5 โปรแกรมดี ฟรีแวร์: สร้าง-รวม-แยก-แปลง PDF (Free PDF Tools)

Free PDF

Free PDF Software

กลับมาพบกับ “โปรแกรมดี ฟรีแวร์” กันอีกครั้งแล้วนะครับ ในครั้งนี้เราจะนำเสนอฟรีแวร์ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการกับไฟล์ PDF ครับ หลายคนอาจจะคุ้ยเคยกับการใช้งาน PDF แค่ในเรื่องการเปิดขึ้นมาอ่านเท่านั้น แต่บางคนก็มีความต้องการในการนำไฟล์ PDF เหล่านั้นไปต่อยอดเพื่อใช้กับงานอื่น ๆ หรือต้องการแปลงข้อมูลที่มีอยู่ให้กลายเป็นไฟล์ PDF เพื่อนำไปแชร์ ไปส่งต่อ เพื่อมันง่ายต่อการเปิดอ่านไม่ว่าคุณจะใช้วินโดวส์ แมคโอเอส หรือลินุกซ์ รวมไปถึงสามารถเปิดอ่านบนสมาร์ทโฟน หรือแท็บเล็ตก็ยังได้ หรือในอีกกรณีที่มีไฟล์ต้นฉบับแล้วต้องการจะนำข้อมูลมาแก้ไขก็สามารถที่จะใช้เครื่องมือที่เราแนะนำกันในบทความนี้ได้เช่นกันครับ

[1] doPDF สร้างไฟล์ PDF อย่างง่ายด้วยการสั่งพิมพ์

เวลาพูดถึงการสร้างไฟล์ PDF หลายคนอาจจะไปนึกถึงพวกโปรแกรมต่าง ๆ จากค่ายของ Adobe แต่จริง ๆ แล้วเราสามารถสร้างไฟล์ PDF จากโปรแกรมใด ๆ ก็ได้ครับ โดยการสั่ง “Print” เท่านั้นเอง แต่แทนที่ผลลัพธ์จะออกมาเป็นกระดาษผ่านทางเครื่องพิมพ์ แต่เราจะได้ไฟล์งานที่มีนามสกุล .PDF ออกมาแทน แต่ว่าการที่จะทำเช่นนี้ได้เราก็ต้องมีโปรแกรมเสริมเข้ามาช่วยครับ เช่นโปรแกรม doPDF

Free PDF
Free PDF

doPDF เป็นหนึ่งในโปรแกรมที่ช่วยให้เราสร้างไฟล์ PDF ขึ้นมาได้อย่างง่ายดายด้วยการสั่ง “Print” ได้จากทุกโปรแกรมครับ โดยตัว doPDF นี้จะทำหน้าที่จำลองตัวเองเป็นเครื่องพิมพ์หรือเครื่องปริ้นเตอร์ แทนที่จะส่งผลงานออกมาเป็นกระดาษแต่ doPDF จะทำการแปลงข้อมูลทั้งหมดให้อยู่ในรูปแบบของไฟล์ PDF ที่เป็นมาตรฐาน ทำให้เรานำไฟล์เหล่านั้นไปใช้เปิดอ่านได้ในหลาย ๆ อุปกรณ์อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในตอนต้น

ดาวน์โหลด doPDF: http://download.dopdf.com/download/setup/dopdf-full.exe

[2] PDFCreator สร้างไฟล์ PDF เพื่อการจัดเก็บและจัดการ

โปรแกรมที่ทำหน้าที่แบบเดียวกันกับ doPDF ก็มีอีกหลายโปรแกรมเลยละครับและหลายโปรแกรมก็มีความสามารถในการทำงานที่มากกว่า doPDF ด้วย เช่น PDFCreator แต่ว่าโปรแกรมที่ใช้งานค่อนข้างจะยุ่งยากและซับซ้อนเกินไป แต่ถ้าคุณต้องการจะจริงจังกับการจัดการไฟล์ PDF ด้วย PDFCreator จะดีมากครับเพราะเราสามารถกำหนดรายละเอียดและข้อมูลต่าง ๆ เกี่ยวกับไฟล์ PDF นั้นได้ ซึ่งจะสะดวกมากเวลานำไปใช้งานร่วมกับโปรแกรมจัดการเอกสารดิจิทัล หรือในกรณีที่เราต้องการใส่รหัสเพื่อความปลอดภัยให้กับไฟล์ PDFCreator ก็สามารถทำได้ครับในขณะที่ doPDF ทำตรงนี้ไม่ได้ ถ้าไม่กังวลเรื่องความซับซ้อนในการใช้งานหรือใครต้องการทำงาน PDF อย่างจริงจังเราก็แนะนำ PDFCreator ครับ เพียงแต่โปรแกรมนี้มักจะหาสปอนเซอร์ด้วยการบันเดิลโปรแกรมอื่น ๆ มาด้วย แต่ก็สามารถเลือกได้จากขั้นตอนการติดตั้ง (อย่ากด Next อย่างเดียว ต้องอ่านบ้าง)

