ไม่ว่าจะเล่นเกมเพื่อผ่อนคลาย หรือเล่นเกมเพื่อการแข่งขัน ทุกคนก็ต้องการชัยชนะในเกมด้วยกันทั้งนั้น การใช้ฮาร์ดแวร์ประสิทธิภาพสูงที่ช่วยให้เกิดค่าความหน่วงต่ำ มีเฟรมเรตที่สูง ทำให้ภาพที่ปรากฏบนหน้าจอมีความคมชัด ต่อเนื่องและลื่นไหลเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เราคว้าชัยชนะในเกมได้ง่ายขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้มีอยู่ใน NVIDIA Reflex ซึ่งเป็นคุณสมบัติพิเศษของ RTX 30 Series
ทำไมเฟรมเรตสูงจึงดีกว่า
สำหรับเกมยอดนิยมอย่าง VALORANT, Fortnite และ Apex Legends เกมแนว FPS ทั้งหมดนี้ต้องการอัตราเฟรมสูงสุดและค่าความหน่วงของระบบที่ต่ำที่สุด และถ้าต้องความได้เปรียบในการแข่งขัน คุณก็ควรจะทำเฟรมเรตในเกมได้ที่ 144 เฟรมต่อวินาที (FPS) หรือมากกว่าด้วยการใช้ GPU ที่เร็วที่สุดในโลกอย่าง GeForce RTX 30 Series
ทั้งสามเกมที่เราพูดถึงไปนั้นทุกเกมล้วนแต่ต้องการการตัดสินใจที่รวดเร็วจากตัวผู้เล่นเพื่อให้ได้ชัยชนะ และการที่จะทำให้เกิดการตัดสินใจที่รวดเร็วได้นั้นก็จำเป็นต้องมองเห็นภาพเหตุการณ์ที่คมชัดและต่อเนื่องด้วยเช่นกัน จากภาพตัวอย่างจะเห็นได้กว่าเมื่อเราสามารถทำเฟรมเรตในเกมให้สูงก็จะทำให้เรามองเห็นภาพเหตุการณ์ที่มีความต่อเนื่องและครบถ้วนมากกว่า ทำให้ผู้เล่นสามารถที่จะตัดสินใจในการเล่นได้ดียิ่งขึ้น และเฟรมเรตที่สูงมันก็จะไปสอดคล้องกับการตอบสนองต่อการทำงานของเมาส์และคีย์บอร์ดได้รวดเร็วยิ่งขึ้นอีกด้วย และนั่นก็เป็นข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งเมื่อเราเล่นเกมด้วยเฟรมเรตที่สูง

เฟรมเรตที่สูงจะทำให้มีค่าความหน่วงที่ตำทำให้เราสามารถเห็นภาพที่เกิดขึ้นได้รวดเร็วกว่า สามารถมองเห็นเป้าหมายได้ก่อนการเล่นเกมที่เฟรมเรตต่ำกว่า

เฟรมเรตที่สูงช่วยให้การแสดงผลเป็นไปอย่างต่อเนื่องภาพที่เกิดขึ้นจึงมีความคมชัดมากกกว่า ลดอัตราการเกิดภาพซ้อนที่เรียกว่า Ghosting ที่อาจจะทำให้เกิดความสับสนในการเล่นเกมได้
ค่าความหน่วง (Latency) มากจากไหน
ในทุกขั้นตอนการทำงานของเกมหรือกระบวนการต่าง ๆ ในเครื่องคอมพิวเตอร์ล้วนแต่มีค่าความหน่วงหรือ Latency เกิดขึ้นด้วยกันทั้งนั้น ส่วนจะมีมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับลักษณะของซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่ใช้งาน สำหรับในกรณีของเกมค่าความหน่วงนี้หลัก ๆ แล้วจะเกิดขึ้นอยู่สามส่วนคือ Peripheral Latency (เมาส์, คีย์บอร์ด) สองคือ PC Latency (ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์) สามคือ Display Latency (ส่วนของจอภาพหรือการแสดงผล)

