ตอนที่เอเอ็มดีเปิดตัวแพลตฟอร์ม Ryzen 7000 ซ็อกเก็ต AM5 สิ่งที่หลายคนตกใจที่สุดไม่ใช่เรื่องของสถาปัตยกรรมใหม่ที่ทันสมัย แต่ไปตกใจกับราคาของเมนบอร์ด AM5 ว่าทำไมมีราคาแพงซะเหลือเกินไม่ว่าจะเป็นเมนบอร์ดชิปเซต X670 หรือ B650 ทำให้แผนการในการประกอบพีซีใหม่หรืออัปเกรดต้องขอพักไปก่อนเลยก็มี
ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรครับ เพราะหลายคนคิดว่าเขาอยากได้ซีพียูใหม่ อยากลองแรมใหม่อย่าง DDR5 แต่ก็ไม่ได้จำเป็นต้องใช้ความครบครันเมนบอร์ดบอร์ดจนถึงขีดสุด ต้องการเพียงเรื่องของพื้นฐานและความจำเป็นเท่านั้น ทำให้หลายคนรอการมาของเมนบอร์ด AM5 รุ่นเล็กที่ใช้ชิปเซต A620 ที่มีราคาเข้าถึงง่ายได้ง่ายกว่า
และเมนบอร์ด ASRock A620M-HDV/M.2+ ก็ถือว่าออกมาได้จะหวังเหมาะเลยทีเดียว เนื่องจากไม่เพียงเป็นเมนบอร์ดซ็อกเก็ต AM5 ที่มีราคาเข้าถึงง่ายเท่านั้น แต่ช่วงเวลานี้แรม DDR5 ก็ยังปรับราคาลงมาพอสมควรและมีตัวเลือกในการใช้งานมากขึ้น ทำให้ความฝันของหลายคนที่ต้องการใช้ Ryzen 7000 ซีรีส์ กับแรม DDR5 เป็นจริงได้ง่ายขึ้น
เนื่องจากเป็นเมนบอร์ดชิปเซต A620 รุ่นแรกที่เราได้ทดสอบ ดังนั้นก่อนไปดูรายละเอียดอื่น ๆ ก็ขอใช้พื้นที่ตรงนี้ในการอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับชิปเซตรุ่นนี้สักเล็กน้อยครับ
ชิปเซต A620
ความแตกต่างของชิปเซต A620 ที่แตกต่างกันชิปเซต A600 ซีรีส์ รุ่นอื่นอย่างชัดเจนที่สุดก็คือไม่มีอินเทอร์เฟซที่รองรับ PCIe 5.0 ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของกราฟิกการ์ด และในส่วนของ SSD NVMe จะรองรับสูงสุดที่ PCIe 4.0 เท่านั้น แม้ว่าตัวซีพียู Ryzen 7000 Series จะมีการรองรับ PCIe 5.0 อยู่ในตัวก็ตาม นอกจากนี้เมนบอร์ดชิปเซต A620 จะไม่รองรับการโอเวอร์คล็อกซีพียูอีกด้วย แต่ยังคงปรับเรื่องของการใช้พลังงานของซีพียูเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดตามมาตรฐานได้ และยังสามารถโอเวอร์คล็อกหน่วยความจำได้ รวมถึงการรองรับ EXPO ที่เป็นโปรไฟล์การโอเวอร์คล็อก DDR5 ได้
นอกจากนี้สิ่งที่ชิปเซต A620 จะให้มาค่อนข้างน้อยก็คือ USB ความเร็วสูง คือโดยตัวชิปเซต A620 เองจะมาพร้อมกับ USB 5Gbp และ USB 10Gbps เพียงอย่างละ 2 ช่อง เท่านั้น ซึ่งดูแล้วถือว่าน้อยมากสำหรับการเชื่อมต่อในยุคปัจจุบัน อย่างไรก็ตามถ้าเราดูตามบล็อกไดอะแกรมด้านล่างนี้ เราจะเห็นได้ว่า ผู้ผลิตเมนบอร์ดยังสามารถเพิ่มพอร์ต USB 