เมื่อเร็ว ๆ นี้ทางอินเทลได้เปิดตัวซีพียู คอร์ เจนเนอร์เรชั่น 11 รหัส Rocket Lake ซึ่งเป็นซีพียูรุ่นล่าสุดจากอินเทลที่มาพร้อมกับกราฟิกสถาปัตยกรรมใหม่ Intel Xe ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าเดิม นอกจากนี้อินเทลก็ยังออกชิปเซตใหม่มาอีก 4 รุ่น คือ Z590, H570, B560 และ H510 เพื่อมาทำงานร่วมกับซีพียู Rocket Lake นี้โดยเฉพาะ

ส่วนทาง MSI ได้เปิดตัวเมนบอร์ดรุ่นใหม่ MSI 500 Series ชุดแรกที่ใช้ชิปเซต Z590 และ B560 เพื่อมารองรับซีพียู อินเทล คอร์ เจนฯ 11 (Rocket Lake) เช่นกัน โดยจะแบ่งเมนบอร์ดออกมาเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ สำหรับผู้ใช้คือกลุ่ม GAMER และกลุ่ม CREATOR ก่อนที่จะไปดูรายละเอียดของเมนบอร์ดจาก MSI ตอนนี้เราไปทำความรู้จักกับซีพียู Rocket Lake กันสักเล็กน้อย
ซีพียู อินเทล คอร์ เจนเนอร์เรชัน 11 (Rocket Lake)
ซีพียู อินเทล คอร์ เจนฯ 11 รหัส Rocket Lake เป็นการพัฒนาต่อยอดมาจาก คอร์ เจนฯ 10 รหัส Comet Lake และยังคงใช้ซ็อกเก็ตเดิมคือ LGA 1200 โดยในการปรับปรุงครั้งนี้อินเทลได้ทำการเพิ่มประสิทธิภาพให้มีประสิทธิภาพต่อคอร์ที่สูงขึ้น, เพิ่มชุดคำสั่งใหม่ AVX512 ที่จะช่วยเร่งการประมวลผลด้าน AI ในแอปพลิเคชัน, รองรับหน่วยความจำหรือแรมที่ความเร็ว 3200MHz เป็นมาตรฐาน ส่วนรุ่นที่มีกราฟิกในตัวก็เปลี่ยนปรับมาใช้สถาปัตยกรรม Intel Xe ที่ให้ประสิทธิภาพในการทำงานที่สูงกว่าเดิม รองรับจอภาพที่ความละเอียดสูงขึ้น รวมไปถึงรองรับมาตรฐานวิดีโอความละเอียดสูงได้ดีขึ้นด้วย และที่สำคัญคือซีพียู คอร์ เจนฯ 11 นี้รองรับอินเทอร์เฟซ PCIe Gen 4 อีกด้วย ซึ่งแบนด์วิดธ์เป็นสองเท่าของ PCIe Gen 3



กราฟิกในซีพียู คอร์ เจนฯ 11 ที่ใช้สถาปัตยกรรม Intel Xe ทางอินเทลจะเรียกชื่ออย่างเป็นทางการว่า Intel UHD Graphics 750 กับ Intel UHD Graphics 730 โดย UHD 750 จะมีจำนวน EU หรือ Execution Unit อยู่ที่ 32 ชุด ส่วน UHD 730 จะมี 24 ชุด และถ้าเทียบกับกราฟิกรุ่นเก่าก็จะเห็นได้ว่า UHD 750 และ UHD 730 จะรองรับการแสดงผลได้สูงถึง 5K ที่ 60Hz ในขณะที่ UHD 630 รุ่นเก่ารองรับที่ 4K 60Hz เท่านั้น นอกจากนี้ในเรื่องของ API กราฟิกก็รองรับ DirectX 12.1 ซึ่งเป็นรุ่นล่าสุด รวมทั้งรองรับชุดคำสั่ง OpenCL 3.0 จะช่วยให้การประมวลผลทางด้านมัลติมีเดียเร็วขึ้นกว่าเดิมและรองรับมาตรฐานของไฟล์ฟอร์แมตใหม่ ๆ ที่มีรายละเอียดได้สูงขึ้น
ซ็อกเก็ต LGA 1200 รองรับทั้งซีพียู คอร์ เจนฯ 11 และ คอร์ เจนฯ 10
เมนบอร์ดชิปเซต Intel 500 Series ของ MSI ยังคงใช้ซ็อกเก็ต LGA 1200 เหมือนกับชิปเซต Intel 400 Series รุ่นก่อนหน้า แม้เมนบอร์ด MSI 500 Series จะทำออกมาเพื่อรองรับซีพียู คอร์ เจนฯ 11 (Rocket Lake) แต่ผู้ใช้ก็สามารถนำซีพียู คอร์ เจนฯ 10 (Comet Lake) รุ่นเดิม มาใช้งานร่วมกับเมนบอร์ด MSI 500 Series ได้อย่างไม่มีปัญหา ซึ่งผู้ที่ใช้ซีพียู คอร์ เจนฯ 10 ที่อยากจะอัปเกรดเพลตฟอร์มของเมนบอร์ดเพื่อให้รองรับมาตรฐานฮาร์ดแวร์ใหม่ ๆ ก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนยกชุด อัปเกรดเฉพาะตัวเมนบอร์ดอย่างเดียวก็เพียงพอแล้ว แต่ถ้าต้องการใช้ PCIe Gen 4 ด้วย ก็คงจะต้องเปลี่ยนมาใช้ซีพียู คอร์ เจนฯ 11 ด้วยเช่นกัน


