รีวิวเมนบอร์ด ASRock B760M Steel Legend WiFi รองรับซีพียู อินเทล คอร์ เจนฯ 12 และ 13

ASRock B760M Steel Legend WiFi เมนบอร์ดชิปเซต B760 ที่ออกมาพร้อม ๆ กับการเปิดตัวซีพียู อินเทล คอร์ เจนฯ 13 บนซ็อกเก็ต LGA 1700 ซึ่งยังคงเข้ากันได้ดีกับซีพียู อินเทล คอร์ เจนฯ 12 ที่เปิดตัวมาก่อนหน้านี้ได้เช่นกัน 

แม้ว่าซีพียู อินเทล คอร์ เจนฯ 12 และ คอร์ เจนฯ 13 จะใช้ซ็อกเก็ตแบบเดียวกันและยังทำงานร่วมกับชิปเซต Intel 600 Series ที่ออกมาก่อนหน้านี้ได้ทั้งหมด แต่อินเทลก็ได้ออกชิปเซต Intel 700 Series เพิ่มเติมตามออกมาด้วยพร้อม ๆ กัน รวมถึงชิปเซต B760 ที่อยู่ในเมนบอร์ดรุ่นนี้

ความแตกต่างชิปเซต B760 และ B660

ในทางเทคนิคถ้าเราไปดูข้อมูลจากเว็บไซต์ของอินเทลเอง เพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างชิปเซต B660 และ B760 ก็จะพบว่ามีความแตกต่างเล็กน้อยในเรื่องของจำนวนเลน PCIe 3.0 และ PCIe 4.0 ส่วนฟังก์ชันการทำงานอื่น ๆ นั้นยังคงเหมือนกัน

แต่ถ้าเราลงไปดูรายละเอียดถึงตัวเมนบอร์ดแบบเทียบตรงรุ่นต่อรุ่น เช่น ระหว่าง ASRock B760M Steel Legend WiFi กับ ASRock B660M Steel Legend เราก็จะเห็นได้ว่าคุณสมบัติบางอย่างที่เรารอคอยนั้นจะมาอยู่ในรุ่นชิปเซต B760 เช่นการรองรับ DDR5 การรองรับ WiFi ในตัว รวมไปถึงการมีเฟสของภาคจ่ายไฟที่ 12 เฟส ซึ่งสูงกว่ารุ่น B660 ที่มีเพียง 9 เฟส เท่านั้น

ทั้งนี้เป็นเพราะว่าในช่วงการเปิดตัวของ คอร์ เจนฯ 12 ที่มาพร้อมกับชิปเซต B660 นั้น ราคาของ DDR5 ยังค่อนข้างสูง และมีจำนวนไม่มากนัก เมนบอร์ดที่ใช้ชิปเซตระดับกลางอย่าง B660 จึงมุ่งทำรุ่นที่รองรับ DDR4 มากกว่านั่นเอง และพอมาถึงการเปิดตัวของซีพียู คอร์ เจนฯ 13 ที่ราคาของ DDR5 ลดลงมาอย่างมาก และมีตัวเลือกมากขึ้นจึงทำให้เมนบอร์ดในกลุ่ม B760 จะมีรุ่นที่รองรับ DDR5 เป็นหลักมากกว่า รวมทั้งเพิ่มจำนวนเฟสของภาคจ่ายไฟสำหรับซีพียูด้วยเช่นกัน เนื่องจากซีพียูในกลุ่ม คอร์ เจนฯ 13 หลายรุ่นมีการเพิ่มจำนวนคอร์และเธรดเพิ่มขึ้นด้วยนั่นเอง อย่างเช่น i5-13600K เจนฯ 13 นั้นมีประสิทธิภาพโดยรวมเทียบชั้นกับ Core i7-12700K ของเจนฯ 12 ได้เลย

ดังนั้นถ้าคุณกำลังจะประกอบพีซีเครื่องใหม่ที่ใช้ซีพียู อินเทล คอร์ เจนฯ 12 หรือ เจนฯ 13 ก็ตาม ถ้าต้องการใช้งาน DDR5 เราก็แนะนำให้เลือกเมนบอร์ดที่ใช้ชิปเซต B760 จะดีกว่าเมื่อเทียบกับ B660 ครับ