Free PDF

ดาวน์โหลด PDFCreator: https://sourceforge.net/projects/pdfcreator/

[3] PDF Shaper เครื่องมืออเนกประสงค์สำหรับไฟล์ PDF

PDF Shaper เป็นเหมือนเครื่องมืออเนกประสงค์ในการจัดการกับไฟล์ PDF เลยก็ว่าได้ โปรแกรมนี้จะมีชุดการสั่งงานอยู่ 4 คำสั่ง ได้แก่ Documents, Content, Pages และ Security

คำสั่ง Documents สามารถแปลงไฟล์ PDF ให้กลายเป็นไฟล์ตัวหนังสือที่เราสามารถแก้ไขเองได้อยู่สองรูปคือไฟล์ .TXT และไฟล์ .RTF โดยไฟล์ .RTF นี้เราสามารถใช้พวก MS Word เปิดมาเพื่อแก้ไขได้สบาย ๆ ครับ และที่สำคัญคือรองรับภาษาไทยด้วย แต่ว่าต้องเป็นไฟล์ที่ไม่มีภาพประกอบหรือการจัดหน้าที่ซับซ้อนนะครับ และรูปแบบของไฟล์ที่ได้ออกมานั้นอาจจะไม่สวยงามนัก และอาจจะมีพวกเครื่องหมายหรือช่องว่างมากอยู่สักหน่อย แต่ถ้าดูถึงประเด็นที่เราไม่ต้องเสียเวลาในการมาพิมพ์ข้อมูลเองใหม่ทั้งหมด และนี่เป็นโปรแกรมที่ใช้งานได้ฟรี ๆ ก็ถือว่าดีมากแล้วครับ นอกจากนี้ก็ยังใช้แปลงไฟล์ PDF ให้กลายเป็นรูปภาพ และในการกลับกันก็ทำรูปภาพให้เป็นไฟล์ PDF ได้เช่นกัน

คำสั่ง Content ก็จะมีหน้าที่ย่อย ๆ ไปอีกถึง 5 อย่างด้วยกันครับ ได้แก่ Merge เป็นการรวมไฟล์ PDF หลาย ๆ ไฟล์ให้เป็นไฟล์เดียวกัน, Split อันนี้ก็เป็นการแยกหน้าของไฟล์ PDF ออกมาตามที่ต้องการ, Extract Text เป็นการนำส่วนที่เป็นข้อความมาบันทึกในรูปแบบของตัวหนังสือครับคล้าย ๆ กับการแปลง แต่ว่าในกรณีนี้จะได้กับการสร้างไฟล์ PDF ที่เก็บรูปแบบของตัวหนังสือต่าง ๆ ในแบบข้อความจริง ๆ เท่านั้นไม่ใช่ข้อความที่เก็บอยู่ในลักษณะของรูปภาพ, Extract Image เป็นการนำส่วนที่เป็นรูปภาพที่ทั้งหมดอยู่ในไฟล์ PDF ออกมาบันทึกเป็นไฟล์แยกต่างหาก และสุดท้ายก็คือ Remove Images เป็นการนำส่วนที่เป็นรูปภาพออกไปจากไฟล์ PDF

