ผ่ามุมมองการสร้างบริษัทโทรคมแห่งอนาคตผ่านเลนส์ “อูเล่ บีโยร์น ชูลสตาด์” กัปตันทีมนักลงทุนจากเทเลนอร์ เอเชีย

อูเล่ บีโยร์น ชูลสตาด์ ถือเป็นผู้บริหารมากประสบการณ์ที่อยู่บนเส้นทางโทรคมนาคมมากว่า 25 ปีทั้งในภาคพื้นเอเชียและยุโรป ปัจจุบัน เขามีบทบาทสำคัญ โดยถือเป็นหัวเรือหลักในการกำหนดแนวทางการลงทุนในประเทศไทยจากฝั่ง “เทเลนอร์ เอเชีย” ในฐานะผู้ถือหุ้นรายสำคัญและเจ้าของร่วมของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

“เทเลนอร์” บริษัทโทรคมนาคมระดับโลกสัญชาตินอร์เวย์ ดำเนินกิจการในภาคพื้นเอเชียเป็นระยะเวลารวมเกือบ 3 ทศวรรษ จากความเชื่อที่ว่า ทุกคนจะได้รับประโยชน์จากการสื่อสารไร้สาย ด้วยเหตุนี้ เทเลนอร์ จึงทุ่มเทขยายบริการระดับแมสผ่านกลยุทธ์การตลาด พร้อมกับสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่ง-เฉพาะตัวเพื่อสอดรับกับความต้องการของตลาดนั้นๆ ของภาคพื้นเอเชีย

ด้วยจิตวิญญาณแห่งการเป็น First Mover เพื่อช่วงชิงความเป็นผู้นำและคว้าโอกาสแห่งการเติบโตใหม่ๆ ในช่วงปี 2565-2566 เทเลนอร์ เอเชีย ได้ประกาศความเคลื่อนไหวที่สำคัญที่สร้างแรงกระเพิ่มไปทั้งวงการ นั่นคือ ดีลการควบรวมกิจการของ 2 ยักษ์ใหญ่ทั้งในตลาดมาเลเซียและไทย ทำให้ปัจจุบัน การดำเนินงานของเทเลนอร์ เอเชีย ครอบคลุมผู้ใช้งานกว่า 200 ล้านคน ครอบครองสถานะผู้นำทั้งในไทย มาเลเซีย และบังคลาเทศ

True Blog ได้รับโอกาสในการพูดคุยกับ อูเล่ บีโยร์น ชูลสตาด์ ถึงมุมมอง ความคาดหวัง ประสบการณ์ของเทเลนอร์ เอเชียต่อตลาดโทรคมนาคมในประเทศไทย

บทเรียนสำคัญจากการทำงานร่วมกันกว่า 1 ปี

เป้าหมายสำคัญของผู้ถือหุ้นใหญ่ทั้ง 2 ของ ทรู คอร์ปอเรชั่น เทเลนอร์ และเครือเจริญโภคภัณฑ์ คือ การสร้างผู้นำแห่งโทรคมนาคม โดยอาศัยจุดแข็งจากขนาด ทรัพยากร และความเชี่ยวชาญ เพื่อการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ส่งมอบบริการและนวัตกรรมที่น่าดึงดูดแก่ลูกค้าชาวไทย ก้าวสู่โอกาสแห่งการเติบโตใหม่ๆ

“ตั้งแต่การควบรวมกิจการสำเร็จและดำเนินการภายใต้ ทรู คอร์ปอเรชั่น โฟกัสหลักของเราคือ การสร้างความมั่นใจว่าบริษัทใหม่นี้ ได้มีการรักษาโมเมนตัมทางธุรกิจในตลาด มีการทำงานร่วมกันอย่างแท้จริง สร้างวัฒนธรรมองค์กรแห่งชัยชนะ จากจุดเริ่มต้นถึงปัจจุบัน นับเป็นเวลา 1 ปีครึ่ง เราประสบความสำเร็จผ่านเป้าหมายการดำเนินงานต่างๆ ทั้งกิจกรรมที่หลากหลาย เพื่อผนึกน้ำหนึ่งใจเดียวกันระหว่างพนักงาน และการดำเนินงานให้ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งแน่นอนว่า ยังคงมีงานอีกจำนวนมากที่อยู่ระหว่างการพิชิตเป้าหมายและความสำเร็จ แต่ผมมั่นใจว่า บริษัทกำลังก้าวไปข้างหน้าในทิศทางที่ถูกต้อง” ชูลสตาด์ กล่าว