10Gbps ความเร็วสูงเพิ่มได้อีกสูงสุด 4 พอร์ต โดยไปถึงมาจาก SoC ของตัวซีพียูโดยตรงครับ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับผู้ผลิตเมนบอร์ด้วยว่าจะมีการจัดการกับพอร์ต USB นี้อย่างไรบ้าง เพื่อให้ฟังก์ชันการทำงานโดยรวมเหมาะกับรุ่นและราคา เนื่องจากการใช้ USB ที่มีความเร็วสูงหลายพอร์ตก็จะส่งผลต่อการออกแบบชุดจ่ายไฟในตำแหน่งต่าง ๆ ของเมนบอร์ด รวมไปถึงเฟสไฟของซีพียูโดยตรงด้วยเช่นกัน
สำรวจเมนบอร์ด ASRock A620M-HDV/M.2+
- คุณสมบัติเด่น: A620M-HDV/M.2+
- รองรับซีพียู AMD Ryzen 7000 Series, Socket AM5
- 6+1+1 Power Phase, Dr.MOS, 120W CPU Ready
- รองรับ DDR5 6400+ MHz (OC)
- x1 PCIe 4.0 x16, x2 PCIe 3.0 x1, x1 M.2 Key E for WiFi
- Integrated AMD RDNA™ 2 Graphics
- Graphics Output Options: HDMI, DisplayPort
- Realtek ALC897 7.1 CH HD Audio Codec, Nahimic Audio
- 4 SATA3, 2 Hyper M.2 (PCIe Gen4x4)
- 6 USB 3.2 Gen1 (3 Rear, 1 Rear Type-C, 2 Front)
- Realtek Gigabit LAN
- รองรับ ASRock Auto Driver Installer, BIOS Flashback
บล็อกไดอะแกรมเมนบอร์ด ASRock A620M-HDV/M.2+ ที่แสดงถึงการเชื่อมต่อระหว่างซีพียู ชิปเซต ชิปควบคุมการทำงานอื่น ๆ สล็อตและพอร์ตต่อพ่วงกับอุปกรณ์ภายนอก ซึ่งถ้าดูจากรูปเราจะเห็นได้ว่าเมนบอร์ดรุ่นนี้จะรองรับ USB ที่ความเร็วสูงสุดที่ USB 5Gbps หรือ USB 3.2 Gen1 เท่านั้น ดังนั้นถ้าใครต้องการใช้งานพอร์ต USB 10Gbps ก็ต้องมองข้ามเมนบอร์ดรุ่นนี้แล้วขยับไปใช้เมนบอร์ดรุ่นที่ใช้ชิปเซต B650 ขึ้นไปครับ เช่น B650M Pro RS WiFi หรือ B650E Steel Legend WiFi เป็นต้น
ซ็อกเก็ต AM5 รองรับ Ryzen 7000 ซีรีส์
ซ็อกเก็ต AM5 รองรับซีพียู Ryzen 7000 ซีรีส์ ได้ครบทุกรุ่น แต่คำแนะนำของ AMD บอกว่าเมนบอร์ดชิปเซต A620 นั้นถูกออกแบบมาให้เหมาะกับซีพียูรุ่นที่มี TDP ไม่เกิน 65 วัตต์ ทั้งนี้เป็นเพราะว่าตามปกติของเมนบอร์ดรุ่นเล็กมักจะมาพร้อมกับจำนวนเฟสไฟของซีพียูไม่มากนัก หากมีการติดตั้งซีพียูที่มีค่า TDP สูงกว่า 65 วัตต์ ก็จะทำให้ไม่สามารถดึงประสิทธิภาพของซีพียูออกมาได้อย่างเต็มที่นั่นเองครับ แต่ในทางปฏิบัติคุณสามารถติดตั้งซีพียู Ryzen 7000 ทุกรุ่นลงเมนบอร์ดรุ่นนี้ได้ครับ สามารถตรวจสอบการรองรับซีพียูเพิ่มเติมได้ที่นี่ และการรองรับซีพียูบางรุ่นอาจจะต้องมีการอัปเดตไบออสก่อน
