เมื่อไม่นานมานี้ทาง Thermaltake ได้เปิดตัวแรม TOUGHRAM XG DDR4 ลงสู่ตลาดเพื่อต้อนรับการมาของแพลตฟอร์มใหม่จากเอเอ็มดี Ryzen 5000 Series และอินเทล คอร์ เจนฯ 11 รหัส Rocket Lake ซึ่งแพลตฟอร์มของทั้งสองค่ายต่างก็ได้ปรับมารองรับแรม DDR4 ความเร็ว 3200MHz เป็นมาตรฐานกันหมดแล้ว หลังจากติดอยู่กับความเร็วในช่วง 2XXXMHz มาเป็นเวลาหลายปี

และล่าสุดกับแพลตฟอร์ม Rocket Lake หรือซีพียู คอร์ เจนฯ 11 ของอินเทลที่มาพร้อมกับชิปเซต Z590 ก็สามารถที่จะโอเวอร์คล็อกหน่วยความจำ DDR4 ให้ไปทำงานในระดับ +5000MHz (ขึ้นอยู่กับซีพียู, เมนบอร์ด และแรมที่ใช้) ได้ง่ายกว่าเดิมมาก ทำให้ตอนนี้ผู้ผลิตหน่วยความจำจึงเริ่มออก DDR4 ความเร็วระดับ +4000MHz ออกมามากขึ้น รวมทั้งหน่วยความจำ TOUGHRAM XG จาก Thermaltake ด้วย
สำหรับ TOUGHRAM XG RGB นั้นทาง Thermaltake ทำออกมาด้วยกันทั้งหมด 4 ความเร็วให้เลือกใช้คือ 3600MHz, 4000MHz, 4400MHz และ 4600MHz โดยออกมาเป็นชุดคิท 16GB แบบ 8GB x 2 ส่วนรุ่นที่เราจะทดสอบกันในวันนี้คือรุ่นความเร็ว 4400MHz ครับ
ดีไซน์ หรูหรามีสไตล์
TOUGHRAM XG RGB ได้รับการออกแบบใหม่ฉีกแนวไปจาก TOUGHRAM รุ่นแรกอย่างสิ้นเชิง ถ้าใครจำได้ TOUGHRAM รุ่นแรกจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากอักษรย่อ TT ที่ดูเป็นเหลี่ยม ๆ แต่ก็เข้าใจได้เพราะว่าทาง Thermaltake ต้องการสื่อถึงความเป็นตัวตนและเป็นการนำเสนอ TOUGHRAM เข้าสู่ตลาดเป็นครั้งแรก แต่พอมาเป็น TOUGHRAM XG ภาพรวมทั้งหมดของแรมก็จะมีส่วนโค้งส่วนเว้ามากขึ้น เหมือนกับจะบอกว่าได้ผ่านการขัดเกลามาแล้ว มีการเพิ่มเส้นสายและลวดลายที่สวยงาม แต่ก็ยังคงเอกลักษณ์ด้วยการติดอลูมิเนียมปัดเงาไว้ที่ตัวโมดูลเช่นเดิม


ตรงกลางของตัวแรมถ้าเรามองจากมุมบนก็จะเห็นได้ว่ามีการดีไซน์ออกมาให้ดูเป็นรูปตัว X เพื่อให้สอดคล้องกับคำว่า XG ที่เป็นชื่อรุ่นของแรมนั่นเองครับ ก็จะเห็นได้ว่าทาง Thermaltake ได้ใส่ใจรายละเอียดต่างๆ ในการดีไซน์มากพอสมควรเลยทีเดียว