ส่วนข้อได้เปรียบอีกอย่างของการใช้เมนบอร์ดชิปเซต Z590 ก็คือ สามารถรองรับหน่วยความจำที่มีความเร็วได้สูงเกินระดับ 5000MHz ซึ่งจะเหมาะอย่างมากสำหรับคนที่ต้องการเร่งประสิทธิภาพในการทำงานให้ถึงขีดสุด ***ตรวจสอบความเข้ากันได้ของหน่วยความจำที่รองรับ***
ทำความรู้จักชิปเซต Intel 500 Series
อย่างที่ได้กล่าวไปในตอนต้นว่าอินเทลได้เปิดตัวชิปเซต Intel 500 Series ออกมาด้วยกันทั้งหมด 4 รุ่นคือ Z590, H570, B560 และ H510 ตอนนี้เรามาดูรายละเอียดและความแตกต่างของชิปเซตแต่ละรุ่นว่าเป็นอย่างไร เพื่อที่เราจะได้เข้าใจการทำงานของเมนบอร์ดจาก MSI ได้ง่ายขึ้น

จากตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติก็จะเห็นได้ว่าชิปเซต Z590 นั้นถูกออกแบบมาเพื่อให้ทำงานได้สุดในทุก ๆ ทาง โดยเฉพาะเรื่องการรองรับอุปกรณ์ที่ทำได้มากกว่า เพราะมาพร้อมกับ PCIe Lane สูงถึง 24 เลน รวมถึงรองรับการโอเวอร์คล็อกซีพียูอีกด้วย ดังนั้นในเบื้องต้นนี้ถ้าใครต้องการจะโอเวอร์คล็อกซีพียู ก็ต้องมุ่งเป้าไปที่เมนบอร์ดชิปเซต Z590 เป็นหลัก แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าจะต้องใช้กับซีพียูที่มีรหัส “K” ด้วย

ส่วนความพิเศษของชิปเซต Intel 500 Series รุ่นรองลงมาอย่าง H570 และ B560 ก็คือ เป็นครั้งแรกที่อินเทลยอมให้ชิปเซตรุ่นอื่นที่ไม่ใช่รหัส “Z” สามารถโอเวอร์คล็อกหน่วยความจำหรือแรมให้มีความเร็วสูงขึ้นได้ และพื้นฐานของซีพียู คอร์ เจนฯ 11 ก็รองรับแรมความเร็ว 3200MHz อยู่แล้ว และเมื่อปรับให้สูงกว่า 3200MHz ได้ก็จะเป็นการยกระดับประสิทธิภาพการทำงานทั้งระบบให้สูงขึ้นได้อย่างง่ายดาย

