รีวิว Apacer NOX DDR5-5200 Gaming Memory 32GB Kit (16GBx2) ประสิทธิภาพดี ดีไซน์ดี ใช้งานง่าย

ตอนนี้อินเทลเปิดตัวแพลตฟอร์ม คอร์ เจนฯ 12 ในช่วงแรก ๆ ก็ต้องยอมรับครับว่า DDR5 นั้นยังมีน้อยในตลาดทำให้ราคาค่อนข้างสูง แต่มาถึงตอนนี้ราคาแรม DDR5 ลดลงมามากพอสมควร ทำให้เราเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มที่ใช้ DDR5 ได้ง่ายขึ้นครับ และตอนนี้ผู้ผลิตก็ได้ทำแรมออกมาให้เราเลือกใช้งานกันมากขึ้นทั้งรุ่นที่มีไฟ RGB และแบบธรรมดาที่เน้นประสิทธิภาพในราคาที่ประหยัดลงไปอีก

Apacer NOX DDR5 เป็นแรมอีกหนึ่งซีรีส์ในกลุ่มราคาประหยัดสำหรับสายเกมมิ่งที่ถูกส่งมาทำตลาดในบ้านเราครับ NOX DDR5 นั้นมีรุ่นความเร็วให้เลือกใช้ตั้งแต่ 5200MHz ไปจนถึงระดับ 6400MHz

  • 5200MHz/16GB、32GB/1.25V/38-38-38-84
  • 6000MHz/16GB、32GB/1.25V/38-38-38-78
  • 6200MHz/16GB、32GB/1.25V/38-38-38-78
  • 6400MHz/16GB、32GB/1.25V/40-40-40-84

ส่วนแรมที่เรานำมาทดสอบในวันนี้จะเป็น NOX DDR5-5200 ถือว่าเป็นรุ่นเล็กสุด แต่ก็มาเป็นแบบชุดคิด 32GB ครับ ประกอบด้วยแรมความจุ 16GB สองโมดูล

NOX DDR5 ถูกออกแบบมาด้วยความเรียบง่าย มีขนาดที่กะทัดรัดพอสมควร ทำให้ติดตั้งและทำงานรวมกับฮีตซิงค์ขนาดใหญ่ได้โดยไม่มีปัญหาแรมเบียดฮีตซิงค์

ตรวจสอบคุณสมบัติด้วย AIDA64

จากข้อมูลที่ตรวจสอบด้วย AIDA64 จะเห็นได้ว่าความเร็วปกติตามมาตรฐาน JEDEC ของแรมรุ่นนี้อยู่ที่ 4800MHz และถูกปรับแต่งมาให้ทำงานได้ที่ความเร็ว 5200MHz แล้วบันทึกไว้ในโปรไฟล์ XMP ประจำตัวของแรมรุ่นนี้ และถ้าเราดูลึกลงไปอีกก็จะพบว่าแรมรุ่นนี้ถูกปรับแต่งมากอย่างดี ลองดูค่าความเร็วมาตรฐานที่ 4800MHz มีค่าใช้ค่า Timing ที่ 42-40-40-77 และอีกชุดหนึ่งคือ 40-40-40-77 และพอปรับแต่งไปที่ 5200MHz กลับสามารถกดค่า Timing ลงไปได้ที่ 38-38-38-84 แม้ว่าค่า RAS จะสูงหน่อย แต่ CL-RCD-RP นั้นถูกกดลงมาได้ที่ 38 ซึ่งถือว่าเป็นค่าที่ต่ำพอสมควร

แต่ในขณะเดียวกันมันก็จะบอกเราด้วยว่าหากเราต้องการโอเวอร์คล็อกแรมรุ่นนี้เพิ่มเติมไปจากโปรไฟล์ XMP ที่ปรับแต่งมาให้ เราก็อาจจะต้องสูญเสียค่า Timing ต่ำ ๆ ไปอย่างไม่ต้องสงสัย อย่างน้อยเราก็อาจจะต้องเพิ่มค่า Timing หรือ CL กลับไปอยู่ในระดับ 40 หรือ 42 ตามค่าความเร็วของ JEDEC ซึ่งเดียวเราคงจะได้เห็นกันในช่วงของการทดสอบครับ

อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบ

  • CPU: Intel Core i7 12700K
  • GPU: Intel UHD Graphics 770
  • MB: ASRock B660M-HDVP/D5
  • RAM: Apacer NOX DDR5-5200 16GBx2
  • SSD: Corsair Force MP600 1TB
  • PSU: ่Thermaltake TOUGHPOWER iRGB PLUS 850W
  • Windows 11 Pro

ทดสอบด้วย AIDA64 Memory Benchmark

4800MHz
5200MHz (XMP)

