Cooler Master StreamEnjin เป็นอุปกรณ์ที่ออกแบบมาเพื่อช่วยในการสตรีมมิ่งวิดีโอโดยเฉพาะ โดยตัวมันจะทำหน้าที่เป็นตัวกลางในการนำสัญญาณภาพจากอุปกรณ์ต่าง ๆ เข้ามารวมกัน แล้วเราก็สามารถจัดซีนภาพ รวมถึงเอฟเฟคต์ โดยใช้แท็บเล็ตซึ่งจะเป็น iOS หรือ Android ก็ได้ในการตั้งค่าต่าง ๆ แล้วทำการสตรีมมิ่งไปออกช่องทางต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Facebook, YouTube หรือ Twitch รวมถึงช่องทางอื่น ๆ ได้สองช่องทางพร้อมกัน

ในขณะเดียวกัน เราก็ยังสามารถทำการบันทึกลงใน USB Drive ได้โดยตรง เพื่อนำมาใช้ตัดต่อในภายหลังได้ (หากสตรีมพร้อมบันทึกวิดีโอ จะสตรีมได้เพียงหนึ่งช่องทางไปพร้อมกับการบันทึกวิดีโอ) ข้อดีของ StreamEnjin ก็คือทั้งการสตรีมมิ่งและการบันทึกวิดีโอนั้นจะไม่ใช้ทรัพยากรจากพีซี จากโน้ตบุ๊ก หรือจากเกมคอนโซลของเราเลย ทำให้เครื่องที่เราใช้งานอยู่นั้นไม่ต้องสูญเสียประสิทธิภาพในระหว่างเล่นเกมหรือระหว่างการใช้งานแอปพลิเคชัน

ดีไซน์
หลายคนบอกว่ารูปร่างหน้าตาของ StreamEnjin มีลักษณะเหมือนอุปกรณ์ที่อยู่สตูดิโอทีวีระดับมืออาชีพเลยก็ว่าได้ ก็ไม่ต้องแปลกใจครับเพราะ StreamEnjin มีฝาแฝดอีกสองสามแบรนด์ที่มีหน้าตาคล้าย ๆ กัน แต่วางขายในกลุ่มอุปกรณ์ของงานวิดีโอระดับมืออาชีพด้วยเช่นกัน ดังนั้นหน้าและดีไซน์ของตัวเครื่องก็เลยออกมาจริงจังอย่างที่เห็น และบอกได้เลยว่าวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ อยู่ในเกรดเดียวกันกับอุปกรณ์ระดับสตูดิโอเลย ไม่ได้ถูกลดทอนใด ๆ ทั้งสิ้น ดังนั้นราคาของ StreamEnjin จึงไม่ได้ต่างอะไรกับอุปกรณ์ระดับสตูดิโอที่มีราคาในหลักสามหมื่นกว่าบาท (ตอนเปิดตัว) แต่โชคดีที่ตอนนี้มีการปรับลดราคาลงมาเป็นระยะ ๆ จนล่าสุดในบ้านเราเองทาง CoolerMaster ก็ได้จัดโปรโมชันพิเศษจนราคาต่ำกว่าหมื่นไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (ใครสนใจมีลิงก์โปรโมชันท้ายบทความ)


ก็อย่างที่ได้บอกไปว่า StreamEnjin คือแฝดของอุปกรณสตรีมมิ่งในสตูดิโอทีวีมืออาชีพ ดังนั้นการทำงานของมันจึงถูกออกแบบมาให้รองรับงานที่หนักในแบบ 24/7 ดังจะเห็นได้จากที่ตัวเครื่องไม่มีปุ่มปิดเปิด ต่อสายพาวเวอร์แล้วก็ปล่อยให้ทำงานไปตลอดเวลาได้เลย เพราะตัวควบคุมการสตรีมมิ่งจะถูกจัดการโดยแอปพลิเคชันที่อยู่ในแท็บเล็ตครับ