MSI Z590 และ MSI B560 เมนบอร์ดเพื่อ GAMER และ CREATOR
แม้ว่าตอนนี้ MSI จะเลือกใช้ชิปเซต Z590 และ B560 เพียงแค่สองรุ่นมาผลิตเป็นเมนบอร์ดที่รองรับซีพียู คอร์ เจนเนอร์เรชัน 11 แต่ด้วยชิปเซตเพียงสองรุ่นนี้ทาง MSI ก็ได้ทำเมนบอร์ดออกมาได้ครอบคลุมความต้องการของผู้ใช้กลุ่มหลักอย่างครบถ้วน ได้แก่เมนบอร์ดสำหรับกลุ่ม GAMER หรือนักเล่นเกม และกลุ่มของ CREATOR ซึ่งหมายถึงนักสร้างคอนเทนต์หรือกลุ่มคนทำงานในระดับมืออาชีพ
โดยเมนบอร์ดในกลุ่มของ GAMER นั้นก็แบ่งออกมาเป็น 4 ซีรีส์ ย่อย ได้แก่
- MEG สำหรับเกมเมอร์กลุ่ม Enthusiast ที่ต้องการความเป็นที่สุดในทุก ๆ ด้าน และเป็นเมนบอร์ดที่มีเทคโนโลยีใหม่ล่าสุดอย่างครบถ้วน มีเฉพาะเมนบอร์ดที่ใช้ชิปเซต Z590
- MPG เมนบอร์ดสำหรับเกมเมอร์ที่เน้นประสิทธิภาพสูงในการเล่นเกม มีทั้งเมนบอร์ดชิปเซต Z590 และ B560
- MAG เมนบอร์ดสายเกมมิ่งรุ่นเล็กสุดที่ให้ทุกคนเข้าถึงได้ง่าย ที่ยังคงมาพร้อมฟังก์ชันการใช้งานและตอบโจทย์เกมเมอร์ได้อย่างลงตัว มีทั้งเมนบอร์ดชิปเซต Z590 และ B560
ส่วนเมนบอร์ดในกลุ่ม CREATOR ก็จะมีทั้งชิปเซต Z590 และ B560 ให้เลือกใช้ และจะสังเกตได้ง่าย ๆ โดยที่ชื่อรุ่นเมนบอร์ดทั้งหมดจะมีคำว่า “Pro” ที่สื่อไปถึงการทำงานในระดับมืออาชีพ
รายชื่อเมนบอร์ด Z590 และ B560 สำหรับ GAMER และ CREATOR


คุณสมบัติเด่นของเมนบอร์ด MSI Z590
- เร็วกว่าด้วย PCIe 4.0 : รองรับอินเทอร์เฟซ PCIe 4.0 รุ่นล่าสุดที่ให้แบนด์วิดธ์ในการรับส่งข้อมูลได้ถึง 64GB/s
- ติดตั้ง M.2 SSD ได้สะใจ : พื้นฐานของเมนบอร์ดขนาด ATX จะมาพร้อมกับคอนเน็ตเตอร์ M.2 ถึง 3 ช่อง และถ้าเป็นรุ่นไฮเอนต์จะมี M.2 Gen 4 เพิ่มมาให้อีก 1 ช่อง รวมทั้งมีการ์ด PCIe Expansion ที่ทำให้ติดตั้ง M.2 SSD ได้เพิ่มเติมอีกสองตัว
- ภาคจ่ายไฟที่เปี่ยมไปด้วยพลัง : MSI ได้ออกแบบภาคจ่ายไฟของซีพียูบนเมนบอร์ดด้วยเทคโนโลยีที่ใหม่อยู่เสมอ มาพร้อมกับเทคโนโลยี Direct Power, Mirrored Power Arrangement ที่จ่ายพลังได้อย่างตื่อเนื่องและเพียงพอ
- PCB คุณภาพระดับเซิร์ฟเวอร์ : แม้จะเป็นเมนบอร์ดสำหรับเกมเมอร์ แต่ทาง MSI ก็ได้เลือก PCB หรือแผงวงจรของเมนบอร์ดให้มีคุณภาพเดียวกันกับเมนบอร์ดระดับเซิร์ฟเวอร์เพื่อให้เสถียรภาพในการทำงานที่ดี โดยใช้แผงวงจรแบบ 6 เลเยอร์ 8 เลเยอร์ และ 10 เลเยอร์ (แล้วแต่รุ่นของเมนบอร์ด) รวมทั้งใช้ทองแดงขนาด 2oz ที่นอกจากจะช่วยให้เรื่องสัญญาณที่ดีแล้วยังช่วยเรื่องการระบายความร้อนและเพิ่มเสถียรภาพในการโอเวอร์คล็อกอีกด้วย
- 2.5G LAN + WiFi 6E : ยกระดับความเร็วในการเชื่อมต่อเข้าสู่เครือข่ายด้วย LAN ความเร็ว 2.5Gbps และการเชื่อมต่อแบบไร้สายมากตรฐานใหม่ WiFi 6 ที่ให้ความเร็วและมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้น ส่วนในรุ่นไฮเอนต์อย่างเช่น Z590 GODLIKE จะมีพอร์ต 10G LAN ที่ให้ความเร็วในการเชื่อมต่อจนถึงขีดสุด

เมนบอร์ด MSI 500 Series เมื่อทำงานร่วมกับซีพียูอินเทล คอร์ เจนฯ 11 จะสามารถรองรับอินเทอร์เฟซ PCI-Express 4.0 ได้ สามารถใช้ร่วมกับอุปกรณ์ที่เชื่อมต่อสล็อต PCIe Gen 4 และคอนเน็คเตอร์ M.2 SSD NVMe, สำหรับเมนบอร์ด MSI Z590 ในรุ่นที่เป็น ATX โดยพื้นฐานจะมีคอนเน็คเตอร์ M.2 SSD มาให้แล้ว 3 ช่อง ส่วนในรุ่นที่เป็นไฮเอนต์ก็จะมีเพิ่มมาเป็น 4 ช่อง

