รีวิวพาวเวอร์ซัพพลาย XPG CORE REACTOR 850W

XPG มีพาวเวอร์ซัพพลายอยู่สองซีรีส์หลักคือ XPG PYLON และ XPG CORE REACTOR และพาวเวอร์ซัพพลายที่เราได้นำมาทดสอบกันในวันนี้ก็คือ XPG CORE REACTOR 850W และถ้าดูจากชื่อรุ่นแล้วก็รู้เลยว่านี่เป็นพาวเวอร์ซัพพลายที่จ่ายกำลังไฟฟ้าได้สูงสุดที่ 850 วัตต์ นั่นเอง

CORE REACTOR 850W เป็นพาวเวอร์ซัพพลายแบบ Full Modular คือสามารถถอดสายไฟออกจากตัวพาวเวอร์ซัพพลายได้หมดทุกเส้น ไม่เว้นแม้แต่สายที่ต้องใช้งานแน่ ๆ อย่างชุด ATX 24 PIN และ EPS 8 (4+4) หรือสายสำหรับไฟเลี้ยงซีพียูนั่นแหละครับ ก็ยังสามารถถอดออกมาได้ทั้งหมด และการถอดสายได้แบบนี้จะก็ให้ความสะดวกสบายในการประกอบเพราะไม่ต้องมีสายรุงรัง และเราก็ต่อเฉพาะที่ใช้เท่านั้น ทำให้การประกอบใช้ลงในเคสก็จะสะดวกมาก ๆ

ถ้าเราสังเกตดูก็จะเห็นได้ว่าสายไฟที่ให้มานั้นจะมีอยู่สองรูปแบบคือสายกลมที่มัดรวมกันแล้วถักด้วยตาข่าย และอีกแบบก็คือสายแพหรือสายแบบ สำหรับความแตกต่างตรงนี้ก็อธิบายได้ง่าย ๆ ครับ สายกลมนั้นจะใช้กับอุปกรณ์ที่ต้องการกำลังไฟฟ้าสูง ๆ เช่น ชุดสายที่ต่อเข้าเมนบอร์ด สายไฟของซีพียู และสายไฟสำหรับการ์ดจอ ส่วนชุดสายแบนก็จะเห็นได้ว่ามีเอาไว้ต่อกับพวก SSD และ HDD เป็นหลักรวมถึงอุปกรณ์ต่อพ่วงทั่วไปที่ไม่ได้ใช้กำลังไฟฟ้าสูง ข้อดีก็คือช่วยให้เราจัดเก็บสายได้ง่าย และโดยมากแล้วสายสำหรับ SSD/HDD มักจะเป็นสายที่ค่อนข้างยาวเพราะต้องต่อพ่วงได้หลายตัว ทำให้การจัดเก็บยุ่งยาก แต่พอมาเปลี่ยนมาใช้สายแบนมันก็จะจัดการได้งายกว่า ดัดให้เข้ารูปเข้าทรงกับเคสได้ง่ายกว่านั่นเองครับ อันนี้ก็เป็นรายละเอียดที่ XPG คิดมาให้แล้ว

มิติของ CORE REACTOR 850W ถือว่ามีขนาดที่ค่อนข้างกะทัดรัด 150 x 140 x 86mm หรือเรียกกันทั่วไปว่าเป็นแบบตัวสั้น ทำให้เราสามารถติดตั้งลงในเคสขนาดเล็กได้สะดวก โดยเฉพาะกับเคส Mini-ITX ที่รองรับพาวเวอร์ซัพพลายขนาดปกติได้ ก็สามารถเลือกใช้ CORE REACTOR 850W ได้ด้วยเช่นกัน และยังถอดสายได้อีกต่างหาก ทำให้ใช้งานได้สะดวกมาก ๆ กับเคสที่มีพื้นที่จำกัด

CORE REACTOR 850W ผ่านมาตรฐาน 80 PLUS ในระดับ Gold นอกจากนี้ยังได้ผ่านการทดสอบมาตรฐานจาก Cybernetics LAMBDA / ETA ซึ่งเป็นการทดสอบทั้งเรื่องของประสิทธิภาพในการจ่ายพลังงาน (ETA) และเรื่องของเสียงรบกวน (LAMBDA) ในระหว่างการทำงานอีกด้วย ซึ่ง CORE REACTOR 850W นี้ก็ได้รับมาตรฐานประสิทธิภาพในระดับ Platinum และระดับเสียงรบกวนอยู่ที่ A-