A620-HDV/M.2+ มาพร้อมกับเฟสไฟแบบ 6+1+1 ที่สามารถรองรับซีพียูที่มี TDP ในระดับ 120 วัตต์ได้ ถือว่าเป็นการออกแบบมาให้เกินมาตรฐานและคำแนะนำของ AMD ส่วนการใช้งานจริงจะเป็นเช่นไรคงต้องหาโอกาสในการทดสอบอย่างครบถ้วน ส่วนในการทดสอบวันนี้เราใช้ Ryzen 7 7700 ที่มีค่า TDP ระดับ 65 วัตต์ อันที่จริงนอกจากเรื่องของเฟสไฟบนเมนบอร์ดแล้ว อุปกรณ์ระบายความร้อนของซีพียูเองก็มีผลต่อประสิทธิภาพของซีพียูด้วยเช่นกันโดยเฉพาะเมื่อทำงานร่วมกับซีพียูที่มีค่า TDP สูง อุปกรณ์ระบายความร้อนประสิทธิภาพสูงก็มีความจำเป็นตามไปด้วย
หน่วยความจำ DDR5
ก็ตามสไตล์ของเมนบอร์ดราคาประหยัดครับสล็อตสำหรับติดตั้งแรมก็จะมีมาให้เพียงสองช่องเท่านั้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากโมดูลของแรม DDR5 เดี๋ยวนี้มีแบบความจุสูงให้เลือกใช้และก็เข้ากันได้กับเมนบอร์ดและซีพียูได้ดีกว่าสมัยที่เป็น DDR4 ดังนั้นแม้จะมีสล็อต DDR5 มาให้เพียงสองช่องก็สามารถที่จะประกอบพีซีที่มีความแรมความจุสูงได้โดยไม่มีปัญหา นอกจากนี้เรายังสามารถใช้แรมที่รองรับการโอเวอร์คล็อกโดยใช้โปรไฟล์ของ AMD EXPO หรือจาก Intel XMP ได้ทั้งคู่ หมดกังวลเรื่องการเลือกใช้แรม DDR5 ครับ นอกจากค่าโปรไฟล์การโอเวอร์คล็อกมาตรฐานจากทั้งสองค่ายแล้วคุณยังสามารถโอเวอร์คล็อกแรมเพิ่มเติมได้ด้วยตัวคุณเองโดยการปรับจากไบออสที่มีตัวเลือกในการปรับแต่งในระดับเดียวกับเมนบอร์ดรุ่นใหญ่เลยก็ว่าได้
รองรับ PCIe 4.0
A620M-HDV/M.2+ มาพร้อมกับสล็อตการ์ดจอที่รองรับ PCIe 4.0 x16 หนึ่งช่อง และมีสล็อต PCIe 3.0 x1 อีกสองช่อง ส่วนสล็อต SSD M.2 NVMe PCIe 4.0 x4 มีมาสองช่อง ถือว่าเพียงพอต่อการใช้งานกับเมนบอร์ดในระดับนี้ หากต้องการเพิ่มพื้นที่จัดเก็บข้อมูลอื่น ๆ ก็ยังสามารถใช้ SSD หรือ HDD แบบ SATA ได้อีก 4 ตัว
อย่างที่ได้บอกไปในตอนต้นครับว่าเมนบอร์ดชิปเซต A620 นั้นจะรองรับเฉพาะ PCIe 4.0 เท่านั้น แม้ว่า Ryzen 7000 ซีรีส์ จะรองรับ PCIe 5.0 แล้วก็ตาม แต่ถ้ามองในการใช้งานจริงเราก็จะพบว่าการรองรับเพียง PCIe 4.0 ในเวลานี้ไม่ได้เป็นปัญหาอะไร เพราะการ์ดจอที่มีอยู่ในทุกวันนี้ก็ยังคงเป็น PCIe 4.0 ทั้งหมด มีเพียง SSD M.2 NVMe เพียงบางรุ่นเท่านั้นที่รองรับ NVMe PCIe 5.0 แต่นั่นก็ยังคงเป็นอุปกรณ์ที่มีราคาแพง และยังมีปัญหาเรื่องความร้อนอยู่ ดั้งนั้นการรองรับ SSD M.2 NVMe PCIe 4.0 บนเมนบอร์ดรุ่นนี้ก็ยังคงเพียงพอต่อการใช้งานครับ และยังมีคอนเน็คเตอร์สำหรับใส่การ์ด M.2 WiFi เพิ่มเติมได้อีกด้วย