ประเดิมการทดสอบง่าย ๆ ด้วย AIDA64 Cache & Memory Benchmark ที่ความเร็วมาตรฐาน JEDEC 4800MHz และที่ XMP 5200MHz จากการทดสอบก็จะเห็นได้ว่าเมื่อเราเปิดใช้โปรไฟล์ XMP 5200 ก็จะทำให้ความเร็วในการทำงานทั้งหมดสูงขึ้นทั้งการอ่านและการเขียน รวมไปถึงค่า Latency ที่ลดลง ก็อย่างที่ได้บอกไปในตอนแรกครับว่าทาง Apacer ปรับแต่งแรมรุ่นนี้มาค่อนข้างดีมากจากโรงงาน แค่เปิดใช้ค่า XMP ก็ได้ประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นแล้ว

จากนั้นเราลองโอเวอร์คล็อกต่ออีกเล็กน้อยโดยพยายามตั้งค่าในไบออสให้เป็น 5400MHz แต่ว่าอัตราทดได้ถูกตั้งไว้ที่ 1:27 ทำให้ความเร็วในการทำงานจริงแสดงตัวเลขเป็น 5387MHz ส่วนค่า Timing เราต้องเพิ่มจาก 38-38-38-84 ไปเป็น 40-40-40-84 เพื่อให้บูตเข้าสู่ระบบได้ และหลังจากนั้นเราก็พยายามโอเวอร์คล็อกต่ออีกเล็กน้อยไปที่ 5600MHz และดัวยอัตราทดที่ถูกกำหนดโดยเมนบอร์ดทำให้ตัวเลขแสดงอยู่ที่ 5586MHz ส่วนผลจากการโอวเวอร์คล็อกมาแล้วจะเป็นอย่างไรบ้างก็ไปติดตามกันต่อครับ

@5400MHz
@5600MHz

อย่างไรก็ตามก็ต้องบอกไว้ก่อนครับว่าเมนบอร์ด ASRock B660M-HDVP/D5 ที่เราใช้ทดสอบในครั้งนี้เป็นเมนบอร์ดที่เน้นงบประมาณและความประหบัดเป็นหลัก แม้จะโอเวอร์คล็อกแรมได้บ้าง แต่ก็คงไม่สามารถสู้กับเมนบอร์ดรุ่นใหญ่กว่าอย่างพวก Steel Legend, Pro RS หรือ Phantom Gaming ได้ครับ แต่มันก็พอทำให้เราเห็นได้ว่า Apacer NOX DDR5 นี้มีศักยภาพที่ดีพอในการนำไปโอเวอร์คล็อกต่อได้ครับ

ทดสอบด้วย 7Zip

7Zip โปรแกรมสำหรับบีบอัดขนาดไฟล์ต่าง ๆ ให้มีขนาดเล็กลงเพิ่งจะทำการอัปเดตเวอร์ชันเป็น V.22 ที่มีการปรับปรุงเรื่องเครื่องมือทดสอบประสิทธิภาพใหม่ ทำให้เราสามารถทดสอบประสิทธิภาพการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยความจำกับซีพียูได้ดียิ่งขึ้นครับ และสำหรับการทดสอบรอบนี้เราเลือกตั้งค่าขนาดข้อมูลไว้ที่  128MB ซึ่งทำให้ใช้หน่วยความจำระหว่างการทดสอบไปถึง 16GB เลยทีเดียว ก็ถือว่าเป็นครึ่งหนึ่งของหน่วยความจำที่ติดตั้งลงไป

จากผลการทดสอบจะเห็นได้ว่าเมื่อเราเพิ่มความเร็วของแรมจากค่าปกติที่ 4800MHz ไปเป็น 5200MHz ด้วยการเปิดใช้ค่า XMP ของแรม ก็ทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานเพิ่มขึ้นมาอย่างชัดเจน และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อเราโอเวอร์คล็อกเพิ่มไปที่ 5400MHz และ 5600MHz

ทดสอบด้วยโปรแกรม CrossMark

CrossMark เป็นการทดสอบด้วยการจำลองการทำงานของแอปพลิเคชันที่เราใช้งานในทุก ๆ วัน โดยแบ่งเป็น Productivity เช่นพวกกลุ่มเวิร์ด เอ็กเซล อะไรพวกนี้ครับ อีกกลุ่มก็เป็น Creativity เช่นตัดต่อวิดีโอ แต่งภาพ และ Responsiveness คือการตอบสนองต่อการทำงานต่าง ๆ การทดสอบด้วย CrossMark ปกติแล้วจะเห็นผลชัด ๆ ก็ต่อเมื่อมีการเทียบโดยใช้ซีพียูและกราฟิกเป็นหลักครับ แต่ว่าการปรับแต่งแรมในครั้งนี้ก็พอให้เรามองเห็นความแตกต่าง และมองเห็นอะไรบางอย่างได้เหมือนกัน แม้จะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างเล็กน้อย

