะให้เทียบกับทางฝั่ง GeForce RTX ในการเล่นเกมก็จะสูงกว่า RTX 3050 อยู่นิดหน่อยครับ
อย่างไรก็ตามในหัวข้อ Physics Test ทาง RTX A2000 ก็ทำคะแนนการทดสอบได้ดีกว่าเล็กน้อยครับ อาจจะเป็นเพราะว่างานนี้เน้นไปที่ขั้นตอนการคำนวณมากว่าขั้นตอนการสร้างภาพก็ได้ครับเลยทำให้ RTX A2000 ได้คะแนนจากส่วนนี้ไป
ทดสอบด้วย AIDA64 GPGPU Benchmark
มาดูการใช้ GPU สำหรับการประมวลทั่วไปกันบ้างครับ จากคะแนนด้านบนจะเห็นได้ว่ารอบนี้ RTX 2070S นั้นกินเรียบครับ แม้ว่าจะมีจำนวน CUDA Core ที่น้อยกว่า แต่การจัดกลุ่ม Compute Unit มีมากถึง 40CU ในขณะที่ RTX A2000 มีจำนวน CUDA Core มากว่าก็จริงแต่จัดกลุ่มของ Compute Unit แล้วได้ออกมาเพียง 26CU เท่านั้น นั่นหมายความว่างานบางอย่างจะถูกกำหนดประสิทธิภาพโดยกลุ่มของ Compute Unit ด้วยเช่นกัน รอบนี้แม้จะมี CUDA Core มากกว่าจึงไม่ช่วยอะไรครับ
ทดสอบประสิทธิภาพด้วย SPECworkstation 3.1.0
SPECworkstation เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้สำหรับทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ระดับเวิร์คสเตชันที่ใช้ทำงานแอปพลิเคชันมืออาชีพซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นโปรแกรมด้าน 3D และการจำลองโมเดลทางด้านคณิตศาสตร์ ส่วนในการทดสอบของเราได้เลือกเฉพาะหัวข้อที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของ GPU เป็นหลักมาทำการทดสอบครับ
และรายชื่อการทดสอบแต่ละอย่างใน SPECworkstation ที่จริงแล้วมันก็คือการจำลองการทำงานของแอปพลิเคช้นเหล่านั้นนั่นเองครับ จากการทดสอบก็จะเห็นได้ว่ามีทั้งส่วนที่ RTX 2070S ทำคะแนนได้ดีกว่าและส่วนที่ RTX A2000 ทำคะแนนได้ดีกว่า งานนี้ก็ขึ้นอยู่ที่รูปแบบของการประมวลผลที่อยู่เบื้องหลังของแอปพลิเคชันเหล่านั้นครับ แต่ในภาพรวมก็ถือว่า RTX A2000 ก็ทำคะแนนออกมาอยู่ในเกณฑ์ที่ดีมาก ๆ แล้วครับ
ทดสอบด้วย Blender 3.0
Blender โปรแกรมสร้างโมเดลสามมิติยอดนิยมอีกหนึ่งตัวที่มีผู้คนใช้งานกันมากเพราะว่าเป็นโปรแกรมที่ใช้งานได้ฟรี ๆ ไม่มีข้อจำกัด และอันที่จริงนอกจากสร้างโมเดลแล้วยังสามารถตัดต่อวิดีโอ สร้าง CG ทำอนิเมชัน และอื่น ๆ ได้อีกมากมาย เรียกได้ว่าใช้ Blender เพียงโปรแกรมเดียวก็สร้างหนังอนิเมชันได้จบในตัวโดยไม่ต้องพึ่งพาโปรแกรมอื่นด้วยซ้ำไป
กลับมาที่การทดสอบด้วย Blender เราจะใช้กระบวนการเรนเดอร์ภาพที่เรียกกันว่า “Cycles Render” ซึ่งสามารถใช้กราฟิกชิปมาช่วยประมวลผลได้อย่างเต็มรูปแบบและเวอร์ชันล่าสุดของ Blender นี้ก็รองรับการทำงานร่วมกับ CUDA Core ของเอ็นวิเดียได้ทันทีแบบไม่ต้องติดตั้งปลั๊กอินใด ๆ เพิ่มเติมอีกด้วย สำหรับงานที่เราเรนเดอร์ในวันนี้ก็เป็นสองไฟล์ยอดนิยมที่ใช้ทดสอบประสิทธิภาพกันครับได้แก่ไฟล์ bmw และ Classroom
Blender 3.0 | RTX A2000 | RTX 2070S |
bmw (วินาที) | 33.79 | 25.18 |
Classroom (นาที) | 7.47 | 7.04 |
ผลการทดสอบก็ออกมาตามข้อมูลทางด้านบนครับงานนี้ RTX 2070S กินเรียบ ทั้งสองการเรนเดอร์ แต่ก็อย่างที่บอกครับถ้าเทียบอัตราส่วนประสิทธิภาพต่อการใช้พลังงานก็ต้องบอกว่า RTX A2000 ชนะใส ๆ ครับ