พอร์ตการเชื่อมต่อ
มาดูทางด้านพอร์ต I/O ของเมนบอร์ดรุ่นนี้กันหน่อยครับ ก็ตามประสาเมนบอร์ดราคาประหยัดครับ จำนวนพอร์ต USB ก็ไม่ได้มีอะไรมากมาก แต่ก็มีมาให้ครบทุกแบบที่พร้อมสำหรับการทำงานทั้ง USB 3.0 Type-A และ Type-C รวมไปถึงคอนเน็ตเตอร์สำหรับต่อสาย LAN และช่องเสียงที่รองรับ 7.1 Ch นอกจากนี้ยังมีปุ่มสำหรับช่วยแฟลชไบออส ที่ทำให้คุณแฟลชไบออสได้โดยไม่ต้องติดตั้งซีพียูอีกด้วย
และเนื่องจากซีพียู Ryzen 7000 ซีรีส์ทุกรุ่นจะมาพร้อมกับกราฟิก Radeon ในตัวแม้ว่าจะไม่แรงมากนัก แต่ก็สามารถใช้ต่อกับจอภาพความละเอียดสูงระดับ 4K/60Hz ได้ทันที โดยไม่ต้องพึ่งพาการ์ดจอแยก ส่วนความแรงก็มีมากเพียงพอสำหรับดูหนังความละเอียดสูงและเล่นเกมเบา ๆ ได้เช่นกัน ดังนั้นที่ตัวเมนบอร์ดจึงมาพร้อมช่องต่อจอภาพแบบ HDMI และ DisplayPort อย่างละหนึ่งช่อง
ฟังก์ชันอื่น ๆ ของเมนบอร์ด
ข้อดีอย่างหนึ่งของเมนบอร์ดรุ่นนี้ก็คือมาพร้อมกับ LED Debug ซึ่งเมนบอร์ดรุ่นเล็ก ๆ หลายรุ่นไม่ได้ตัดส่วนนี้ไปเพื่อลดต้นทุน แม้ว่า LED Debug ที่ให้มาจะไม่ได้เป็นแบบ 7-Segment สองหลัก เป็นเพียงแค่ LED สี่ดวงที่แสดง CPU, VGA, RAM และ BOOT มาให้เท่านั้น แต่ก็เพียงพอแล้วสำหรับการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น
ส่วนคอนเน็ตเตอร์สำหรับติดตั้งพัดลมจะมีมาให้ทั้งหมด 4 ตำแหน่ง เป็นตำแหน่งสำหรับพัดลม CPU โดยเฉพาะหนึ่งช่อง ส่วนที่เหลือจะเป็น Case Fan แต่ก็ถูกออกแบบไว้ให้รองรับการเชื่อมต่อกับ Water Block สำหรับชุดน้ำด้วยเช่นกัน แต่ว่าไม่ได้รองรับกำลังไฟฟ้าสูงเหมือนเมนบอร์ดรุ่นใหญ่ ส่วนรายละเอียดการใช้งานเมนบอร์ดที่เหลือก็สามารถหาอ่านได้จากคู่มือของเมนบอร์ดครับ ถ้าจะให้อธิบายตรงนี้ทั้งหมดก็คงไม่ไหว
ทำความรู้จักเมนบอร์ดรุ่นนี้ก็มาพอสมควรแล้วตอนนี้ก็ถึงเวลาที่จะไปทดลองใช้งานกันแล้วครับ
อุปกรณ์ที่ใช้ทดสอบ
- CPU: AMD Ryzen 7 7700 (8C/16T, up tp 5.3GHz)
- GPU: Integrate AMD Radeon Graphics (2 CU)
- MB: ASRock A620M-HDV/M.2+
- RAM: Apacer NOX DDR5, 4800 (XMP 5200) 16GB x 2
- SSD: Transcend TS512GMTE220S (512 GB, PCI-E 3.0 x4)
- PSU: Thermaltake iRGB Plus 850W
เนื่องจากซีพียู Ryzen 7 7700 นั้นมีค่า TDP อยู่ที่ 65 วัตต์ เท่านั้น เราจึงเลือกใช้ฮีตซิงค์ของเอเอ็มดีเองในการระบายความร้อนครับ โดยเลือกใช้ AMD Wraith MAX ที่มีค่า TDP อยู่ที่ 120 วัตต์ ก็สามารถรองรับความร้อนที่เกิดขึ้นจากซีพียูรุ่นนี้ได้อย่างสบาย ๆ