สำหรับใครที่ชื่นชอบไฟ RGB ก็ต้องบอกเลยว่า TOUGHRAM XG มาพร้อมกับไฟ RGB ที่สวยขึ้นปรับเฉดสีได้มากขึ้น โดยผู้ใช้สามารถปรับไฟ RGB โดยผ่านทาง TOUGHRAM Software หรือจะใช้ TT RGB PLUS และ NeonMaker ก็ได้ครับ ในกรณีที่คุณมีอุปกรณ์อื่น ๆ ที่รองรับมาตรฐาน TT RGB PLUS อยู่ในระบบอยู่แล้วก็จะสะดวกมากครับ หรือถ้าใครไม่มีโปรแกรม RGB อื่น ๆ อยู่เลยก็แนะนำให้ใช้ TOUGHRAM Software ที่ใช้สำหรับปรับไฟของแรมในตระกูล TOUGHRAM โดยเฉพาะครับ ส่วนใครที่ต้องการออกแบบรูปแบบของการแสดงผลไฟ RGB ด้วยตัวเองอย่างละเอียดก็แนะนำ NeonMaker ครับ ที่จะให้คุณออกแบบไฟ RGB ได้ในฟิลเดียวกันกับตัดต่อวิดีโอ

คุณสมบัติที่โดดเด่น
สำหรับคุณสมบัติเด่นด้านอื่น ๆ ของ TOUGHRAM XG DDR4 รุ่นนี้ก็มีอยู่หลายประการด้วยกันครับ ทั้งเรื่องของ PCB ที่เป็นแบบ 10 เลเยอร์ ที่ให้การนำสัญญาณไฟฟ้าที่มีเสถียรภาพ รวมไปถึงการใช้ลายทองแดงขนาด 2oz รวมไปถึงชิปแรมที่ได้รับการคัดเกรดมาเป็นอย่างดี (ซึ่งหน่วยความจำในระดับ 4000MHz ส่วนใหญ่จะเป็นการคัดแกรดแรมทั้งหมด) พร้อมด้วยการติดตั้งฮีตซิงค์อะลูมิเนียมที่สามารถระบายความร้อนได้ดี ช่วยให้แรมทำงานได้อย่างมีเสถียรภาพแม้จะทำงานในรูปแบบที่โดนโอเวอร์คล็อก
คุณสมบัติทางด้านเทคนิค
MEMORY TYPE | DDR4 |
CAPACITY | 16GB Kit (8G x2) |
TESTED LATENCY | 19-25-25-45 |
VOLTAGE (V) | 1.45 V |
SPEED | 4400 MHz |
COMPATIBILITY | Intel 500, 400, 300 Series / AMD X570, B550 |
MODULE TYPE | DIMM |
PERFORMANCE PROFILE | XMP 2.0 Ready |
PACKAGE CONTENT | 2 x 8GB memory module |
COLOR | Black |
WARRANTY | Limited Lifetime Warranty |

อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบ
- CPU: Intel Core i9-11900K
- GPU: Intel UHD Graphics 750
- MAINBOARD: ASRock Z590 Phantom Gaming -ITX/TB4
- SSD: PLEXTOR PX-512M9PG Plus (512GB)
- PSU: Thermaltake Toughpower iRGB PLUS 850W Gold
- Monitor: Philips 243V5 Full HD 24”
ตรวจสอบข้อมูลด้วย AIDA64


นี่ถือโปรไฟล์ของ TOUGHRAM XG DDR4 4400MHz ที่ตรวจสอบด้วยโปรแกรม AIDA64 เราจะเห็นได้กว่าแรมรุ่นนี้มีความเร็วมาตรฐานตามค่า JEDEC สูงสุดที่ 1333MHz หรือที่ DDR 2666MHz เท่านั้นเอง แต่พอเพิ่มโปรไฟล์ XMP เข้ามาเราจะเห็นได้ว่าสามารถเพิ่มความเร็วในการทำงานไปได้ถึง 2197MHz หรือที่ DDR 4400MHz (ปัดเศษ) และยังมีค่า Timing มาให้อีกถึงสองชุดด้วยกันคือ 19-25-25-45 และ 20-25-25-45 ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีที่มีตัวเลือกเพื่อให้เข้ากับซีพียูที่มีคุณสมบัติในการทำงานที่ต่างกันได้ และสำหรับในการทดสอบของเราบนเมนบอร์ด ASRock Z590 Phantom Gaming ITX กับซีพียู Core i9-11900K นี้ก็สามารถเปิด XMP ไปที่ความเร็ว 4400MHz และใช้ค่า Timing ต่ำ 19-25-25-45 ได้ครับ
การทดสอบด้วย AIDA64 Memory Benchmark
AIDA64 Memory Benchmark เป็นการทดสอบที่ง่ายและมองเห็นผลการเปลี่ยนแปลงได้อย่างชัดเจนในการทดสอบแรม โดยจะแสดงทั้งค่าความเร็วในการอ่าน การเขียน ก็อปปี้ และค่าความหน่วง สำหรับการทดสอบนี้เราก็จะทดสอบที่ความเร็ว XMP ปกติที่ 4400MHz แล้วโอเวอร์คล็อกไปที่ 4600MHz และ 4800MHz ตามลำดับ