การติดตั้งและการใช้งานครั้งแรก
เมื่อคุณซื้อ StreamEnjin มาแล้ว สิ่งที่คุณต้องมีเพิ่มเติมก็คือ 1. จอภาพที่รองรับ HDMI เพื่อใช้พรีวิวดูภาพที่ถูกส่งออกไปยังช่องทางสตรีมมิ่ง หรือถูกบันทึกลงใน USB Drive และ 2. คือแท็บเล็ตที่ใช้ iOS หรือ Android ตั้งแต่เวอร์ชัน 10 เป็นต้นไป เพื่อติดตั้งแอปพลิคเชัน StreamEnjin อย่าคิดว่าสมาร์ทโฟนแทนได้ ถึงจะรันแอปฯ ได้ แต่เวลาตั้งค่าหรือเซ็ตซีนต่าง ๆ รวมถึงการพิมพ์ข้อความนั้นคุณแทบจะมองอะไรไม่เห็นเลยแถมเมนูบางส่วนก็จะหายไปอีกเพราะตัวฟอนต์บางส่วนถูกขยายขึ้นมา
ก่อนเริ่มติดตั้งอะไรใด ๆ แนะนำให้คุณดาวน์โหลดแอปฯ StreamEnjin มาติดตั้งไว้ในแท็บเล็ตของคุณก่อนเพื่อให้พร้อมต่อการใช้งานแล้วจากนั้นก็ทำตามขั้นตอนดังนี้
- ต่อสาย HDMI ที่เครื่อง StreamEnjin เข้ากับจอภาพที่รองรับ HDMI
- ต่อสาย LAN เข้ากับ StreamEnjin
- ต่อสาย USB จากช่อง USB Link ที่อยู่ด้านข้างตัวเครื่อง StreamEnjin เข้ากับแท็บเล็ตที่คุณใช้งาน
- ต่อสายพาวเวอร์ที่ตัว StreamEnjin รอจนเห็นภาพแสดงขึ้นที่จอภาพสำหรับพรีวิว
- เข้าสู่แอปฯ StreamEnjin โดยคุณต้องเชื่อมต่อ Wi-Fi ให้อยู่ในเน็ตเวิร์คเดียวกันกับ LAN ที่ต่อเข้ากับเครื่อง StreamEnjin ถึงจะเชื่อมต่อกันได้ จากนั้นโปรแกรมจะให้คุณทำการสแกน QR Code ที่ปรากฏอยู่บนจอภาพที่ใช้พรีวิว เพื่อเป็นการลิงค์ตัว StreamEnjin เข้ากับสมาร์ทโฟนของคุณ

ถ้าเชื่อมต่อกันสำเร็จ ครั้งต่อไปคุณก็ไม่ต้องต่อสาย USB Link แค่ต่อสายพาวเวอร์เวอร์ ให้เครื่องทำงานแล้วก็เปิดแอปบนแท็บเล็ตเพื่อควบคุมการทำงานได้เลย แต่ถ้าคุณมีการเปลี่ยนสถานที่หรือเปลี่ยนเน็ตเวิร์คที่ใช้งานคุณก็จะต้องทำตามขั้นตอนทั้งหมดใหม่อีกครั้งครับ และหลังจากเซตอัปครั้งแรกเสร็จแล้ว จอภาพสำหรับพรีวิวก็อาจจะไม่จำเป็นหากคุณไม่ได้ซีเรียสว่าจะต้องมองเห็นภาพในแบบ Realtime เพราะคุณสามารถดูจากหน้าจอของแท็บเล็ตได้ แต่ว่าการพรีวิววิดีโอมันจะไม่ลื่นไหลภาพอาจจะดูกระตุก ๆ หน่อย แต่ก็พอรู้ว่าหน้าตาซีนที่จะถูกส่งออกไปนั้นเป็นอย่างไรครับ
การใช้งาน
การใช้งานในช่วงแรก ๆ ก็ยอมรับเลยครับว่าเรารู้สึกขัดใจอยู่มาก ๆ กับรูปแบบการทำงานของ StreamEnjin เพราะที่ผ่านมาเราคุ้นเคยอยู่กับการปรับตั้งค่าการสตรีมมิ่งบนพีซีที่มันสะดวกสบายและรวดเร็วเพราะทุกอย่างทำอยู่บนพีซีเพียงเครื่องเดียว หรือถ้าสตรีมแบบสองเครื่องก็แค่นำสัญญาณจากอีกเครื่องต่อเข้าแคปเจอร์ก็จบเช่นกัน ที่สำคัญซอฟต์แวร์บนพีซีก็มีให้เลือกเยอะ แล้วก็ทำซีนได้อย่างยืดหยุ่นมาก ๆ ไม่นับพวกปลั๊กอินเสริมอีกสารพัด