หมดเรื่องชิปเซตแล้ว เรากลับมาดูที่รายละเอียดของเมนบอร์ด ASRock B760M Steel Legend WiFi กันต่อครับ ด้วยรหัสลงท้าย M หลังตัวชื่อรุ่นชิปเซตที่ใช้ เป็นการบ่งบอกว่าเมนบอร์ดรุ่นนี้มาในฟอร์มแฟคเตอร์ Micro ATX แต่ก็ยังคงให้พื้นที่ในการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้มาพอตัว และมีฟังก์ชันการใช้งานที่ใกล้เคียงกับเมนบอร์ดรุ่นใหญ่

ภาพบล็อกไดอะแกรมจากคู่มือเมนบอร์ด ASRock B760M Steel Legend WiFi

รองรับซีพียู อินเทล คอร์ เจนฯ 12 และ 13

ก็อย่างที่กล่าวไปในตอนต้นว่าเมนบอร์ดรุ่นนี้ใช้ซ็อกเก็ต LGA 1700 ที่ออกแบบมาให้รองรับได้ทั้งซีพียู อินเทล คอร์ เจนฯ 12 (Alder Lake) และ เจนฯ 13 (Raptor Lake) และมาพร้อมกับภาคจ่ายไฟสำหรับซีพียูแบบ 12+1+1 ซึ่งทำให้พร้อมรองรับซีพียูรุ่นประสิทธิภาพสูงได้ อย่างไรก็ตามเมนบอร์ดที่ใช้ชิปเซต B760 นั้นจะไม่รองรับการโอเวอร์คล็อกซีพียู ต้องเป็นเมนบอร์ดชิปเซต Z Series เท่านั้น แต่เราก็ยังสามารถปรับค่าการใช้พลังงานให้กับซีพียูได้จาก BIOS เพื่อให้ซีพียูทำงานในอย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งเราก็ต้องเตรียมชุดระบายความร้อนไว้ให้เพียงพอด้วย

ซ็อกเก็ต LGA 1700 รองรับได้ทั้งอินเทล คอร์ เจนฯ 12 และ เจนฯ 13 ภาคจ่ายไฟแบบ 12+1+1 เฟส

รองรับ DDR5 และ โอเวอร์คล็อกแรมได้

B760 ยังคงจัดอยู่ในกลุ่มชิปเซตระดับกลางที่มีฟังก์ชันครบครันขาดเพียงเรื่องการรองรับของซีพียูเท่านั้น แต่ว่าอินเทลก็ยังให้คุณสมบัติในเรื่องการโอเวอร์คล็อกแรมไว้เช่นเดิม ไม่ว่าคุณจะใช้ซีพียูรุ่นใด K หรือ non-K ก็สามารถโอเวอร์คล็อกหน่วยความจำได้ครับ เพียงแต่จะโอเวอร์คล็อกไปต่อได้มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติเฉพาะตัวของซีพียูแลแรมครับ สำหรับเมนบอร์ดรุ่นนี้มีสล็อต DDR5 มาให้ทั้งหมด 4 ช่องด้วยกัน และสามารถรองรับแรมได้สูงสุดถึง 192GB และที่สำคัญตอนนี้ไบออสล่าสุดที่อัปเดตออกมายังช่วยให้รองรับหน่วยแรมที่มีความจุ 24GB และ 48GB ต่อโมดูลได้อีกด้วย ส่วนแรมแบบ 8GB, 16GB และ 32GB นั้นรองรับได้เป็นปกติอยู่แล้ว เมนบอร์ดรุ่นนี้สามารถรองรับแรมทั้งแบบ XMP ที่เป็นค่าโปรไฟล์ OC แรมของ Intel และรองรับ EXPO ที่เป็นค่าโปรไฟล์ OC แรมของ AMD