คำสั่ง Pages เป็นการรวมชุดคำสั่งที่ใช้จัดการกับหน้าเอกสารภายในไฟล์ PDF ได้แก่ Rotate Pages สั่งให้หมุนหน้ากระดาษแนวตั้งแนวนอน, Crop Pages ตัดเฉพาะส่วนของหน้าที่ต้องการ เช่น ตัวเอกสารจริง ๆ มีขนาดแค่ B5 (หรือ A4 พับครึ่ง) แต่มาอยู่ในขนาด A4 ทำให้มีขอบทั้งด้านบน ด้านล่าง ด้านซ้าย ด้านขวา มากเกินไป เราก็สามารถกำหนดพื้นที่เฉพาะที่มีเนื้อหาแล้วสั่งตัดพื้นที่ ๆ ไม่ต้องการออกไป เป็นการลดขนาดของไฟล์ไปด้วยในตัว, Extract Pages เป็นการแยกหน้าเอกสารออกมาบันทึกเป็น 1 หน้า ต่อ 1 ไฟล์ เราสามารถเลือกได้ว่าจะให้แยกหน้าใดบ้าง โดยกำหนดเป็นตัวเลขหน้า หรือกำหนดเป็นช่วงของหน้าลงไปเช่น หน้า 5 จนถึงหน้า 10 เราก็จะได้ไฟล์ PDF ของหน้า 5 จนถึงหน้า 10 เป็นจำนวน 5 ไฟล์, Watermark เป็นการใส่ลายน้ำลงในเอกสาร, Delete Pages ลบหน้าที่ไม่ต้องการออกไป

คำสั่ง Security ในชุดคำสั่งนี้ก็จะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของไฟล์ PDF คำสั่งแรก Encrypt ใช้ในการใสรหัสให้กับไฟล์ PDF เพื่อป้องกันการแก้ไข หรือป้องกันการเปิดอ่าน โดยเราสามารถกำหนดพาสเวิร์ดได้ถึงสองส่วนคือส่วนของผู้สร้าง และส่วนของผู้ใช้และเรายังสามารถกำหนดได้อีกว่ารหัสของผู้ใช้นั้นทำอะไรได้บ้างเช่นอ่านได้อย่างเดียว แต่พิมพ์ไม่ได้ แก้ไขไม่ได้ เป็นต้น, Decrypt ก็จะใช้สำหรับแก้รหัสของไฟล์ที่เราเข้ารหัสด้วยคำสั่ง Encrypt ไปนั่นเองครับ, Metadata ตรงนี้จะเป็นเหมือนกับข้อมูลส่วนตัวของไฟล์ PDF ครับ จะบอกว่าเหมือนนามบัตร หรือบัตรประชาชนของไฟล์ PDF ก็ได้ ตรงนี้จะช่วยให้โปรแกรมบริหารจัดการไฟล์ PDF ทำงานกับไฟล์เหล่านี้ได้ง่ายขึ้น โดยข้อมูลในส่วนนี้ประกอบไปด้วย Author, Producer, Subject, Title, Creator และ Keyword สุดท้ายคือ Sing เป็นการใส่ลายเซ็นดิจิทัลลงไปในไฟล์ PDF โดยไฟล์ลายเซ็นดิจิทัลที่นำมาใช้ได้นั้นต้องเป็นไฟล์แบบ PFX ซึ่งผู้ใช้ทั่วไปอย่างเรา ๆ ก็ไม่ค่อยได้ไปวุ่นวายกับพวกนี้มากนัก

ดาวน์โหลด PDFShaper: http://www.pdfshaper.com/download.html

[4] Soda PDF 3D Reader อ่านไฟล์ PDF ได้เหมือนเปิดหนังสือ

ตามปกติแล้วเราก็มักจะใช้โปรแกรม Adobe Reader ในการเปิดไฟล์ PDF ขึ้นมาอ่าน แต่ถ้าคุณผู้อ่านมีไฟล์ PDF เป็นจำนวนมาหรือต้องอ่านงานจากไฟล์ PDF บ่อย ๆ บางครั้งก็อาจจะเบื่อกับหน้าจอธรรมดา ๆ ของโปรแกรมในการอ่านไฟล์ PDF ผู้เขียนก็ขอแนะนำให้ดาวน์โหลดโปรแกรม Soda PDF 3D Reader มาติดตั้งโดยพลันครับ เพราะโปรแกรมนี้จะช่วยเปลี่ยนเอกสาร PDF หน้าตาหน้าเบื่อ ให้กลายเป็นหนังสือหรือนิตยสารที่เราสามารถพลิกอ่านไปที่ละหน้าได้เหมือนกับหนังสือหรือนิตยสารฉบับจริงเลยครับ แม้ว่ามันจะอยู่ในจอภาพก็ตาม แต่มันก็ช่วยลดอาการเบื่อหน่ายได้ดีจริง ๆ ครับ