แต่พอต้องมาเซตอัปการสตรีมมิ่งที่ต้องผ่านทั้งตัว StreamEnjin และยังต้องมีแท็บเล็ตเข้ามาควบคุมอีก และที่สำคัญแอปพลิเคชันบนแท็บเล็ตก็ยังถือว่าจัดการได้อย่างพื้นฐานมาก แต่ก็พอเข้าใจได้ว่าอุปกรณ์นี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อความเรียบง่ายและใช้งานได้รวดเร็วนั่นเอง ที่สำคัญต้องออกแบบแอปพลิเคชันให้สามารถทำงานบนแท็บเล็ตที่มีสเปคหลากหลายโดยเฉพาะกับทางฝั่ง Android ดังนั้นการใส่อะไรเข้ามามากเกินไปสุดท้ายก็ใช้งานไม่ได้อยู่ดี
พอเราเริ่มคุ้นและทำความเข้าใจกับคอนเซปต์ของ StreamEnjin แล้ว การใช้งานทั่วไปก็ไม่ได้มีอะไรยุ่งยากเลิกครับ การงานใช้งานระหว่างการสตรีมโดยเฉพาะการสลับซีนต่าง ๆ StreamEnjin ถือว่าทำออกมาได้อย่างตอบโจทย์ดีมาก เราสามารถสตรีมและควบคุมด้วยตัวคนเดียว หรือจะมีทีมช่วยควบคุมด้วยก็ได้
สรุปหลังใช้งาน
StreamEnjin เป็นอุปกรณ์ที่มีคอนเซปต์ดี เพียงแต่การใช้งานและข้อจำกัดอยู่บ้างครับ อันดับแรกเลยก็คือ สามารถสตรีมมิ่งด้วยความละเอียดสูงสุดที่ 1080p และ 30 FPS เท่านั้น แต่ข้อดีก็คือสตรีมออกสองช่องทางได้พร้อมกัน ถ้าต้องการเฟรมเรตที่สูงกว่านี้ก็ต้องปรับมาเป็น 720p ก็จะได้ที่ 60 FPS ประการที่สองก็คือคุณต้องมีแท็บเล็ตใช้งานอยู่แล้ว ถ้าไม่มีนอกจากราคาของ StreamEnjin ที่ต้องจ่ายแล้วก็ต้องกำเงินอย่างน้อย ๆ 7,000 บาท สำหรับแท็บเล็ต Android ที่พอใช้งานได้ หรือถ้าเป็นฝั่ง iOS ก็ต้องกำเงินระดับ 12,000 บาท นี่ยังไม่นับรวมจอภาพแยกอีกหนึ่งจอหากคุณต้องการจอสำหรับการพรีวิวแบบ Realtime ดังนั้นกลุ่มเป้าหมายเราคิดว่าไม่น่าจะใช้เกมเมอร์หรือสตรีมเมอร์ที่มีพีซีหรือโน้ตบุ๊กอยู่แล้วแน่ ๆ

และถ้าพิจารณาอย่างละเอียดทั้งการออกแบบและวิธีการใช้งานดูเหมือนว่ากลุ่มเป้าหมายของ CoolerMaster นั้นจะมุ่งไปยังสตรีมเมอร์กลุ่มผู้ใช้งานเครื่องเล่นเกมคอนโซลรวมทั้งสตรีมเมอร์ที่ไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ คือต้องการต่อกับกล้องที่มี Clean HDMI รวมเข้ากับสัญญาณจากเครื่องเล่นเกม หรือเครื่องเล่นมีเดียอื่น ๆ หรือต่อกล้องสองตัว แล้วก็สตรีมออกมาเลย น่าจะเป็นผู้ใช้ในกลุ่มนั้นมากกว่า และถ้าเป็นในลักษณะนี้ก็ต้องถือว่า StreamEnjin ทำออกมาได้ตรงกับกลุ่มเป้าหมายแล้วครับ
ดังนั้นการพิจารณาเลือกซื้อเลือกใช้ StreamEnjin ก็ต้องดูว่าคุณยอมรับกับเรื่องข้อจำกัดด้านความละเอียดในการสตรีมได้ไหม ถ้าคุณคิดว่า 1080p 30FPS หรือ 720p 60FPS ก็ตอบโจทย์การทำงานแล้ว ที่เหลือเราก็คิดว่าไม่น่าจะเป็นปัญหาแล้วละครับ
สั่งซื้อ Cooler Master StreamEnjin ในราคาพิเศษได้ที่นี่ (เหลือ 8,590 บาท ราคาจาก ปกติ 23,900 บาท)