ผลการทดสอบด้วย CrossMark จะเห็นได้ว่าที่ความเร็วของแรม 5600MHz ที่มีการปรับ Timing ด้วยค่าที่สูงขึ้นส่งผลต่อการทดสอบในหัวข้อ Responsiveness อยู่เล็กน้อยครับ แต่การทดสอบอื่น ๆ นั้นก็ยังคงทำคะแนนได้เร็วตามลำดับของความเร็วที่เพิ่มขึ้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการทำงานบางอย่างความเร็วในระดับหนึ่งของแรมก็เพียงพอแล้ว แต่เรื่องระยะเวลาในการรอคอยหรือ Timing ก็ส่งผลต่อการทำงานด้วยเช่นกัน ซึ่งทำให้เราต้องเลือกว่าเราจะตั้งค่าการใช้งานแรมของเราไปในทิศทางใด

ทดสอบด้วย 3DMark Night Raid

เนื่องจากการทดสอบของเราไม่ได้ใช้กราฟิกการ์ดแยกใช้เพียงกราฟิกที่รวมอยู่ในตัวซีพียู Intel UHD Graphics 770 เพื่อดูว่าเมื่อปรับความเร็วของแรมจะส่งผลต่อคะแนนการทำงานของกราฟิกในซีพียูด้วยหรือไม่ ซึ่งผลการทดสอบที่ได้ก็เป็นที่น่าสนใจครับ

คะแนนการทดสอบเมื่อปรับความเร็วเพิ่มขึ้นก็จะมีทั้งค่าที่สูงขึ้นและค่าที่ลดลงครับ และเป็นการเพิ่มและลดลงในบางส่วนด้วยเช่นกัน ในภาพรวมการเปิดใช้ XMP ที่ 5200MHz นั้นให้ผลดีและแรงขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับการให้เมนบอร์ดเลือกค่าอัตโนมัติไปที่มาตรฐาน JEDEC ที่ 4800MHz แต่พอเราโอเวอร์คล็อกเพิ่มขึ้นไปที่ 5400MHz และ 5600MHz มีการเพิ่มขึ้นทั้ง Mem Clock แต่ในขณะเดียวกัน Latency ก็เพิ่มขึ้นด้วย มันจึงทำให้ผลการทดสอบที่ 5400MHz และ 5600MHz มีความแตกต่างกันไม่มาก เช่น การทดสอบอย่าง CPU ความเร็วของ Mem Clock 5600MHz ช่วยให้ซีพียูดีขึ้น แต่ในด้านกราฟิกกลับได้คะแนนลดลงก็เป็นไปได้ที่ค่า Timing ที่เพิ่มขึ้นอาจจะทำให้การทำงานล่าช้ากว่า เป็นต้น ซึ่งในการใช้งานจริง ผู้ใช้คงต้องลองและทดสอบดูในหลาย ๆ เงื่อนไขครับ ส่วนสำหรับเราก็ไม่ได้คิดว่ามันผิดปกติอะไรครับ มันก็มีทั้งโปรแกรมที่ได้ประโยชน์จาก Mem Clock ที่เพิ่มขึ้น และมีบางโปรแกรมที่ทำคะแนนได้น้อยเมื่อ Timing เพิ่มขึ้น แต่เราสนใจเรื่องเสถียรภาพในการทำงานมากกว่า

สรุปหลังการใช้งาน

โดยรวมแล้ว Apacer NOX DDR5 ก็เป็นแรมอีกหนึ่งรุ่นที่น่าสนใจครับ ด้วยการดีไซน์ที่เรียบง่าย มีความสูงไม่มากนักแทบจะเท่ากับไซส์มาตรฐานของแรมแบบไม่มีฮีตซิงค์เลยก็ว่าได้ ทำให้มันสามารถติดตั้งและใช้งานกับเมนบอร์ดและฮีตซิงค์ได้หลากหลายโซลูชันมาก โดยเฉพาะกับแพลตฟอร์ม Mini-ITX ที่กำลังได้รับความนิยม แรมที่มีขนาดกะทัดรัดแบบนี้ก็ช่วยลดปัญหาความยุ่งยากและความแออัดภายในเคสได้เป็นอย่างดี แต่ในขณะเดียวกันก็ยังคงรักษาประสิทธิภาพในการทำงานไว้ได้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานที่ระดับความเร็ว 5200MHz เมื่อเปิดใช้โปรไฟล์ XMP หรือจะโอเวอร์คล็อกไปที่ความเร็วระดับ 5600MHz ก็ยังคงใช้งานได้ดี ก็ถือว่าเป็นแรมอีกหนึ่งรุ่นที่เราสามารถใช้งานได้อย่างวางใจครับ

ข้อมูลเพิ่มเติม https://bit.ly/Nox-DDR5

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

Allow All
Manage Consent Preferences
  • Always Active

Save
Scroll to Top