กัปตันทีมการลงทุนจากเทเลนอร์เอเชีย ยังย้ำอีกว่า เป้าหมายสำคัญของ ทรู คอร์ปอเรชั่น คือ การรับรู้ผลประโยชน์จากการซินเนอร์ยี่และสร้างผลกำไร ดังนั้น พื้นฐานทางการเงินที่แข็งแกร่งจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งเพื่อความต่อเนื่องในการลงทุน ไม่ว่าจะเป็นการสร้างโครงข่ายสมรรถนะสูง โครงการวิจัยเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ตลอดจนบริการที่ล้ำสมัย-ตอบสนองความต้องการที่แม่นยำจากดาต้า

“ที่ผ่านมา ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้แสดงให้เห็นถึงผลลัพธ์ทางการเงินที่แข็งแกร่ง และเรามั่นใจว่า ทรู คอร์อปเรชั่น จะพิชิตเป้าหมายพลิกฟื้นสู่กำไรได้ภายในงบการเงินปี 2567” ชูลสตาด์ กล่าวเสริม

จากผู้นำเทเลคอมเทคสู่ AI-First

“เทเลนอร์ได้เล็งเห็นถึงประโยชน์และความก้าวหน้ามหาศาลที่เทคโนโลยีการสื่อสารจะเข้ามาเปลี่ยนประเทศไทยเป็นรายแรกๆ และปัจจุบัน ประชากรไทยสามสารถเข้าถึงบริการดังกล่าวได้อย่างทั่วถึง ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีได้เต็มที่ และมีความสนใจในบริการใหม่ๆ ตลอดเวลา ทั้งนี้ ความต้องการในการใช้ดาต้าของไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และนั่นจึงเป็นสิ่งสำคัญในการดำเนินงานของ ทรู คอร์ปอเรชั่น เพื่อตอบสนองความต้องการดังกล่าว รวมถึงนำเสนอบริการด้านดาต้าที่ล้ำสมัย เพื่อประโยชน์แก่ลูกค้า” ชูลสตาด์ อธิบาย

เขาเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า เทคโนโลยีใหม่ๆ จะนำมาซึ่งผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงต่อชีวิตประจำวันของผู้คนในมิติต่างๆ ด้วยพัฒนาการที่รวดเร็วและความก้าวหน้าทางนวัตกรรมจากเทคโนโลยี 5G ปัญญาประดิษฐ์​ IoT และคลาวด์คอมพิวติ้ง ทำให้โลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ที่ไม่เพียงเชื่อมคนหลายล้านคนเข้าด้วยกันเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอุปกรณ์หลายพันล้านชิ้น

“เราอยู่ในธุรกิจของการสร้างบริษัทโทรคมนาคมเพื่ออนาคต การสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจเพื่อโอกาสใหม่ๆ เหล่านี้จำเป็นต้องอาศัยสมรรถนะและความสามารถใหม่ๆ ซึ่งรวมถึงความร่วมมือผ่านโมเดลธุรกิจต่างๆ ปัจจุบัน เทเลนอร์ทั้งในภาคพื้นยุโรปเหนือและเอเชียกำลังดำเนินโครงการทดลองต่างๆ นับร้อยโครงการ เพื่อหาหนทางและความเป็นไปได้สู่บริการใหม่ๆ รวมถึงปรับปรุงและพัฒนาประสิทธิภาพในฟังก์ชั่นงานต่างๆ ทั้งนี้ AI ถือเป็นอีกหนึ่งพื้นที่สำคัญที่เทเลนอร์มุ่งมั่นพัฒนา สร้างการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้กลายเป็น AI-First Company ซึ่งหนึ่งในความเคลื่อนไหวที่สำคัญที่ผ่านมาคือ การร่วมเป็นพันธมิตรกับผู้นำบริษัทผลิตชิปยักษ์ใหญ่ของโลกอย่าง NVIDIA และการร่างหลักจริยธรรมแห่ง AI” ชูลสตาด์ เผย

เขายังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า โครงการ AI-First ของเทเลนอร์นั้นพร้อมแล้วที่ปลดล็อกศักยภาพและคุณค่าเชิงโครงสร้างของ AI และ Gen AI ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวถือถือเป็นหัวใจและมีความสำคัญลำดับต้นๆ ของการสร้างองค์กรที่มีดาต้าเป็นตัวผลักดัน ทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ระดับโลก และกำหนดแนวทางเพื่อการใช้ AI อย่างมีความรับผิดชอบ รวมไปถึงการเพิ่มพูนทักษะแก่พนักงาน โดยเทเลเนอร์เชื่อในแนวทางการพัฒนาและประยุกต์ใช้ AI ที่ยึดมนุษย์เป็นศูนย์กลาง ยกระดับมาตรฐานทางจริยธรรมที่เกี่ยวข้องกับการเข้าถึงในเทคโนโลยีดิจิทัล ความยั่งยืน และความมั่นคง ตลอดจนการลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น