เรื่องของ BIOS (1.19)
เนื่องจาก ASRock A620M-HDV/M.2+ เป็นเมนบอร์ดที่ไม่ได้รองรับการโอเวอร์คล็อกของซีพียู ดังนั้นพวกหน้าจอการปรับแต่งรายละเอียดการทำงานของซีพียูจึงมีไม่มากนัก ที่มีให้ปรับก็จะเป็นพวกฟังก์ชันการทำงานของตัวซีพียูเป็นหลักมากกว่า ส่วนที่มีรายละเอียดให้ปรับได้เยอะจริง ๆ ก็จะเป็นพวกการตั้งค่าของแรม DDR5 เพราะเมนบอร์ดรุ่นนี้ยังคงสามารถโอเวอร์คล็อกหน่วยความจำได้ แต่จะมากหรือน้อยก็ต้องขึ้นอยู่กับคุณสมบัติของแรมที่ใช้ และ IMC ของซีพียูเป็นหลัก ซึ่งในการทดสอบครั้งนี้เราไม่ได้ไปโฟกัสตรงจุดนั้น เราดูเฉพาะเรื่องการจ่ายไฟให้กับซีพียูเป็นหลัก
อย่างไรก็ตามเรื่องของ BIOS ในวันที่เราทดสอบนี้ยังเป็นรุ่น 1.19 ซึ่งในอนาคตจะต้องมีรุ่นใหม่ตามออกมาเป็นปกติ ดังนั้นเรื่องของหน้าตาและรายละเอียดก็อาจจะมีการปรับเปลี่ยนที่แตกต่างจากเวอร์ชันที่เราใช้ทดสอบก็เป็นได้ เพราะอย่าลืมว่าในอนาคตเอเอ็มดีเองก็คงจะมีการเปิดตัว Ryzen 7000G ที่มีกราฟิกแรง ๆ ในตัวตามออกมาอีก เพียงแต่จะเมื่อไหร่เท่านั้นเอง เอาเป็นวันในตอนนี้วันที่เราทดสอบไบออสของเมนบอร์ดรุ่นนี้ถูกออกแบบมาให้ใช้งานได้อย่างเรียบง่าย จนแทบไม่ต้องไปยุ่งอะไร ตั้งค่าแรมที่ต้องการเพียงอย่างเดียวก็จบและใช้งานได้ยาว ๆ แล้ว
ผลการทดสอบ
3DMark CPU Profile
การทดสอบด้วย CPU Profile จาก 3DMark แสดงให้เราเห็นได้อย่างชัดเจนว่าเมนบอร์ดรุ่นนี้สามารถรองรับการทำงานของ Ryzen 7 7700 ที่เป็นซีพียูแบบ 8C/16T ได้อย่างสบาย และยังสามารถทำความเร็วของซีพียูไปได้สูงถึงระดับ 5.3GHz ซึ่งเป็นค่าสูงสุดที่ซีพียูรุ่นนี้สามารถทำได้ (แบบยังไม่โอเวอร์คล็อกเพิ่ม) โดยคะแนนที่ออกมาก็อยู่ในเกณฑ์เฉลี่ยที่ซีพียูรุ่นนี้สามารถทำได้
CINEBENCH R23
การทดสอบด้วย CINEBENCH R23 นอกจากจะดูเรื่องคะแนนที่ทำได้แล้ว เรายังได้ทำการทดสอบต่อเนื่องเรื่องเสถียรภาพในการทำงานก็พบว่าเมนบอร์ดและซีพียูทำงานร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหาใด ๆ คะแนนก็อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานเช่นกัน
Blackmagic RAW