และในรุ่นท็อปสุดของซีรีย์เกมมิ่ง เช่น MEG Z590 GODLIKE ก็จะมาพร้อมกับการ์ดเสริมที่ทำให้ติดตั้ง M.2 SSD NVMe ผ่านทางสล๊อต PCIe ได้อีกสองตัวพร้อมกัน

สำหรับเมนบอร์ด Z590 ในรุ่นเกมมิ่งอย่าง MEG Z590 GODLIKE และ MEGZ590I UNIFY จะมีภาคจ่ายไฟที่ได้รับการออกแบบมาเป็นพิเศษเพื่อให้สามารถรองรับกับการโอเวอร์คล็อกซีพียู โดยในรุ่น MEG Z590 GODLIKE นั้นจะมาพร้อมกับภาคจ่ายไฟ 20 เฟส ส่วน MEGZ590I UNIFY แม้จะเป็นเมนบอร์ดขนาด Mini-ITX ก็ยังได้รับการออกแบบให้สามารถจ่ายไฟได้สูงถึง 90A เช่นกันแม้จำนวนเฟสไฟจะมีเพียงแค่ 8 เฟส ก็ตาม

นอกจากนี้แล้วทั้งเมนบอร์ด MEG Z590 ACE MEG Z590 UNIFY ก็จะมีภาคจ่ายไฟที่พิเศษเช่นกัน ด้วยการออกแบบที่เรียกว่า Mirrored Power Arranngement ที่แม้จะใช้ตัวควบคุม PWM หนึ่งตัวต่อไฟสองเฟส แต่ก็สามารถควบคุมให้เฟสไฟแต่ละเฟสสามารถจ่ายไฟได้เท่า ๆ กัน ทำให้เฟสไฟทั้งสองชุดทำงานได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ถูกโหลดไปยังเฟสใดเฟสหนึ่งมากเป็นพิเศษ ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ภาคจ่ายไฟเกิดความร้อนสูงกว่าปกติ และจะทำให้เสถียรภาพในการจ่ายไฟลดลงด้วย

เมนบอร์ด MSI Z590 ในรุ่นเริ่มต้นแม้จะใช้ PCB แบบ 6 เลเยอร์ แต่ก็จะใช้ลายทองแดงขนาด 2oz เป็นมาตรฐาน ซึ่งจะช่วยให้การนำสัญญาณไฟฟ้าทำได้ดี และช่วยเรื่องในการระบายความร้อนของตัว PCB เองด้วย ส่วนเมนบอร์ดรุ่นประสิทธิภาพสูงในรุ่น MEG Z590 ก็จะขยับไปใช้ PCB แบบ 8 เลเยอร์ และเมนบอร์ด MEG Z590I UNIFY ซึ่งเป็นเมนบอร์ดขนาดเล็กแบบ Mini-ITX จะขยับไปใช้ PCB แบบ 10 เลเยอร์ เป็นเพราะว่าด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ของ PCB ที่มีขนาดเล็ก แต่ยังต้องรองรับการทำงานได้เทียบเท่ากับเมนบอร์ดขนาด ATX จึงต้องใช้จำนวนเลเยอร์ของลายวงจรเพิ่มขึ้นมาทดแทนนั่นเอง

ในด้านการระบายความร้อน เมนบอร์ด MSI Z500 Series ทุกรุ่นจะมาพร้อมกับ BIOS ที่สามารถปรับแต่งและควบคุมการทำงานของชุดระบายความร้อนสำหรับซีพียูได้อย่างชาญฉลาด ไม่ว่าจะใช้ฮีตซิงค์มาตรฐานที่มาพร้อมกับซีพียู ฮีตซิงค์ขนาดใหญ่ที่เราซื้อมาเปลี่ยน หรือชุดระบายความร้อนด้วยน้ำ เราก็สามารถมากำหนดค่าในส่วนนี้ได้ และการกำหนดค่าการทำงานในส่วนนี้ไม่ใช่เฉพาะเรื่องของความเร็วรอบพัดลมเท่านั้น แต่ยังสัมพันธ์ไปถึงการจ่ายพลังงานให้กับซีพียู การบูสความเร็วของซีพียูให้เหมาะสมกับชุดระบายความร้อนที่เราใช้ ซึ่งจุดนี้ถือเป็นเรื่องที่ MSI ออกแบบมาและใส่ใจมาก ๆ ทำให้เราสามารถใช้ซีพียูได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น และไม่ต้องกังวลเรื่องความร้อนของซีพียูจะสูงเกินจนทำให้ซีพียูเป็นอันตรายอีกด้วย