สำหรับมาตรฐานของ 80 PLUS คงไม่ต้องอธิบายอะไรมากเพราะหลายคนก็คงจะคุ้นเคยอยู่แล้ว ส่วนมาตรฐาน Cybernatics ที่ XPG ส่งไปทดสอบเพิ่มเติมนั้นก็เป็นอีกหนึ่งสถาบันที่บรรดาผู้ผลิตพาวเวอร์ซัพพลายให้การยอมรับและมีการทดสอบที่ค่อนข้างจะเข้มข้นกว่าทาง 80 PLUS ด้วยซ้ำไป การทดสอบประสิทธิภาพของ 80 PLUS จะใช้ Load อยู่สี่ระดับคือ 0% 20% 50% และ 100% แต่ในขณะที่การทดสอบของ Cybernetics จะทำการทดสอบ Load ตั้งแต่ 0% ไปจนถึง 110% โดยเพิ่มทีละ 10% ไปเรื่อย ๆ เรียกได้ว่าเป็นการทดสอบประสิทธิภาพในทุกช่วงของ Load เลยก็ว่าได้ นอกจากนี้ในส่วนของ LAMBDA ก็ยังทดสอบเพิ่มเติมว่าในแต่ละช่วงที่มี Load เสียงการทำงานของพัดลมระบายความร้อนในตัวพาวเวอร์ซัพพลายนั้นจะมีเสียงในการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง เรียกได้ว่าเป็นการทดสอบที่รอบด้านครับ

รูปด้านบนเป็นกราฟแสดงประสิทธิภาพในการทำงานของ CORE REACTOR 850 ที่ทดสอบทั้งชุดจ่ายไฟ 5V/3.3V และ +12V
ส่วนรูปนี้อธิบายเสียงที่เกิดขึ้นจากการทำงานของพาวเวอร์ซัพพลายเมื่อมีโหลดต่าง ๆ ซึ่งเสียงดังสุดก็อยู่ในระดับ 35dBA เท่านั้นก็ถือว่าเบามากครับ (40dBA คือเสียงในห้องสมุด) และเมื่อใช้งานจริงเวลาอยู่ในเคสก็ยิ่งไม่ส่งผลต่อการรบกวนครับ
XPG CORE REACTOR 850
Dimensions (L x W x H)150 x 140 x 86mm
80 PLUS RATINGGOLD
ATX VersionIntel ATX 12V V2.52
ProtectionsOCP / OVP / UVP / OPP / SCP / OTP / NLO / SIP
CertificationCE / UKCA / CB / FCC (IC) / EAC / CCC / TUV / cTUVus / RCM / NOM / BSMI / KC
PFC0.99
Input Voltage100V-240V
Input Current10A-5A
Input Frequency47Hz-63Hz
Operating Temperature50℃
Fan Size12cm
Fan BearingFDB (Fluid Dynamic Bearing)
Fan Speed2400 RPM (MAX)
Noise LevelNoise Level @ 20% : 11.2dB(A)
Noise Level @ 50% : 11.3dB(A)
Noise Level @ 100% : 24.7dB(A)
MTBF100K hours at full load
ATX 24 Pin Connectorx1
EPS 8 (4+4) Pin Connectorx 2
PCI-E 6+2 Pin Connectorx 6 
SATA Connectorx12
Peripheral 4 Pin Connectorx4
WeightProduct+cables:1.45kg+1.08kg (3.2lb+2.4lb) ±5% / with Package:3.23kg (7.1lb) ±5%
Warranty10 Year

ลองใช้งาน

อันที่จริงผลการทดสอบของ 80 PLUS กับ Cybernetics ก็สามารถยืนยันเรื่องคุณสมบัติการทำงานของพาวเวอร์ซัพพลายรุ่นนี้ได้แล้ว และไม่มีทางที่การทดสอบของเราจะไปเทียบเท่ากับห้องทดสอบเฉพาะทางที่มีเครื่องมือระดับหลายล้านบาทได้ ดังนั้นเราก็ขอทดสอบในฐานะตัวแทนของผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ทั่วไป แล้วมาเล่าให้ฟังก็แล้วกันครับ

สำหรับสเปคคอมพิวเตอร์ที่เรานำมาทดสอบร่วมกับ CORE REACTOR 850W ก็ประกอบไปด้วยซีพียู Ryzen 7 5800X (12C/24T) การ์ดจอ Radeon RX 6800 XT สเปคนี้ก็ต้องถือว่าแรงพอตัวแล้วนะครับสำหรับปีนี้ แต่ว่าฟูลโหลดของคอมพิวเตอร์ชุดนี้ก็จะอยู่ราว ๆ 500W เท่านั้นเอง ไม่ได้มากมายอะไรครับ ก็เป็นผลมาจากการทำงานของซีพียูยุคใหม่ที่ประหยัดพลังงานมากขึ้น แม้ตัวกราฟิกการ์ดตามสเปคจะระบุว่าใช้กำลังไฟฟ้าสูงสุดที่ 350W แต่พอทำงานจริงก็ไม่ได้หนักขนาดนั้น ดังนั้นถ้าใครใช้ฮาร์ดแวร์ในระดับเดียวกันกับเครื่องที่เราใช้ทดสอบการใช้พาวเวอร์ซัพพลายขนาด 750W-850W ก็ถือว่ากำลังดีครับมีพลังสำรองและช่วยให้พาวเวอร์ซัพพลายเองไม่ต้องทำงานหนักด้วยครับ