ผลการทดสอบด้วย AIDA64 ก็เห็นได้ชันเจนนะครับว่าเมื่อมีการเพิ่มความเร็วในการทำงานของแรมก็ทำให้ค่าในการอ่าน เขียน และก็อปปี้เพิ่มขึ้นตามมาก และที่สำคัญคือเมื่อเราเพิ่มความเร็วในการทำงาน เราสามารถล็อกค่า Timing ไว้เท่าเดิมได้ ทำให้แรมทำงานได้เร็วโดยไม่มีค่าความหน่วงเพิ่มขึ้น
ทดสอบด้วย MaxxMem
MaxxMem เป็นโปรแกรมทดสอบแบบง่าย ๆ ที่ทำให้เรามองเห็นค่าแบนด์วิดธ์ที่เพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ชัดเจนถ้าความเร็วของแรมมีการเปลี่ยนแปลงไป อย่างไรก็ตามโปรแกรมนี้ไม่ได้มีการอัปเดตมาเป็นเวลาพอสมควร จึงทำให้ไม่สามารถอ่านค่า SPD จากโมดูลหน่วยความจำได้ถูกต้อง แต่ผลการทดสอบนั้นยังคงใช้ได้ตามปกติครับ เราลองมาดูกันว่าความเร็วของแบรนด์วิดธ์จะเพิ่มไปอย่างไรบ้างจาก 4400MHz 4600MHz และ 4800MHz



ทดสอบด้วยโปรแกรม Memory Benchmark จาก PerformanceTest 10.1
อีกหนึ่งโปรแกรมที่จะมาแสดงความเร็วในการทำงานของแรมให้เราได้เห็นกันแบบชัด ๆ เมื่อความเร็วของแรมมีการเปลี่ยนแปลงไป และเรายังคงทดสอบสามค่าความเร็วตามลำดับเช่นเดิม คือ 4400MHz, 4600MHz และ 4800MHz



การทดสอบด้วย Blackmagic RAW Speed Test
Blackmagic RAW Speed Test เป็นโปรแกรมทดสอบประสิทธิภาพการทำงานร่วมกับไฟล์วิดีโอจากกล้อง Blackmagic โดยเป็นการทดสอบด้วยการทำงานร่วมกับ RAW ไฟล์ ตั้งแต่ความละเอียดเริ่มต้นในระดับ FHD 25fps ไปจนถึงวิดีโอขนาด 8K 60FPS และเราก็ทำการทดสอบที่แรมความเร็ว 4400MHz และ 4800MHz