แต่ถ้าเราเจาะลึกลงไปอีกก็จะพบว่าในส่วนของ PC Latency นั้นก็จะแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ๆ ได้แก่ Game Latency ที่เกิดจากการการทำงานของซีพียูและเกมเอนจิ้น และส่วนที่สองคือ Render Latency ซึ่งก็คือการประมวลผลของกราฟิกชิปหรือ GPU นั่นเอง
จากขั้นตอนต่าง ๆ เราจะเห็นได้ว่าการมีค่าความหน่วงหรือ Latency นั้นสามารถเกิดขึ้นมาได้ง่ายมากและอยู่ในทุก ๆ ขั้นตอนของการทำงานเวลาเราเล่นเกมเลยก็ว่าได้ และถ้าค่าความหน่วงมีค่าเวลาที่สูงขึ้นก็จะทำให้การเล่นเกมของเราไม่ลื่นไหล อาจจะเห็นภาพกระตุกหรือภาพกระโดดแบบไม่ต่อเนื่องได้ ดังนั้นเพื่อเป็นการมอบประสบการณ์ในการเล่นเกมที่ดีทาง NVIDIA จึงได้พัฒนาแนวทางต่าง ๆ เพื่อลดค่าความหน่วงที่เกิดขึ้นนี้ให้น้อยลงเพื่อส่งมอบประสบการณ์ในการเล่นเกมที่ดี
ลดค่าความหน่วงด้วย NVIDIA Reflex
อย่างที่เราทราบกันโดยทั่วไปว่าเฟรมเรตที่สูงจะมาพร้อมกับค่าความหน่วงที่ต่ำเป็นปกติอยู่แล้ว แต่ในทางปฏิบัติการเพิ่มขึ้นของเฟรมเรตมันไม่ได้เป็นอัตราส่วนแบบ 1:1 ในการลดค่าความหน่วง เพราะถ้าเราย้อนไปดูสิ่งที่ได้อธิบายไว้ข้างต้นก็จะพบว่าความหน่วงมันมาจากหลายส่วนไม่ได้มาจากเรื่องของเฟรมเรตเพียงอย่างเดียว ดังนั้นทาง NVIDIA จึงใช้ความพยายามมาอย่างต่อเนื่องที่จะลดค่าความหน่วงในแต่ละกระบวนการให้น้อยลงเพื่อให้เกมมีการตอบสนองต่อผู้เล่นเกมได้อย่างรวดเร็วที่สุด
ถ้าย้อนกลับไปดูภาพด้านบนที่แสดงให้เห็นถึงค่าความหน่วงกว่าเกิดขึ้นมาจากขั้นตอนใดบ้าง แต่ภาพด้านบนไม่ได้บอกว่าขั้นตอนใดที่มีค่าความหน่วงมากที่สุด เราลองมาดูภาพต่อไปกันซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าขั้นตอนใดบ้างที่มีค่าความหน่วงหรือค่า Latency ที่สูง

ในภาพนี้เราจะเห็นได้ว่าในส่วนของอุปกรณ์ต่อพ่วง (Peripheral Latency) อย่างเมาส์รวมไปถึงฮาร์ดแวร์ที่เชื่อมต่ออย่างพอร์ต USB นั้นมีค่าความหน่วงที่ค่อนข้างสั้นเพราะไม่ได้มีกระบวนการอะไรมากและทั้งหมดเกิดจากส่วนการทำงานของฮาร์ดแวร์ล้วน ๆ ส่วนในขั้นตอนที่สองคือ PC Latency เราจะเห็นได้ว่าส่วนนี้มีช่วงเวลาค่าความหน่วงสูงที่สุดในระบบเพราะเป็นการทำงานร่วมกันทั้ง CPU, GPU และเกมเอนจิ้น ส่วนขั้นตจอนสุดท้ายของการแสดงผล Display Latency นั้นก็จะเห็นได้ว่าใช้เวลานานเช่นกันแต่ก็ยังไม่มากเท่ากับ PC Latency
ในการลดค่าความหน่วงของ Latency นั้นทางเอ็นวิเดียได้พัฒนาเทคโนโลยีที่ชื่อว่า NVIDIA Reflex โดยจะแบ่งเป็นส่วนสำหรับผู้ใช้ และสำหรับทางฝั่งผู้พัฒนาเกมที่เรียกว่า NVIDIA Reflex SDK เราลองมาทำความเข้าใจ NVIDIA Reflex SDK กับแบบคร่าว ๆ สักนิดเพื่อที่จะได้เข้าใจภาพรวมทั้งหมดของ NVIDIA Reflex ที่ผู้ใช้อย่างเราจะได้ใช้งานกัน