Free PDF

และถ้าคุณต้องการความสามารถอื่น ๆ เพิ่มเติมแบบฟรี ๆ คุณก็สามารถลงทะเบียนเพื่อเปิดใช้บางคุณสมบัติเพิ่มเติมได้เช่นการสร้างไฟล์ PDF จากโปรแกรมต่าง ๆ ด้วยการสั่งพิมพ์หรือการทำให้โปรแกรมนี้ทำหน้าที่เป็น “PDF Printer” นั่นเอง รวมไปถึงการใช้บริการไฟล์ PDF ในแบบออนไลน์ของทาง Soda PDF Online ได้อีกด้วยแต่ว่ามีพื้นที่จำกัดเพียง 100MB เท่านั้น ซึ่งน้อยมาก แต่เราก็คิดว่าทาง Soda PDF คงอยากจะให้เราได้มีโอการทดลองใช้บริการแบบออนไลน์นั่นเองครับ แต่ส่วนตัวของผู้เขียนก็ไม่ได้ใช้ฟังก์ชันออนไลน์ครับใช้แต่คุณสมบัติการเปิดไฟล์ PDF ในรูปแบบ 3D เท่านั้นเอง ส่วนการจัดการกับไฟล์ PDF ผู้เขียนก็จะใช้โปรแกรมอื่น ๆ ที่ได้แนะนำไปข้างตันเป็นตัวจัดการครับสะดวกและง่ายกว่า

นอกจากความสามารถในการอ่านไฟล์ PDF ได้ดีแล้ว Soda PDF 3D Reader ก็ยังสามารถทำหน้าที่เป็น PDF Printer ไปด้วยในตัว ถือว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกไปก็แล้วกันครับ

ดาวน์โหลด Soda PDF 3D Reader: https://www.sodapdf.com/products/pdf-reader

[5] calibre E-book management สร้างห้องสมุดดิจิทัล

สำหรับผู้ใช้คอมพิวเตอร์ทั่ว ๆ ไป ไฟล์ PDF ส่วนใหญ่นั้นมักจะได้มากจากการดาวน์โหลดมากกว่าสร้างขึ้นมาเอง ซึ่งตามปกติแล้วเวลาเราดาวน์โหลดไฟล์ PDF มาแล้วมันก็จะอยู่ในโฟลเดอร์ “Downloads” แต่ถ้าใครมีการจัดการที่ดีหน่อยก็อาจจะย้ายไฟล์ที่ดาวน์โหลดมาแยกจัดเก็บเป็นโฟลเดอร์ย่อย ตามประเภทหรือตามหมวดหมู่ของเนื้อหา แต่ถ้าคุณผู้อ่านเบื่อที่จะต้องมานั่งจัดคัดแยกไฟล์ไปตามโฟลเดอร์ก็สามารถใช้โปรแกรมอย่าง caliber E-book management มาช่วยจัดการก็ได้ครับและเมื่อเราเพิ่มไฟล์ PDF ของเราเข้าไปใน calibre แล้ว เราก็สามารถลบไฟล์ที่ดาวน์โหลดมาทิ้งได้เลยครับ เพราะตัว calibre ได้ทำสำเนาไฟล์ไว้ในโฟลเดอร์ของตัวเองเรียบร้อยแล้ว และเราก็สามารถจัดการกับไฟล์ PDF เหล่านั้นได้โดยผ่านโปรแกรม calibre โดยตรงครับ