สำหรับเมนบอร์ดในกลุ่มเกมมิ่งหลายรุ่นของ MSI ก็จะมาพร้อมกับชุดระบายความร้อนของเมนบอร์ดที่ออกแบบมาเป็นพิเศษ เช่นในรุ่น MEG Z590 GODLIKE และ MEG Z590I UNIFY ก็จะมีพัดลมติดตั้งมาบนฮีตซิงค์ของภาคจ่ายไฟ และเป็นพัดลมแบบ Double Ball Bearing ที่ทำงานได้เงียบและทนทาน นอกจากนี้ก็ยังมี Blackplate ที่ทำจากอะลูมิเนียมที่ช่วยระบายความร้อนของเมนบอร์ดและเสริมความแข็งแรงให้กับเมนบอร์ดอีกด้วย ซึ่งก็จะเหมาะกับผู้ใช้ที่ต้องการติดตั้งการ์ดจอขนาดใหญ่

สำหรับคนที่ใช้ M.2 SSD ความเร็วสูงจะต้องชื่นชอบคุณสมบัตินี้ของเมนบอร์ด MSI Z590 อย่างแน่นอน เพราะเมนบอร์ด Z590 ของ MSI ทุกรุ่นจะมาพร้อมกับ M.2 Shield Frozr ซึ่งเป็นชุดฮีตซิงค์ระบายความร้อนให้กับ M.2 SSD และพิเศษสำหรับเมนบอร์ดรุ่นท็อปอย่าง GODLIKE ก็จะมาพร้อมกับฮีตซิงค์แบบ Double size ที่ช่วยระบายความร้อนได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น ช่วยให้การอ่านและเขียนข้อมูลบน SSD ทำได้อย่างรวดเร็วและมีเสถียรภาพ

รองรับ Thunderbolt 4 : เมนบอร์ด MEG Z590 GODLIKE, MEG Z590 ACE และ MEG Z590I UNIFY จะมาพร้อมกับพอร์ต Thunderbolt 4 โดยจะเชื่อมต่อผ่านทางพอร์ต USB-C จำนวนสองช่อง และเชื่อมต่อผ่านทาง Mini DP input อีกสองช่อง เพื่อที่จะเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ภายนอกและโอนย้ายข้อมูลด้วยความเร็วสูงสุดถึง 40Gbps โดย Thunderbolt 4 ที่เชื่อมต่อผ่าน USB-C นั้นก็จะรองรับมาตรฐานของ USB 4.0 ไปด้วยในตัว
แนะนำเมนบอร์ด MSI Z590 ที่น่าสนใจสำหรับเกมเมอร์

ถ้าเป็นเมนบอร์ด MSI Z590 สำหรับเกมเมอร์ในรุ่นท็อปทุกคนก็คงจะรอคอยการมาของ MEG Z590 GODLIKE ที่จัดเต็มในทุก ๆ ด้าน แม้จะเป็นเมนบอร์ดสำหรับสายเกมเมอร์แต่ก็มีคุณสมบัติในด้านโอเวอร์คล็อกซีพียูไม่แพ้เมนบอร์ดสายโอเวอร์คล็อกของยี่ห้ออื่น ๆ ดังจะเห็นได้จากอุปกรณ์เสริมที่ให้มาอย่าง DIY Stands ที่สามารถติดตั้งไปบนเมนบอร์ดแล้วทำให้กลายเป็นชุด Test bed ได้แบบไม่ต้องประกอบลงเคสใด ๆ พร้อมด้วย กล่อง Tuning Controller ที่ควบคุมการโอเวอร์คล็อกได้ง่ายเหมือนมีรีโมต พร้อมกันนั้นดีไซน์ลายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างเช่นพวกโคเวอร์, แบล็คเพลท ก็ทำออกมาได้สวยงามและลงตัวมาก เหมาะสำหรับคนที่ชอบเก็บงานเก็บรายละเอียดแบบเนียบ ๆ เนียน ๆ

เมนบอร์ดสายเกมมิ่งอีกหนึ่งรุ่นที่ได้รับการจับจ้องไม่แพ้กันแม้จะเป็นรุ่นรองลงมาก็คือ MSI MEG Z590 AEC ที่มีดีไซน์เรียบง่ายแต่ดูดุดัน และก็มาพร้อมฟังก์ชันการทำงานที่จัดเต็มในทุกด้านเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการโอเวอร์คล็อก หรือเรื่องของเกมมิ่ง