ทดสอบประสิทธิภาพการทำงานร่วมกับไฟล์วิดีโอ โดยการทดสอบนี้เราไม่ได้ติดตั้งการ์ดจอเพิ่มเติม เราใช้พลังของซีพียูและพลังของ iGPU Radeon (2 CU) ที่รวมอยู่ตัวซีพียูเท่านั้น ซึ่งประสิทธิภาพก็อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจครับ ในเบื้องต้นสามารถรองรับงานวิดีโอในระดับ 4K60 ได้สบาย ๆ แน่นอนว่าไม่ใช่งานวิดีโอที่ซับซ้อนมากนัก แต่ถึงกระนั้นเราก็สามารถใช้เจ้า Radeon 2 CU นี้ช่วยในการตัดต่อวิดีโอได้จริงครับ เพราะมีทั้ง SSD M.2 และมีหน่วยความจำมาถึง 32GB แม้จะถูกแชร์บางส่วนมาให้กับการแสดงผลด้วย แต่ก็ยังมีเหลือพอสำหรับการทำงานอื่น ๆ
HWiNFO64 ความร้อนและความเร็ว
นอกจากสามโปรแกรมข้างต้นที่ได้กล่าวไปแล้ว เรายังได้ทดลองใช้งานอื่น ๆ ไปอีกตลอดอีกหลายวัน ซึ่งเป็นการติดตามเรื่องของความร้อนในการทำงานของซีพียูว่าอยู่ในระดับใด และการจ่ายพลังงานของเมนบอร์ดรุ่นนี้กับซีพียูนั้นเป็นอย่างไร ซึ่งผลมันก็ออกมาได้ประมาณนี้ครับ
เรื่องความร้อน (ทดสอบในห้องอุณหภูมิประมาณ 28 องศา) ซีพียู Ryzen 7 7700 กับฮีตซิงค์ AMD Wraith MAX ทำงานด้วยกันได้สบายไม่มีปัญหาเรื่องโอเวอร์ฮีตจนทำให้ความเร็วตก (Tjmax 95°C) แต่ความเร็วจะแปรผันไปตามเวิร์คโหลดมากกว่า ถ้าดูจากค่าที่เราบันทึกไว้ก็จะเห็นได้ว่าความร้อนสูงสุดของคอร์ ที่เกิดขึ้นจะอยู่ที่ประมาณ 83 องศาเซียเซียสเท่านั้น ไม่ได้ไปถึงระดับ 90+ องศา เหมือนพวกซีพียูรุ่นใหญ่ที่ใช้ TDP ระดับ 100+ วัตต์
สำหรับเรื่องการจ่ายไฟให้กับซีพียู ภาคจ่ายไฟ 6+1+1 เฟส ก็สามารถทำงานได้ดีครับ ดังจะเห็นได้จากความเร็วของซีพียูนั้นสามารถไปถึงจุด 5.34GHz ซึ่งเป็นความเร็วตามสเปคได้อย่างไม่สะดุด แต่ถ้ามีเวิร์คโหลดจำนวนมาก ความเร็วก็อาจจะลดลงมาอยู่ที่ 4.8-5.1GHz บาง หรือในบางกรณี คอร์ที่ไม่ถูกใช้งานหรือใช้งานน้อยอาจจะลดความเร็วลงมาเหลือที่ระดับ 3GHz ต้น ๆ เพื่อส่งพลังงานให้กับคอร์ประมวลผลที่เหลือซึ่งจะทำให้ซีพียูทำงานและตอบสนองต่องานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สรุปหลังการใช้งาน
ASRock A620M-HDV/M.2+ เป็นเมนบอร์ดที่เน้นการใช้งานแบบเรียบง่าย เหมาะกับผู้ใช้ที่ต้องการประกอบพีซีแล้วเปิดแค่ EXPO หรือ XMP ของแรมแล้วจบเลย ไม่ต้องไปวุ่นวายกับการปรับแต่งค่าใด ๆ ของซีพียูให้วุ่นวายอีก เพราะเท่าที่ทดสอบและลองใช้งานจริงก็ได้เห็นแล้วว่าเมนบอร์ดรุ่นนี้สามารถดึงประสิทธิภาพการทำงานของซีพียู Ryzen 7 7700 ที่มีค่า TDP 65 วัตต์ ออกมาได้อย่างดี ซึ่งมันก็ตรงกับวัตถุประสงค์ของเมนบอร์ดชิปเซต A620 ที่บอกว่าออกแบบมาให้เหมาะกับซีพียูที่มี TDP ระดับ 65 วัตต์ แต่ก็ยังสามารถรอบรับซีพียูที่มี TDP ในระดับที่สูงกว่าได้ซึ่งตอนนี้เรากำลังทดสอบและจะนำมารายงานให้ทราบกันอีกครั้งครับ