กำกับดูแลผ่านกลไกกรรมการ

จากการควบรวมกิจการระหว่างดีแทคและทรู ทำให้ความสัมพันธ์และสถานะของเทเลนอร์เปลี่ยนจากผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ในดีแทคสู่ผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ร่วมและพาร์ทเนอร์รายสำคัญของทรู คอร์ปอเรชั่น นั่นหมายถึง เทเลนอร์และเครือเจริญโภคภัณฑ์ มีสิทธิอันชอบธรรมในการดำเนินกิจการด้วยกลไกกำกับดูแลผ่าน “คณะกรรมการ” (Board of Directors) ใน ทรู คอร์ปอเรชั่น

การมีผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ที่มีขนาดเท่ากันถึง 2 รายทำให้ทรู คอร์ปอเรชั่น ได้รับประโยชน์จากประสบการณ์และมุมมองจากยักษ์ใหญ่ทั้งสอง อันหมายรวมถึงข้อมูลเชิงลึกและคำแนะนำอันล้ำค่าจากประสบการณ์อันเชี่ยวกรากในแวดวงธุรกิจต่างๆ จากคณะกรรมการอิสระและผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ในการกำกับดูแลกิจการ อันเป็นที่ประจักษ์ชัดจากเครือเจริญโภคภัณฑ์ ที่มีข้อมูลความรู้ความเข้าใจในบริบทท้องถิ่นอย่างลึกซึ้ง ครอบคลุมธุรกิจและอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย

“เทเลนอร์ ถือเป็นเจ้าอุตสาหกรรมที่มีประวัติศาสตร์และประสบการณ์ในวงการโทรคมนาคมมาอย่างยาวนาน มีฟุตปริ๊นท์ครอบคลุม 8 ประเทศในภาคพื้นเอเชียและยุโรปเหนือ ด้วยเหตุนี้ ทำให้เราเข้าถึงผู้นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลระดับโลก นำมาซึ่งบทเรียนความรู้จากการดำเนินงานจากที่อื่นและการจับมือเป็นพันธมิตรกับบิ๊กเทคระดับโลกมาสู่ไทย” กรรมการบริษัทจากฝั่งเทเลนอร์ กล่าว

ทั้งนี้ สำนักงานของเทเลนอร์ เอเชียที่ตั้งอยู่ที่สิงคโปร์จะทำหน้าที่ดูแล สนับสนุนการดำเนินธุรกิจในตลาดต่างๆ ตลอดจนปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทในภาคพื้นเอเชีย โดยมีทีมคณะบริหารและผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนทำหน้าที่สนับสนุนการดำเนินงานของทรูคอร์ปอย่างเต็มที่ สร้างความเข้มแข็งกับพาร์ทเนอร์ ตลอดจนการบริหารความสัมพันธ์กับผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ

“ด้วยความรับผิดชอบจากการดำรงตำแหน่งคณะกรรมการ ทำให้ผมต้องเดินทางมายังกรุงเทพฯ อยู่บ่อยครั้ง เพื่อให้มั่นใจว่าเราทำงานกับพาร์ทเนอร์และคณะผู้บริหารอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นการสนับสนุนที่จำเป็นต่อบริษัท ผลการดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย และมีความรับผิดชอบต่อการทำธุรกิจ” เขาอธิบาย

นอกจากนี้ เขายังเชื่อ อีกว่าคณะกรรมการบริษัททุกท่านยังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อทรู คอร์ปอเรชั่น ในการสร้างดิจิทัลอีโคซิสเต็ม เปลี่ยนผ่านโครงสร้างอุตสาหกรรมแบบดั้งเดิมสู่ดิจิทัล และที่สำคัญ สนับสนุนและมีส่วนร่วมต่อการพัฒนาสังคมไทยให้เจริญก้าวหน้า

“มีการประมาณการณ์ว่าเศรษฐกิจดิจิทัลของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีมูลค่าราว 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2573 ประเทศไทยจะช่วงชิงเม็ดเงินการลงทุนขนาดมหึมาเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจดได้นั้น จำเป็นต้องมีดิจิทัลอีโคซิสเต็มที่แข็งแกร่ง ซึ่งทรู คอร์ปอเรชั่น กำลังทำภารกิจดังกล่าว นับเป็นบทบาทที่สำคัญและท้าทายอย่างมาก” ชูลสตาด์ กล่าวทิ้งท้าย