สำหรับคนที่เบื้อไฟ RGB มาทางนี้ MSI เอาใจคนเบื่อไฟ RGB ด้วยเมนบอร์ดในซีรีส์ PURE BLACK เป็นเมนบอร์ดที่เน้นดีไซน์เรียบง่าย ดึงความโดดเด่นของการใช้สีดำเป็นหลัก และเมื่อตัดไฟ RGB ออกก็จะไปทุ่มเทให้กับเรื่องของภาคจ่ายไฟและการระบายความร้อน และเป็นเมนบอร์ดอีกหนึ่งรุ่นที่ทำให้คนสายครีเอเตอร์แอบมาสนใจ

ส่วนเมนบอร์ดสายป๊อบสตาร์คงจะไม่มีใครเกิน MPG Z590 GAMING Carbon ที่จัดเต็มเรื่องดีไซน์ และสีสันของไฟ RGB ได้อย่างสุดขั้ว แต่ก็ยังไม่ทิ้งความเป็นเมนบอร์ดในระดับไฮเอ็นต์ที่ยังให้ความสำคัญกับภาคจ่ายไฟของซีพียู และการเชื่อมต่อต่าง ๆ ที่เมนบอร์ดในระดับไฮเอ็นต์สมควรจะมี เรียกได้ว่าเป็นเมนบอร์ดที่ครบเครื่องเลยทีเดียว

ถ้าคุณเป็นคนที่ชอบเทคโนโลยีที่มีสีสัน MPG Z590 GAMING Force น่าจะเป็นคำตอบที่เหมาะกับคุณ ด้วยดีไซน์ที่นอกจากจะมาพร้อมกับไฟ RGB แล้ว ที่ตัวเมนบอร์ดเองก็ยังมาพร้อมกับฮีตซิงค์ที่มีสีสันไม่แพ้กัน ใครที่ชอบประกอบคอมแล้วชอบโชว์สีสันของฮาร์ดแวร์เมนบอร์ดรุ่นนี้ก็น่าจะช่วยมาเสริมจินตนาการและการตกแต่งที่เป็นเอกลักษณะของคุณได้

ใครที่ชอบทางสายกลางทั้งไฟ RGB ที่มาแบบพอดี ๆ ทั้งดีไซน์ขององค์ประกอบอื่น ๆ ที่ลงตัว ไม่มากไปไม่น้อยไป MPG Z590 GAMING EDGE WiFi ก็เป็นเมนบอร์ดที่จะมาตอบสนองความต้องการได้อย่างครบทุกด้านจริง ๆ

ส่วนใครที่ความเรียบง่าย แต่ยังแอบมีสีสันบ้างเล็ก ๆ น้อย ๆ พอให้เกิดจินตนาการ MPG Z590 GAMING PLUS ก็คือคำตอบที่ใช่ ด้วยการเน้นคุณสมบัติการทำงานที่ครบถ้วน และมีเพียงไฟ RGB บนพื้นที่เล็ก ๆ บริเวณคอนเน็คเตอร์ M.2 ที่พอให้รู้ว่าเครื่องกำลังสแตนบายอยู่และพร้อมที่จะเล่นเกมได้ทุกเมื่อ
แนะนำเมนบอร์ด MSI B560 ที่น่าสนใจสำหรับเกมเมอร์

สำหรับเมนบอร์ด MSI B560 ในสายเกมเมอร์ เราก็ยังคงได้พบกับเมนบอร์ดรุ่นยอดนิยมระดับตำนานอย่าง MAG TOMAHAWK เช่นกัน งานนี้ต้องขอบคุณ MSI ที่ไม่ทิ้งเกมเมอร์ที่มีงบประมาณจำกัด (TOMAHAWK มีทั้ง Z590 และ B560) แต่ยังคงต้องคุณสมบัติที่จัดเต็ม เช่นมาพร้อมกับภาคจ่ายไฟ 14 เฟส และมาพร้อมกับ 2.5G LAN + WiFi 6E ที่ทำให้การเชื่อมต่อรวดเร็วและมีอิสระ

MAG TORPEDO เป็นเมนบอร์ดเกมมิ่งอีกหนึ่งรุ่นที่จะมีทั้งชิปเซต Z590 และ B560 ให้เลือกใช้ คุณสมบัติในการทำงานและดีไซน์ก็จะใกล้เคียงกับ MAG TOMAHAWK แต่ว่าจัดตัดเรื่อง WiFi 6E ออกและมาพร้อมกับ Dual LAN ความเร็ว 2.5Gbps และ 1Gbps เข้ามาแทน