NVIDIA Reflex SDK นั้นก็จะประกอบไปด้วยชุดไลบรารีซอฟต์แวร์ที่ใช้พัฒนาร่วมกับเกม รวมไปถึงอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงที่อยู่ในชุด NVIDIA Reflex Latency Analyzer อย่างเช่นจอภาพ G-Sync ที่รองรับอัตรารีเฟรชเรต 360Hz และมีเมาส์รุ่นพิเศษที่ได้รับการรับรองจากเอ็นวิเดียที่มีประสิทธิสูงและทำงานร่วมกับซอฟต์แวร์ Reflex SDK เพื่อใช้ในการวิเคราะห์ค่าความหน่วงได้ เมื่อผู้พัฒนาเกมได้ทำการตรวจสอบตัวเลขค่าความหน่วยต่าง ๆ ก็จะนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อลดค่าความหน่วยต่าง ๆ ลง โดยจะนำข้อมูลมาวิเคราะห์ว่าค่าความหน่วยที่เกิดขึ้นนั้น มาจากส่วนใดบ้าง โดยเฉพาะค่าความหน่วงจากการทำงานของ CPU และ GPU ซึ่งจะต้องให้มีความสัมพันธ์กันระหว่างการใช้งาน CPU และ GPU เพื่อให้ได้ค่าความหน่วงออกมาต่ำที่สุด (ลดช่วงเวลาการทำงานของ Render Queue) ซึ่งกระบวนการวิเคราะต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกทำโดยใช้ Reflex SDK มาช่วยจัดการ
นอกจากนี้ทางฝั่งผู้พัฒนาโดยเฉพาะถ้าเป็นเกมออนไลน์ ก็จำเป็นต้องมีการพัฒนา Network Latency ซึ่งก็คือค่าความหน่วงของการเชื่อมต่อของเกมจากพีซีของผู้ใช้ไปสู่เซิร์ฟเวอร์ของเกมนั่นเอง ซึ่งทางผู้พัฒนาก็จำเป็นที่จะต้องพัฒนา Network Latency ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดเพื่อส่งมอบประสบการณ์การเล่นเกมที่ดีให้กับผู้ใช้ด้วยเช่นกัน ซึ่งในจุดนี้เราขอข้ามไปเพราะเป็นเรื่องที่ผู้ใช้อย่างเราไม่สามารถเข้าไปทำอะไรได้นั่นเอง

ภาพด้านบนนี้แสดงให้เห็นว่าการลดค่าความหน่วยหรือ Latency ในขั้นตอนต่าง ๆ จะช่วยให้ผู้เล่นเกมได้เห็นภาพเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้รวดเร็วกว่าระบบเดิมที่มีค่าความหน่วงสูง