เราทำการเบิร์นฮาร์ดแวร์ชุดนี้ด้วยโปรแกรม OCCT ซึ่งจัดว่าเป็นโปรแกรมที่ทดสอบฮาร์ดแวร์ที่ค่อนข้างจะหนักหน่วงมากที่สุดโปรแกรมหนึ่งครับ

จะเห็นได้ว่าแม้เราจะทำการเบิร์นทั้งซีพียูและกราฟิกไปพร้อม ๆ กัน แรงดันไฟฟ้าในส่วนต่าง ๆ ที่จ่ายให้กับซีพียูและกราฟิกนั้นค่อนข้างจะคงที่ไม่มีการสวิงขึ้นลง แต่ถ้าจะมีบ้างก็คือส่วนของ CPU Core ที่จะมีการปรับเปลี่ยนไปตามงานและภาระที่ซีพียูกำลังทำในขณะนั้น ตรงนี้ถือเป็นปกติ เพราะซีพียูจะพยายามทำทุกทางที่จะให้ประสิทธิภาพสูงสุดและลดความร้อนในระหว่างการทำงานของตัวเองให้ได้มากที่สุดไปพร้อม ๆ กันครับ

และลองสังเกตดูอุณหภูมิกราฟิกการ์ดอยู่ที่ประมาณ 95 องศาเซลเซียส หลายคนอาจจะตกใจ แต่อย่าไปเครียดครับเพราะเราทดสอบในห้องที่มีอุณหภูมิราว 30 องศาเซลเซียส ไม่ได้เปิดแอร์ในระหว่างการทดสอบ ก็ถือเป็นการทดสอบเสถียรภาพการทำงานของทั้งระบบไปด้วยในตัวครับ ซึ่งเราเบิร์นติดต่อกัน 1 ชั่วโมง ก็ไม่พบปัญหาใด ๆ ในการทดสอบครับ

มาดูกราฟในรอบใกล้ ๆ ครบ 1 ชั่วโมงอีกครั้ง ก็จะเห็นว่าแรงดันไฟต่าง ๆ อยู่ในระดับที่นิ่งมาก ๆ นั่นแสดงให้เห็นว่าพาวเวอร์ซัพพลายรุ่นนี้จ่ายไฟอย่างมีเสถียรภาพอย่างมากเลยทีเดียว

พาวเวอร์ซัพพลายรุ่นนี้เหมาะกับใคร

CORE REACTOR 850W สามารถจ่ายกำลังไฟฟ้าได้สูงสุดที่ 850W ซึ่งความสามารถระดับนี้สามารถใช้งานร่วมกับสเปคคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงได้อย่างสบายทั้งซีพียูและกราฟิก จริง ๆ แล้วในภาพรวมซีพียูประสิทธิภาพสูง ๆ อย่าง Ryzen 9 หรือ Core i9 ใช้พลังงานเต็มที่ก็ไม่เกิน 200W และในทางปฏิบัติก็แทบจะเกิดขึ้นได้ยาก เพราะในการใช้งานจริงแม้แต่การเรนเดอร์งาน 3D ด้วยซีพียูเพียงอย่างเดียว ก็ยังไม่ได้ใช้งานหนักหน่วงในขนาดนั้น ส่วนทางด้านกราฟิกตัวแรงสุดตอนนี้อย่าง GeForce RTX 3090 และ Radeon RX 6900 XT แต่ละตัวก็ยังใช้พลังงานสูงสุดที่ 350W เท่านั้น ดังนั้นพลัง 850W จาก CORE REACTOR 850 นี้จึงถือว่าเพียงพอสำหรับความแรงเหล่านี้ และถ้าสเปคคอมพิวเตอร์ที่คุณใช้ไม่ได้ใช้ซีพียูและกราฟิกที่แรงขนาดนี้ CORE REACTOR 850 ก็ยิ่งรองรับฮาร์ดแวร์เหล่านี้ได้อย่างสบาย ๆ ครับ

นอกจากเรื่องของประสิทธิภาพและคุณสมบัติในการทำงานของ CORE REACTOR 850W ที่เราสามารถวางใจได้แล้ว ทาง XPG เองก็มีความมั่นใจอย่างมากับพาวเวอร์ซัพพลายรุ่นนี้ จึงได้มอบการรับประกันสูงสุดถึง 10 ปี เลยทีเดียว ทำให้เราใช้งานพาวเวอร์ซัพพลายรุ่นนี้ได้แบบไร้กังวล เรียกได้ว่าอัปเกรดฮาร์ดแวร์ไปหลายรุ่นเราก็ยังสามารถใช้พาวเวอร์ซัพพลายรุ่นนี้ต่อได้ครับ

ข้อมูลเพิ่มเติม

https://www.xpg.com/us/xpg/641