MAG B560 MORTAR และ MOTAR WiFi เมนบอร์ดในตระกูล MORTAR ของ MSI ก็เป็นเมนบอร์ดสายเกมเมอร์ราคาประหยัดที่ได้รับความนิยมอย่างมาก แม้จะเป็นเมนบอร์ดที่มาในแพลตฟอร์ม mATX แต่ก็มีฟังก์ชันการทำงานที่ค่อนข้างครบครัน และเพียงพอต่อความต้องการ

สำหรับคนที่มีงบประมาณจำกัดจริง ๆ แต่ไม่ต้องการทิ้งความเป็นเกมเมอร์ในตัว MAG B560 BAZOOKA นี่คือเมนบอร์ดที่เหมาะกับคุณ เมนบอร์ดรุ่นนี้เหมาะที่จะจับคู่กับซีพียูรุ่นเล็กอย่าง Core i3 หรือรุ่นกลาง ๆ อย่าง Core i5 และเป็นผู้ใช้ที่ไม่ต้องการปรับแต่งอะไรมากนัก เพียงแค่ติดตั้งอุปกรณ์ที่จำเป็น เสียบปลั๊ก เปิดเครื่องแล้วพร้อมลุยได้เลย
รวมข้อมูลเปรียบเทียบเมนบอร์ด MSI Z590 และ B560 สำหรับเกมเมอร์



แนะนำเมนบอร์ด MSI Z590 และ B560 สำหรับครีเอเตอร์
ในช่วงแรกนี้เมนบอร์ดของสายครีเอเตอร์ทาง MSI ก็จะเปิดตัวเมนบอร์ดชิปเซต Z590 ออกมาก่อน โดยในช่วงแรกนี้ก็จะมาเมนบอร์ดอยู่สองรุ่นคือ MSI Z590 Pro WiFi และ Z590-A Pro

โดยเมนบอร์ดทั้งสองรุ่นนี้จะมาในแพลตฟอร์ม ATX มาพร้อมกับชิป LAN อินเทลความเร็ว 2.5Gbps ส่วนในรุ่น WiFi ก็จะเป็นมาตรฐาน WiFi 6E ที่มีแบนด์วิดธ์สูง ซึ่งจะเหมาะกับคนทำคอนเทนต์ที่ต้องมีการรับส่งข้อมูลขนาดใหญ่อยู่บ่อย ๆ และถึงจะเป็นเมนบอร์ดในกลุ่ม CREATOR แต่ด้วยการที่เป็นชิปเซต Z590 ทำให้เมนบอร์ดทั้งสองรุ่นนี้ยังคงรองรับการโอเวอร์คล็อกซีพียูและโอเวอร์คล็อกแรมให้มีความเร็วเพิ่มขึ้นได้ แต่แน่นอนว่าคงจะไม่สามารถโอเวอร์คล็อกในระดับสูงเหมือนกับเมนบอร์ดในกลุ่ม GAMER เนื้องจากต้องการเน้นเสถียรภาพและโอเวอร์คล็อกเพื่อการใช้งานแบบประจำวันได้โดยไม่ส่งผลต่อเสถียรภาพในการทำงานร่วมกับแอปพลิเคชันต่าง ๆ และสำหรับคนที่มีข้อมูลเป็นจำนวนมากต้องการติดตั้งไดร์ฟ M.2 SSD หลายตัวเพื่อเพิ่มพื้นที่หรือทำ RAID ในการจัดเก็บข้อมูลก็แนะนำว่าให้พิจารณาชิปเซต Z590 เป็นหลักไว้ก่อน เพราะชิปเซต ฺB560 นั้นไม่รองรับการทำ RAID นั่นเอง