รองรับ PCIe 5.0 สำหรับกราฟิกการ์ด

เมนบอร์ดรุ่นนี้มีสล็อตสำหรับติดตั้งอุปกรณ์ที่เป็นการ์ดเพิ่มเติมมาให้สองสล็อตเท่านั้น สล็อตแรกก็คือ PCIe 5.0 x16 สำหรับติดตั้งการ์ดจอมาให้หนึ่งช่อง โดยสล็อตนี้เป็นช่องที่เชื่อมต่อเข้ากับซีพียูโดยตรงทำให้การรับส่งข้อมูลระหว่างซีพียูและการ์ดจอทำได้อย่างรวดเร็ว ส่วนอีกหนึ่งสล็อตเป็น PCIe x1 ที่คุณอาจจะเอาไว้ติดตั้งแคปเจอร์การ์ด หรือซาวน์ดการ์ด หรือการ์ดต่อพ่วงอุปกรณ์อื่น ๆ ได้

ติดตั้ง SSD M.2 ได้จุใจพร้อมกันถึงสามตัว

ถึงจะเป็นเมนบอร์ดขนาด micro ATX แต่ทาง ASRock ก็ออกแบบให้เมนบอร์ดรุ่นนี้สามารถติดตั้ง SSD M.2 ได้สูงสุดถึงสามตัว และทั้งหมดทำงานงานที่โหมด PCIe 4×4 (64Gb/s) ช่องแรกจะอยู่ถัดไปจากสล็อต PCIe5 x16 ช่องนี้จะถูกเชื่อมต่อเข้ากับซีพียูโดยตรงครับ ก็แนะนำว่าให้ติดตั้ง SSD M.2 สำหรับบูตไว้ที่ช่องนี้ครับเพื่อความเร็วสูงสุด ส่วนอีกสองช่องที่เหลือเชื่อมต่อผ่านทางชิปเซต B760 ครับ เมนบอร์ดรุ่นนี้จะมาพร้อมกับฮีตซิงค์ SSD M.2 ให้สองต่ำแหน่งครับ คือช่องแรกที่ติดกับซีพียู และช่องที่สองที่ติดกับ PCIe x1 ส่วนใครที่ยังต้องการติดตั้งฮาร์ดดิสก์ความจุสูงเพิ่มเติมเมนบอร์ดรุ่นนี้ก็ยังมีพอร์ต SATA 6Gb/s มาให้ใช้งานอีก 4 พอร์ตครับ

Back I/O ที่ครบครัน

คอนเน็ตเตอร์สำหรับเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ต่อพ่วงภายนอกที่ให้มาก็ถือว่าครบครันและพร้อมใช้มากครับ แม้แต่ back plate ก็ติดตั้งมาให้จากโรงงาน เปิดกล่องออกมาก็พร้อมใช้ทันที ไม่ต้องกลัวหลงลืมหรือสูญหายครับ ในกรณีที่คุณใช้ iGPU ก็จะมีพอร์ตต่อจอภาพมาให้สองช่องเป็น DisplayPort และ HDMI อย่างละหนึ่ช่อง และมีคอนเน็คเตอร์สำหรับต่อสายสัญญาณ Wi-Fi อยู่ทางด้านบน ถัดมาจะเป็นพอร์ต USB 2.0 สองช่องพร้อมพอร์ต PS/2 ตามมาด้วยชุด USB 3.0 ที่มี Type-A สามช่อง และ Type-C หนึ่งช่อง ถัดมาอีกนิดก็จะเป็นช่องต่อสายแลน และ USB 3.0 อีกสองช่อง และปิดท้ายด้วย ชุด Audio ครับ ก็ถือว่ามีให้ครบถ้าพอร์ตรุ่นเก่าระดับ PS/2 ไปจนถึงรุ่นใหม่อย่าง USB Type-C (USB-C)

การทดสอบ

การทดสอบของเราในครั้งนี้จะไม่ได้มามุ่งเน้นเกี่ยวกับประสิทธิภาพอะไรมากมายนะครับ แต่อยากจะให้เห็นถึงการรองรับหน่วยความจำและการรองรับการทำงานของซีพียูเป็นหลักมากกว่า เพราะประสิทธิภาพของเครื่องคอมพิวเตอร์มันก็ขึ้นอยู่ที่ซีพียู แรม การ์ดจอ รวมไปถึง SSD ที่เราใช้งานกันมากกว่า

อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบ

  • Mainboard: ASRock B760M Steel Legend WiFi
  • CPU: Intel Core i7 12700K
  • CPU Cooler: CoolerMaster V8 / (Mod FAN 12cm, Max 2500rmp)
  • GPU: AMD Radeon RX 6500 XT
  • RAM: Apacer NOX DDR5-5200 16GBx2
  • SSD: Corsair Force MP600 1TB
  • PSU: Thermaltake TOUGHPOWER iRGB PLUS 850W
  • OS: Windows 11 Pro

ทดสอบแรมและการโอเวอร์คล็อกแรม

เมนบอร์ดรุ่นนี้แม้จะไม่รองรับการโอเวอร์คล็อกซีพียู แต่ว่าก็ยังสามารถโอเวอร์คล็อกแรมได้ตามสมควรครับ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับคุณสมบัติเฉพาะตัวของซีพียูและแรมนั่นเองครับ สำหรับการทดสอบของเราก็ลองโอเวอร์คล็อกเล่น ๆ ด้วยการเปิดค่าแรมปกติ (JDEC) ที่ 4800MHz ตามด้วยการเปิดใช้ XMP ที่ 5200MHz และโอเวอร์คล็อกต่อไปยัง 5400MHz และ 5600MHz ก็ถือว่าเป็นค่าที่น่าพอใจสำหรับเมนบอร์ดและแรมที่เน้นความประหยัดอย่าง Apacer NOX DDR5 รุ่นนี้

การจ่ายพลังงานและการทำงานของซีพียู

รูปด้านบนคือบันทึกการทำงานของซีพียูและเมนบอร์ดโดยใช้โปรแกรม HWiNFO ในรูปด้านบนจะมีข้อมูลสำคัญที่อยากให้ดูอยู่สองส่วนคือ ส่วนแรกจะบ่งบอกความเร็วในการทำงานของ CPU Clock ทั้ง P-Core และ E-Core ก็จะเห็นได้ว่าความเร็วของ P-Core นั้นสามารถบูสไปได้สูงถึงระดับ 4.98GHz หรือจริง ๆ จะบอกว่าไปแตะที่ระดับ 5GHz ตามสเปคของซีพียูก็ว่าได้ครับ ส่วน E-Core เองก็สามารถบูสไปที่จุดสูงสุดคือ 3.79GHz หรือ 3.8GHz ตามสเปคได้เช่นกัน และการที่ความเร็วของซีพียูสามารถไปถึงระดับบูสสูงสุดได้นั้น นอกจากประสิทธิภาพในการระบายความร้อนของฮีตซิงค์แล้ว การจ่ายพลังงานของเมนบอร์ดเองก็มีส่วนช่วยในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน กรอบแดงด้านล่างของ HWiNFO จะเห็นได้ว่าภาคจ่ายไฟของเมนบอร์ดสามารถจ่ายไฟให้กับซีพียูได้อย่างเต็มที่จากค่าที่บันทึกได้สูงสุดคือ 241W (PL2) ก็น่าเสียดายที่เราไม่ได้ใช้ซีพียูรุ่นท็อปอย่าง Core i9 (เจนฯ 13 Max 219W) แต่เราก็คิดว่าคนส่วนใหญ่ที่ใช้ชิปเซต B760 ก็น่าจะเลือกซีพียูในระดับ Core i7 และ Core i5 เป็นหลักกันอยู่แล้ว ดังนั้นการทดสอบครั้งนี้ก็คงจะช่วยให้มองเห็นภาพได้ว่าเมนบอร์ดรุ่นนี้สามารถจะรองรับซีพียูได้ทุกระดับอย่างแน่นอนครับ