หลังจากเพิ่มความเร็วของแรมจาก 4400MHz มาเป็น 4800MHz แล้วเราก็จะเห็นได้ว่าซีพียูสามารถรองรับการทำงานของวิดีโอขนาด 6K 60FPS ขึ้นมาได้เพิ่มเติม และส่วนของกราฟิกก็สามารถรองรับวิดีโอที่ 4K50FPS เพิ่มขึ้นมาได้ เช่นกัน (ที่ BRAW 3:1) นอกจากนี้ถ้าเราไปดูผลตรงตัวเลขสองช่องสุดท้ายของแต่ละการทดสอบ ซึ่งหมายถึงจำนวนเฟรมเรตที่รองรับได้ ก็จะมีการเพิ่มขึ้นไปด้วยเช่นกัน แม้จะเป็นการเพิ่มมาเพียงเล็กน้อยแต่ก็แสดงให้เราเห็นได้ชัดว่า การเพิ่มความเร็วของแรมนั้นมีผลต่อการทำงานโดยตรงทั้งส่วนของซีพียูและกราฟิก
การทดสอบร่วมกับเมนบอร์ด ASRock Z590 Phantom Gaming ITX นี้เราสามารถโอเวอร์คล็อกแรมไปได้ที่ความเร็ว 4800MHz แล้วใช้งานได้อย่างมีเสถียรภาพ แม้จะโอเวอร์คล็อกไปได้ไม่มากนัก แต่ก็เข้าใจได้ว่านี่เป็นเมนบอร์ดรุ่นเล็กที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อการโอเวอร์คล้อกอยู่แล้ว เป็นเมนบอร์ดแบบ Mini ITX ที่เน้นการใช้งานแบบทั่วไปมากกว่า ดังนั้นการโอเวอร์คล็อกหน่วยความจำมาถึงระดับ 4800MHz ได้ก็ถือว่าทำได้ดีเกินตัวแล้ว
อัปเดตผลการทดสอบเพิ่มเติม @5067MHz
ก่อนจะอัปเดตบทความนี้ขึ้นเว็บไซต์เรามีโอกาสนำ TOUGHRAM XG 4400MHz ไปทดสอบด่วน ๆ บนเมนบอร์ด MSI Z590 Gaming Carbon WiFi กับซีพียู Core i7-11700K ผลปรากฏว่าสามารถโอเวอร์คล็อกแรมให้ไปทำงานที่ความเร็ว 5067MHz ได้ และน่าจะไปได้ไกลกว่านี้หากมีเวลาในการทดสอบเพิ่ม




ผลจากการทดสอบเพิ่มเติมบนเมนบอร์ด MSI Z590 Gaming Carbon ในเบื้องต้นก็แสดงให้เห็นแล้วนะครับว่า TOUGHRAM XG DDR4 รุ่นนี้มีศักยภาพสูงในการรองรับการโอเวอร์คล็อก และถ้ามีเวลาในการลงรายละเอียดเกี่ยวกับพวกค่า Timing และ Sub Timing ต่าง ๆ เราก็คิดว่าน่าจะทำให้แรมรุ่นนี้มีความเร็วเพิ่มขึ้นได้อีกแน่นอนครับ และสำหรับความเร็วที่เพิ่มขึ้นมานี้ถ้าดูจากผลการดทดสอบด้วย AIDA64 ก็จะเห็นได้ว่าทุกค่าความเร็วนั้นเพิ่มขึ้นมาหมด ไม่ว่าจะเป็นการอ่าน การเขียน การก็อปปี้ และแม้แต่ค่า Latency ก็ลดลงตามความเร็วที่เพิ่มขึ้นอีกด้วยครับ ก็ถือว่าเป็นแรมที่น่าสนใจจริง ๆ
สรุปการใช้งาน
จากการได้ทดลองใช้งาน TOUGHRAM XG RGB DDR4 4400MHz มาสักระยะก็ถือว่าเป็นแรมที่ให้ประสิทธิภาพดีมากครับ และเราสามารถสัมผัสความแรงได้ง่าย ๆ แค่เปิด XMP ในไบออสของเมนบอร์ดเท่านั้น และถ้าแพลตฟอร์มที่คุณใช้สามารถที่จะโอเวอร์คล็อกแรมได้ คุณก็สามารถที่จะเพิ่มความเร็วในการทำงานขึ้นไปได้อีกพอสมควรเลยทีเดียว ซึ่งเราก็ได้แสดงให้เห็นแล้วในการทดสอบครั้งนี้ ส่วนใครที่ชอบแรมที่มีไฟและสีสันที่สวยงาม ไฟ RGB รุ่นใหม่ที่มาพร้อมกับ TOUGHRAM XG ก็สามารถตอบโจทย์ในเรื่องนี้ได้ดีเช่นกัน
การทดสอบ TOUGHRAM XG DDR4 4400MHz ยังไม่หมดเพียงแค่นี้นะครับ เดี๋ยวเราจะนำแรมรุ่นนี้ไปทดลองเพิ่มเติมกับซีพียูทางฝั่ง AMD ดูบ้างว่าจะให้ผลเป็นอย่างไร รอติดตามกันได้ครับ

ข้อมูลเพิ่มเติม
https://www.thermaltake.com/toughram-xg-rgb-memory-ddr4-4400mhz-16gb-8gb-x2.html