สรุปแนวทางในการเลือกใช้เมนบอร์ด MSI Z590 และ MSI B560
ถ้าเราได้อ่านข้อมูลมาตั้งแต่แรกจนมาถึงตอนนี้คิดว่าหลายคนก็น่าจะพอมองเห็นแนวทางในการเลือกใช้เมนบอร์ด MSI 500 Series ได้บ้างแล้วนะครับ ส่วนใครที่ยังสับสนหรือยังลังเล เราก็มีคำแนะนำดังนี้ครับ
- GAMER VS CREATOR : กำหนดวัตถุประสงค์ในการใช้งานที่แท้จริงของเราว่าจะเป็นสายเกมเมอร์ หรือจะเป็นสายครีเอเตอร์ ถ้าเป็นคนที่ไม่ได้สนใจเรื่องการเล่นเกมเลย เน้นการทำงานเป็นหลักเมนบอร์ดในกลุ่ม CREATOR ก็ตอบโจทย์ได้อย่างลงตัวครับ การใช้งานก็จะเรียบง่ายไม่ซับซ้อนเหมือนกับเมนบอร์ดในกลุ่มเกมเมอร์ที่จะมีการปรับแต่งรายละเอียดได้มากกว่า โดยเฉพาะคนที่เลือกใช้เมนบอร์ด Z590 ในสายเกมเมอร์ก็จะมีตัวเลือกในการปรับแต่งที่มากและรายละเอียดที่ซับซ้อนกว่า แต่ถ้าใครเป็นครีเอเตอร์สายสร้างคอนเทนต์ที่มาจากเกม ก็แนะนำว่าให้พิจารณาเมนบอร์ดในกลุ่มเกมเมอร์ไปเลยครับ เพราะสามารถใช้งานได้ครอบคุมรอบดัานกว่า
- Z590 VS B560 : สำหรับประเด็นนี้เลือกได้ไม่อยาก เพราะตัวชิปเซตเองมีคุณสมบัติที่แตกต่างกันค่อนข้างชัดเจน ถ้าคุณต้องการโอเวอร์คล็อกซีพียู ก็ต้องมองหาเมนบอร์ดที่ใช้ชิปเซต Z590 เป็นหลัก และต้องไม่ลืมว่าจะต้องใช้งานร่วมกับซีพียู คอร์ เจนฯ 10 หรือเจนฯ 11 ที่ลงท้ายด้วยรหัส “K” จึงจะโอเวอร์คล็อกได้ แต่ถ้าคุณไม่ได้โอเวอร์คล็อกแต่ชื่นชอบคุณสมบัติบางประการของชิปเซต Z590 ก็สามารถใช้งานซีพียูรุ่นธรรมดากับชิปเซต Z590 ได้เช่นกันครับไม่ผิดกติกาใด ๆ เช่น หากคุณต้องการทำระบบจัดเก็บข้อมูลเป็นแบบ RAID ทางเลือกของคุณก็ต้องเป็นเมนบอร์ด Z590 หรือไม่ก็เป็น H570 เพราะรองรับการทำงานด้าน RAID ในขณะที่ชิปเซต B560 นั้นไม่รองรับ RAID อย่างนี้เป็นต้น สำหรับรายละเอียดอื่น ๆ ลองย้อนกลับไปดูในตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติของชิปเซตในช่วงต้นของบทความก็จะทำให้เรามองภาพได้ชัดเจนยิ่งขึ้น
- WiFi VS LAN : ถ้าใครลองสังเกตสเปคของเมนบอร์ดทั้งชิปเซต Z590 และ ฺB560 ในหลาย ๆ รุ่นก็จะพบว่าจะมีทั้งเมนบอร์ดที่เป็นตัวเลือกระหว่าง Dual LAN กับ LAN + WiFi 6E ตรงนี้ก็เป็นอีกหนึ่งส่วนที่น่าสนใจ เพราะตอนนี้เราเริ่มเห็นคนใช้ PC เริ่มอย่างมีอิสระมากขึ้น ไม่ต้องไปยึดติดกับสาย LAN ซึ่งเดียวนี้ต้องบอกเลยว่า WiFi มาตรฐานใหม่ ๆ นั้นให้ความเร็วไม่ได้แตกต่างไปจากการใช้สาย LAN เลย และถ้าเรามีเราเตอร์ WiFi ความเร็วสูงอยู่ด้วยแล้ว การเชื่อมต่อด้วย WiFi ทำให้เรามีอิสระในการติดตั้งโยกย้าย PC ของเราได้ง่ายขึ้น จัดวางได้อย่างลงตัวโดยไม่ต้องมาพะวงเรื่องสาย LAN
เมนบอร์ดรุ่นอื่น ๆ ของ MSI
ในบทความนี้เราโฟกัสไปที่เมนบอร์ด MSI Z590 และ MSI B560 มากเป็นพิเศษเพราะว่าเป็นชิปเซตสองตัวแรกที่ MSI เลือกเข้ามาทำตลาดในบ้านเราก่อน ส่วนเมนบอร์ดชิปเซต H570 และ H510 นั้น ถ้ามีเข้ามาเมื่อไหร่เราก็จะนำมาแนะนำและเปรียบเทียบให้เห็นถึงรายละเอียดกันอีกครั้ง และในเร็ว ๆ นี้เราจะมีบทความทดสอบเปรียบเทียบประสิทธิภาพระหว่างเมนบอร์ดชิปเซต Z590 และชิปเซต B560 มารายงานให้ทราบครับ
- สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่แฟนเพจ MSI Gaming Thailand
- ข้อมูลเมนบอร์ด MSI 500 Series เยี่ยมชมได้ที่ msi.com