นอกจากนี้ค่าความหน่วงที่ต่ำยังมีผลต่อการเคลื่อนไหวของเมาส์ที่ทำให้เราสามารถควบคุมเมาส์ได้อย่างแม่นยำมากขึ้นอีกด้วย
โดยรวมประโยชน์ของการใช้เทคโนโลยี NVIDIA Reflex ก็คือเพื่อช่วยให้ผู้เล่นเกมได้รับประสบการณ์ในการเล่นเกมที่ดีที่สุด เพื่อที่จะช่วยให้ผู้เล่นสามารถตอบสนองต่อการเล่นและคว้าชัยชนะมาให้ได้นั่นเอง สำหรับรายชื่อเกมที่รองรับเทคโนโลยี NVIDIA Reflex ในตอนนี้ก็ประกอบไปด้วย
– Fortnite
– Valorant
– Destiny 2
– Apex Legends
– Call of Duty: Black Ops Cold War
– Call of Duty: Modern Warfare
– Call of Duty: Warzone
NVIDIA Reflex สำหรับผู้เล่นเกม
หลังจากเรารับทราบเรื่อง NVIDIA Reflex SDK ว่าเป็นอย่างไร และมีเกมใดที่รองรับคุณสมบัติ NVIDIA Reflex แล้วบ้าง เราก็อาจจะคิดไปว่ามีเกมน้อยมากที่รองรับเทคโนโลยีนี้ แต่จริง ๆ แล้วเราสามารถเปิดคุณสมบัติการใช้งานของ NVIDIA Reflex ได้กับทุกเกม เพราะมีฟังก์ชันการทำงานรวมไว้อยู่ในไดรเวอร์ของกราฟิกการ์ดนั่นเอง เพียงแต่เกมที่รองรับ NVIDIA Reflex จะมีการเปิดฟังก์ชันและคุณสมบัติเหล่านี้ได้ในเกมโดยอัตโนมัติอยู่แล้วโดยเราไม่ต้องไปตั้งค่าใด ๆ นอกจากนี้บางเกมที่ถูกใส่ไว้ในไลบรารีของ GeForce Experience Optimal Game Settings ก็จะมีการเปิดใช้คุณสมบัตินี้ได้เช่นกัน แต่ก็แนะนำว่าให้ไปเปิดที่คอนโทรพาเนลของไดรเวอร์จะดีที่สุด
เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด NVIDIA Reflex ควรจะใช้งานร่วมกับจอภาพที่รองรับเทคโนโลยี G-Sync และ G-Sync Compatible อย่างไรก็ตามจอภาพทั่วไปที่ไม่รองรับ G-Sync ก็ยังสามารถใช้งานร่วมกับ NVIDIA Reflex ได้เช่นกัน แต่ว่าจะต้องปิดคุณสมบัติ VSync แต่ก็อาจจะทำให้เกิดปัญหาภาพเฉือนหรือภาพฉีกขาดได้ ซึ่งก็เป็นอาการปกติทั่วไปของจอภาพที่ไม่รองรับ Variable Refresh Rate (VRR)
แน่นอนว่าการใช้กราฟิกการ์ดรุ่นใหม่อย่าง GeForce RTX 30 Series ที่ให้ประสิทธิภาพสูงและสร้างเฟรมเรตที่สูงก็ช่วยลดค่าความหน่วยได้อยู่แล้ว แต่กราฟิกการ์ดรุ่นอื่น ๆ ของ เอ็นวิเดียก็ยังสามารถใช้คุณสมบัติ NVIDIA Reflex ได้เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น RTX 20 Series, GTX 16 Series รวมไปถึง GTX 10, GTX 900 Series ก็ยังใช้คุณสมบัติเหล่านี้ได้เช่นกัน เพียงแต่ประสิทธิภาพในการทำงานก็จะมากน้อยต่างกันไปตามคุณสมบัติเฉพาะตัวของกราฟิกการ์ดแต่ละรุ่นนั่นเอง
เทคนิคการปรับแต่งเบื้องต้นเพื่อให้เล่นเกมด้วยค่าความหน่วงที่ต่ำ (Low Latency)
Peripheral Latency

Peripheral Latency หรือในที่นี้ก็คือเมาส์ เราควรเลือกใช้เมาส์ที่มีค่า polling rate ที่สูงที่สุดเช่น 1000Hz เพราะการใช้เมาส์ที่มีค่า polling rate ที่สูงก็สามารถลดค่าความหน่วยที่เกิดขึ้นในเกมได้แล้ว

PC Latency

เข้าไปที่ NVIDIA Control Panel, เลือก Manage 3D setting, เลือก Global Setting แล้วเลือกมาที่หัวข้อ Low Latency Mode แล้วไปที่ตัวเลือก Ultra ซึ่งเป็นค่าสูงสุด ซึ่งจะเป็นการลดค่าความหน่วงของ Pipeline ทั้งหมดของ PC Latency ได้ง่าย ๆ