ทดสอบด้วย Blackmagic RAW Speed Test
โปรแกรมนี้เราจะได้ทดสอบความสามารถในการรองรับไฟล์วิดีโอแบบ RAW จาก Blackmagic ผู้ผลิตกล้อง ซอฟต์แวร์ และอุปกรณ์วิดีโอระดับโรงภาพยนตร์ โดยในการทดสอบนี้ก็จะทดสอบกันตั้งแต่ไฟล์วิดีโอขนาดมาตรฐานอย่าง 1080p/25FPS ไปจนถึงไฟล์วิดีโอขนาด 8K/60FPS กันเลยทีเดียว โปรแกรมนี้ก็จะทดสอบเป็นสองส่วนครับ ส่วนแรกจะทดสอบความสามารถของซีพียูและส่วนที่สองคือทดสอบความสามารถจากตัวกราฟิกการ์ด
จากผลการทดสอบก็จะเห็นได้ว่าทั้ง RTX 2070S และ NVIDIA A2000 ก็สามารถผ่านเกณฑ์มาตรฐานจากไฟล์ในระดับ FullHD ไปจนถึง 8K ได้อย่างสบาย ๆ อันนี้ก็เป็นสิ่งที่ได้จากพลังของ CUDA Core ล้วน ๆ ครับ จริงอยู่ที่การ์ดจอทั้ง GeForce RTX และ NVIDIA A Series มีฮาร์ดแวร์ NVENC และ NVDEC ที่ใช้สำหรับการเข้ารหัสวิดีโอ แต่ฮาร์ดแวร์ในส่วนนี้ก็จะรองรับเฉพาะไฟล์ที่เป็นมาตรฐานอุตสาหกรรมเท่านั้น เช่น MOV, MP4, AVI อะไรทำนองนี้ แต่พอเป็นไฟล์วิดีโอประเภท RAW ไฟล์เหล่านี้ถูกสร้างขึ้นมาบนมาตรฐานของผู้ผลิตฮาร์ดแวร์กล้องแต่ละรายครับ และส่วนใหญ่ก็จะใช้พลังจากซีพียูและกราฟิกชิปมาประมวลผล นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้การตัดต่อวิดีโอระดับมืออาชีพความละเอียดสูง ยังคงจำเป็นต้องใช้ซีพียูแบบหลายคอร์หลายเธรดรวมถึงต้องการกราฟิกการ์ดประสิทธิภาพสูงมารองรับงานวิดีโอทั้ง ๆ ที่การ์ดจอทั่วไปก็มีตัวเข้ารหัสและถอดรหัสวิดีโอมาด้วยในตัวแล้ว
สรุปหลังการทดสอบ
ไม่มีอะไรต้องสงสัยเกี่ยวกับประสิทธิภาพในการทำงานของ NVIDIA RTX A2000 6GB รุ่นนี้เลยครับ แม้จะเป็นการ์ดจอรุ่นเล็ก แต่ก็ให้ประสิทธิภาพในการทำงานเกินตัวมาก ๆ และยิ่งมาเทียบกับอัตราการใช้พลังงานของตัวการ์ดจอแล้วด้วยก็ต้องถือว่าเป็นการ์ดจอสำหรับคนทำงานที่มีความแรงมากรุ่นหนึ่งเลยทีเดียว
การ์ดจอรุ่นนี้เหมาะอย่างมากสำหรับคนทำงานในกลุ่มคอนเทนต์ครีเอเตอร์ ที่ต้องการประกอบเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กในแพลตฟอร์ม SFF หรือพวก Mini-ITX โดยใช้งานหลัก ๆ อย่างการตัดต่อวิดีโอ งาน 3D ในระดับเริ่มต้น หรืองานสายช่างภาพที่ต้องจัดการกับไฟล์ภาพจำนวนมากและนับวันก็ยิ่งมีความละเอียดสูงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ที่สำคัญคือการ์ดในตระกูล RTX A Series รวมถึง RTX A2000 สามารถรองรับการประมวลผลทางด้าน AI ได้เป็นอย่างดี ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่ว่าจะเป็นแอปพลิเคชันด้านวิดีโอ หรือโปรแกรมตกแต่งภาพต่างก็มีการนำ AI เข้ามาช่วยในการสร้างสรรค์ผลงาน และการใช้ RTX A2000 ก็จะไปช่วยเร่งการทำงานด้าน AI เหล่านั้นให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วยครับ เรียกได้กว่าเป็นการ์ดจอสำหรับมืออาชีพที่รองรับอนาคตอย่างแท้จริง
ตัวแทนจำหน่าย
Ascenti Resources Co., Ltd | ARC
Head office: Tel.0-2961-7297, Fax.0-2961-7393
Website: www.ascenti.co.th