BIOS ที่ใช้งานง่ายตามสไตล์ ASRock

ถ้าใครเคยใช้เมนบอร์ดของ ASRock มาก่อนก็จะคุ้นเคยกับเมนูต่าง ๆ ได้ง่ายครับ เพราะเป็นมาตรฐานเลย และถ้าใครเคยใช้เมนบอร์ดอย่าง ASRock B660 มาก่อนแล้ว ก็เรียกได้ว่าไม่ต้องปรับตัวอะไรทั้งสิ้น ทุกอย่างเหมือนเดิมครับ (อัปเดตล่าสุด 18 มิถุนายน 2023 ตอนนี้ มีไบออสใหม่ออกมาแล้ว อัปเดตเพื่อรองรับอินเทล คอร์ เจนฯ 14 ได้อีกต่างหาก แปลว่าเมนบอร์ดรุ่นนี้ยังอยู่ได้อีกยาว ๆ ครับ)

สรุปหลังใช้งาน

ในมุมมองด้านประสิทธิภาพ ASRock B760M SL WiFi นี้ก็ถือว่าสามารถดึงประสิทธิภาพของฮาร์ดแวร์ต่าง ๆ ออกมาได้อย่างเต็มที่ ถ้าดูจากผลการทดสอบก็จะเห็นได้ว่าซีพียู Core i7-12700K ที่เราติดตั้งลงไปนั้นสามารถทำคะแนนในการทดสอบได้อยู่ในระดับเกณฑ์เฉลี่ยมาตรฐาน CPU Clock ในส่วนของ P-Core ก็สามารถทำได้สูงสุดถึง 4.98GHz ก็เกือบจะสูงสุดตามที่สเปคกำหนดที่ 5.0GHz และสำหรับ E-Core ก็สามารถบูสไปได้ถึง 3.79GHz สูงสุดตามสเปค 3.8GHz นี่ก็เป็นอีกข้อพิสูจน์ว่าเมนบอร์ดรุ่นนี้มีศักยภาพมากพอที่จะรองรับซีพียูประสิทธิภาพสูงได้ดีพอสมควรเลยทีเดียว ดังนั้นถ้าใครนำเมนบอร์ดรุ่นนี้มาใช้กับซีพียูรุ่นธรรมดาที่ไม่ได้เน้นเรื่องการโอเวอร์คล็อกก็สามารถใช้ได้แบบไม่ต้องกังวลครับ

ส่วนเรื่องความสะดวกและการติดตั้งอุปกรณ์เพื่อการทำงานนั้น ถึงจะเป็นเมนบอร์ดในขนาด MicroATX ก็ยังสามารถรองรับอุปกรณ์ประสิทธิภาพสูงทั้งหลายได้ไม่ว่าจะเป็นการรองรับ DDR5 การรองรับอินเทอร์เฟซการ์ดจอ PCIe 5.0 x16 แต่ตอนนี้ยังไม่มีการ์ดจอรุ่นไหนที่ใช้ PCIe 5.0 ครับ

สำหรับคนที่ต้องการจัดเก็บข้อมูลมาก ๆ และอ่านเขียนด้วยความเร็วสูง เมนบอร์ดรุ่นนี้ก็ตอบโจทย์ได้ตรงจุดมาก ๆ แม้จะเป็นเมนบอร์ดขนาด MicroATX แต่ก็มีคอนเน็คเตอร์แบบ M.2 มาให้ถึง 3 ช่องด้วยกัน และทุกช่องก็ยังรองรับ PCIe 4 x4 (64 Gb/s) อีกด้วย ตรงจุดนี้ถือว่าทำออกมาได้ดีมากครับ ใช้งานได้แบบไม่ต้องกังวลเลย

ในภาพรวม ASRock B760M Steel Legend WiFi ก็ยังคงเป็นเมนบอร์ดที่ให้ความคุ้มค่าในการใช้งานอย่างรอบด้านตามสไตล์ Steel Legend และยังคงเป็นหนึ่งในเมนบอร์ดในที่เราวางใจได้อยู่เสมอครับ

ข้อมูลเมนบอร์ดโดยละเอียด https://www.asrock.com/mb/Intel/B760M%20Steel%20Legend%20WiFi/index.asp