Display Latency

ในส่วนของ Display Latency จริง ๆ แล้วก็ไม่ได้มีอะไรมาไปกว่าการเลือกใช้จอภาพที่มีอัตรารีเฟรชเรตสูง ๆ ซึ่งแน่นอนว่าถ้าต้องการให้มีประสิทธิภาพสูงสุดก็คือที่รองรับเทคโนโลยี G-Sync รองลงมาก็คือ G-Sync Compatible (หรือจอที่เป็น Variable Refresh Rate – VRR) การที่จอสามารถปรับอัตรารีเฟรชเรดได้ตามที่กราฟิกการ์ดต้องการได้ก็ยังช่วยให้การแสดงผลทั้งการ์ดจอและจอภาพตรงกันลดอาการภาพฉีกได้อีกด้วย
ปรับแต่งประสิทธิภาพ
ย้อนกลับมาที่เรื่องของเฟรมเรตอีกครั้ง เราทราบอยู่แล้วว่าเฟรมเรตที่สูงก็จะข่วยลดค่าความหน่วงได้ ดังนั้นการปรับแต่งประสิทธิภาพการทำงานของกราฟิกการ์ดให้ดีขึ้นรวมไปถึงการปรับแต่งกราฟิกในเกมให้มีความเหมาะสมก็จะช่วยลดค่าความหน่วงได้เช่นกัน
Prefer Maximum Performance
เข้าไปที่ NVIDIA Control Panel, เลือก Manage 3D setting, เลือก Global Setting, เลือก Power management mode, เลือกหัวข้อ Prefer maximum performance การปรับหัวข้อนี้จะช่วยให้ GPU พยายามทำงานด้วย Clock ที่สูงขึ้น (แต่ก็จะอยู่ภายใต้เงื่อนไขของอุณหภูมิและการใช้พลังงานของ GPU และรุ่น)

ปรับแต่งประสิทธิภาพโดยอัตโนมัติด้วย GeForce Experience
ใน GeForce Experience รุ่นล่าสุดที่อัปเดตเมื่อเดือนกันยายนเป็นต้นมา ได้เพิ่มคุณสมบัติใหม่คือ in-game overlay performance panel โดยใน panel นี้ผู้ใช้สามารถทำการปรับแต่งการทำงานของกราฟิกการ์ดได้ในแบบ real-time รวมไปถึงคุณสมบัติใหม่ Automatic Tuning ที่โปรแกรมจะทำการตรวจสอบคุณสมบัติของฮาร์ดแวร์แล้วทำการปรับค่าการทำงานของ GPU/Mem ให้เราโดยอัตโนมัติ

ส่งท้าย
เทคโนโลยี NVIDIA Reflex เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าเอ็นวิเดียให้ความสำคัญกับรายละเอียดและประสบการณ์การเล่นเป็นอย่างมาก เพราะว่าเฟรมเรตที่สูงนั้นสามารถเพิ่มได้ง่าย ๆ จากกราฟิกการ์ดรุ่นใหม่ประสิทธิภาพสูงที่เพิ่งเปิดตัวมาอยู่แล้ว แต่เอ็นวิเดียก็ยังไม่หยุดพัฒนาและปรับปรุงองค์ประกอบที่จะทำให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์การเล่นเกมได้ดีที่สุดจากกราฟิกการ์ด GeForce ในรุ่นก่อนหน้าอีกด้วย ดังจะเห็นได้จากการที่ NVIDIA Reflex นั้นสามารถใช้งานร่วมกับกราฟิกการ์ดรุ่นเก่าได้ไม่ว่าจะเป็น RTX 20 Series, GTX 16 Series และ GTX 10 Series ก็ได้รับการปรับปรุงและเพิ่มเติมประสบการณ์ในการเล่นเกมที่ดีได้เช่นกัน
สำหรับผู้ที่ต้องการสัมผัสกับประสบการณ์ของค่าความหน่วงที่ต่ำ และเฟรมเรตในเกมที่สูงขึ้น ก็สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยการติดตั้ง GeForce Experience รุ่นล่าสุด และอัปเดตไดรเวอร์เป็นรุ่นล่าสุดเท่านั้น
ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ: NVIDIA Reflex
https://www.nvidia.com/en-us/geforce/news/reflex-low-latency-platform/