Free PDF

เช่นถ้าเราดาวน์โหลดคู่มือของเมนบอร์ดยี่ห้อต่าง ๆ มา เช่นของ ASUS, GIGABYTE และ MSI หลังจากเพิ่มไฟล์เหล่านั้นเข้าไปใน calibre แล้ว เราก็สามารถที่จะแยกหมวดหมู่เบื้องต้นด้วยการตั้งชื่อของสำนักพิมพ์ หรือ Publisher ให้เป็นยี่ห้อของเมนบอร์ด ตัวcalibre ก็จะไปสร้างโฟลเดอร์สำหรับเก็บไฟล์จากสำนักพิมพ์เดียวกันไว้ในโฟลเดอร์ย่อยเดียวกัน เช่นในตัวอย่างที่เรายกมาให้ดูนี้ ถ้าเราไปดูในโฟลเดอร์ calibre Library ซึ่งเป็นโฟลเดอร์ที่ใช้เก็บไฟล์ PDF ของ calibre เราก็จะพบโฟลเดอร์ย่อของเมนบอร์ดทั้งสามยี่ห้อปรากฏอยู่ จริง ๆ แล้วในส่วนพวกนี้เราไม่ต้องสนใจก็ได้ครับเพราะตัว calibre จะจัดการให้เราเอง แต่ที่ผู้เขียนนำมาบอกก็เพื่อให้มองเห็นภาพการทำงานของ calibre จะได้เข้าใจการใช้งานได้ง่ายขึ้นครับ

Free PDF
Free PDF

เวลาเข้าไปที่หน้าเว็บไซต์ของ caliber แล้วอย่าเพิ่งตกใจว่าเป็นพวกเว็บไซต์หลอกลวงหรือเว็บเถื่อนนะครับ หน้าตาเว็บไซต์อาจจะดูโบราณไปสักหน่อย caliber ถูกพัฒนามาตั้งแต่ 2006 แล้วละครับ caliber เกิดขึ้นมาเพราะผู้พัฒนามีปัญหาเกี่ยวกับการจัดการไฟล์และการแปลงข้อมูลให้ไปอยู่บนเครื่องอ่าน ebook ซึ่งผู้พัฒนาสร้างโปรแกรมนี้มาเพื่อแก้ปัญหาของตัวเองและกลุ่มเพื่อน ๆ ก่อน หลังจากนั้นจึงได้เปิดตัวให้เป็นโปรแกรมแบบโอเพ่นซอร์สให้ผู้คนเข้ามาร่วมกันพัฒนากันครับ

และด้วยจุดกำเนิดของโปรแกรมนี้ทำออกมาเพื่อใช้งานส่วนตัวหน้าตาของโปรแกรม caliber ก็อาจจะดูไม่ทันสมัยมากนัก แต่เชื่อเถอะครับถ้าใครเคยใช้งานมาตั้งแต่รุ่นแรก ๆ ก็จะบอกว่าหน้าตาล่าสุดนี้ถือว่าเป็นมิตรกว่าเดิมมากครับ และใช้งานง่ายขึ้นด้วย

ดาวน์โหลด calibre: https://calibre-ebook.com/download

เทคนิคการลดขนาดไฟล์ PDF

ตามปกติแล้วเวลาที่เรามีไฟล์ PDF ขนาดใหญ่และต้องการจะลดขนาดไฟล์ให้เล็กลงก็จะต้องอาศัยโปรแกรมที่สามารถเข้าไปแก้ไขไฟล์ PDF ได้อย่างเช่น Adobe Acrobat หรือโปรแกรมอื่น ๆ ซึ่งเป็นโปรแกรมเสียเงิน แต่ถ้าเรามีโปรแกรมอย่าง doPDF หรือ PDFCreator เราก็สามารถลดขนาดไฟล์ PDF ให้เล็กลงได้ง่าย ๆ ครับ

Free PDF
  1. เปิดไฟล์ PDF ขึ้นมา อาจจะใช้ Soda PDF Reader ก็ได้ แล้วสั่งพิมพ์ไฟล์ (ไฟล์ตัวอย่างของเราเป็นคู่มือเมนบอร์ด มีขนาด 11.3MB)
  2. เลือกเครื่องพิมพ์ ในที่นี้เลือกไปที่ doPDF (หรือโปรแกรมจำลองเครื่องพิมพ์ PDF อื่น ๆ)
  3. เลือกที่ Printer Properties
  4. ไปเลือกที่ Resolution (dpi) ตรงนี้เป็นการกำหนดความละเอียดในการพิมพ์ครับยิ่งตัวเลขน้อยขนาดของไฟล์ก็จะลดลงด้วยครับ ค่าปกติจะอยู่ที่ 300dpi (และขึ้นอยู่กับ dpi ของไฟล์ต้นฉบับด้วย) ในตัวอย่างนี้ค่า dpi ปกติอยู่ที่ 300 แต่เราจะลดรายละเอียดลงครึ่งหนึ่งเหลือ 150dpi แล้วกด OK
  5. จากนั้นกลับไปกดสั่งพิมพ์ที่ไอคอนรูปเครื่องพิมพ์เพื่อสั่งพิมพ์อีกครั้ง (อินเทอร์เฟซของโปรแกรมอื่น ๆ อาจจะแตกต่างกันไปแต่ใช้หลักการเดียวกัน)
  6. จากนั้นจะมีไดอะล็อกเล็ก ๆ ขึ้นมาให้เราใส่ชื่อไฟล์ปกติจะใช้ชื่อไฟล์เดิมให้เลย แต่เราควรจะตั้งใหม่เพื่อไม่ให้ไปทับต้นฉบับ
  7. ในส่วนนี้ให้เลือกเป็น “Smallest file” จากนั้นก็คลิกที่ปุ่ม OK รอสักครู่เราก็จะได้ไฟล์ PDF ขึ้นมาอีกหนึ่งไฟล์แต่มีขนาดเล็กกว่าต้นฉบับ
Free PDF

จากการทดลองของเราไฟล์ใหม่ที่ได้มีขนาดเพียง 8.44MB จาก 11.3MB ก็ลดลงไปประมาณ 20% ครับถือว่าน่าพอใจ แต่ถ้ายังเล็กไม่พอเราก็อาจจะไปลดจำนวน dpi ในขั้นตอนที่ 4 ลงอีกก็ได้ แต่ต้องดูวัตถุประสงค์ในการใช้งานด้วยนะครับ เพราะถ้าลด dpi ลงมามาก ๆ รายละเอียดของภาพในไฟล์ก็จะหายไปด้วยครับ ลองดูภาพตัวอย่าง รายละเอียดของภาพจะหายไปพอควร แต่ก็ยังเปิดอ่านได้รู้เรื่องครับไม่เป็นปัญหา การจะลดขนาดได้มากได้น้อยก็ขึ้นอยู่ไฟล์ตันฉบับด้วยนะครับ ถ้ามีรูปภาพประกอบมาก ๆ ก็อาจจะลดได้ไม่เยอะ

ส่งท้าย

ก็ต้องเรียนคุณผู้อ่านตามตรงครับว่าตอนนี้เครื่องมือที่ใช้จัดการกับไฟล์ PDF ที่ดีและฟรีนั้นหายากมากขึ้นเรื่อย ๆ ครับ ที่ว่าหายากนั้นไม่ได้เป็นเพราะไม่มีคนพัฒนาโปรแกรมนะครับ การพัฒนาเกี่ยวกับไฟล์ PDF นั้นมีอยู่มากมายและก้าวหน้ามากขึ้นทุกวันครับเพียงแต่ว่าโปรแกรมที่ใช้จัดการไฟล์ PDF ส่วนใหญ่จะถูกพัฒนาให้กลายมาเป็นบริการในแบบออนไลน์ครับ เนื่องจากโดยพื้นฐานแล้วเวลาที่เราทำงานร่วมกับไฟล์ PDF นั้นส่วนใหญ่ก็เป็นไปเพื่อการแบ่งปัน การแชร์ ดันนั้นการพัฒนาคุณสมบัติการทำงานร่วมกับไฟล์ PDF ก็เลยออกมาเป็นรูปแบบออนไลน์ที่ตอบสนองได้สะดวกกว่า แต่ว่าการให้บริการแบบออนไลน์ฟรีก็มักจะมีข้อจำกัดในหลายรูปแบบ เช่น เรื่องขนาดไฟล์ต้องไม่เกินกี่ MB ก็ว่ากันไป หรือมีจำนวนหน้าไม่เกินกี่หน้าก็ว่ากันไป หรือทำแล้วจะต้องติดลายน้ำของผู้ให้บริการ เป็นต้น ครับ แต่ถ้าเรามีความต้องการใช้งานเกี่ยวกับ PDF ไฟล์ในแบบจริงจัง งานนี้ก็คงจะต้องยอมเสียเงินครับ แต่ถ้าไม่ได้ซีเรียสอะไรมากก็ใช้โปรแกรมต่าง ๆ ที่เราได้แนะนำไปก็น่าครอบคลุมการใช้งานส่วนใหญ่อยู่พอสมควรแล้วครับ

Share via
Copy link