
Plenty DAVINCI E-ATX เป็นเคสภายใต้แบรนด์ของคนไทยที่ทำออกมาได้มาตรฐานเดียวกันกับเคสในระดับอินเตอร์แบรนด์ก็ว่าได้ (แน่หล่ะเพราะใช้โรงงานผลิตแห่งเดียวกัน) ดังนั้นเรื่องคุณภาพของตัววัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ จึงไม่ด้อยไปกว่าเคสระดับอินเตอร์แบรนด์เลย และสำหรับใครที่กำลังมองหาเคสที่ใส่เมนบอร์ดไซส์ใหญ่ในขนาด E-ATX ได้ในรูปทรงที่กะทัดรัดเคสรุ่นนี้ก็ตอบโจทย์ได้อย่างลงตัว รวมไปถึงคนที่ใช้เมนบอร์ดขนาดเล็กลงมาในขนาด micro-ATX และ ATX ก็สามารถที่จะใช้งานเคสรุ่นนี้ได้เช่นกันครับ
Plenty DAVINCI E-ATX มีมิติของตัวเคสภายนอกอยู่ที่ 380x210x440mm ซึ่งเป็นขนาดในระดับเดียวกันกับเคส Mid-Tower ทั่วไป จะเล็กหรือใหญ่กว่านี้ก็ไม่มากนัก ถ้าไม่ทราบข้อมูลมาก่อน ดูจากรูปทรงภายนอกก็คิดว่าน่าจะรองรับเมนบอร์ดขนาดใหญ่สุดก็คือ ATX เท่านั้น แต่พอมาดูตำแหน่งของการติดตั้งเมนบอร์ดแล้วก็พบว่ารองรับเมนบอร์ดขนาด E-ATX ได้จริง ๆ

ด้านหน้าของเคสถูกออกแบบให้เป็นฝาปิดเรียบ โดยเว้นช่องลมไว้บริเวณขอบด้านข้างเพื่อเป็นช่องทางสำหรับดึงอากาศภายนอกเข้าเคส ด้านข้างเคสเป็นกระจกนิรภัย เพื่อโชว์ให้เห็นฮาร์ดแวร์ที่อยู่ภายใน ส่วนฝาอีกข้างก็เป็นแผ่นเหล็กปิดทึบทั่วไปครับ ส่วนขารองตัวเคสสังเกตดูจะมีความสูงพอสมควร ก็มีข้อดีตรงที่ช่วยให้อากาศไหลเวียนผ่านเข้าไปในตัวเคสได้ง่ายขึ้นครับ

ตำแหน่งการใช้งานของปุ่มต่าง ๆ จะอยู่บริเวณด้านบนของตัวเคส ทั้งปุ่มปิด/เปิด พอร์ต USB และช่องสำหรับต่อหูฟัง/ไมโครโฟน ตำแหน่งการใช้งานในลักษณะนี้ก็ถือว่าสะดวกและใช้งานได้ง่ายครับ

ด้านบนของเคสเป็นพื้นที่สำหรับระบายความร้อนขนาดใหญ่ และมีการติดตั้งตะแกรงกรองฝุ่นมาให้ด้วย โดยใช้ตัวยึดเป็นแบบแทบแม่เหล็กที่ทำให้เราถอดไปทำความสะอาดได้ง่าย เป็นอะไรที่สะดวกมาก ๆ แต่ถ้าเราใช้งานจริง โดยใช้พัดลมที่เขาติดตั้งมากับเคส ฝุ่นทางด้านบนก็จากนอกตัวเคสไม่ค่อยมีครับ เพราะลมมันถูกเป่าออกไปทางด้านบนอยู่แล้ว แต่ฝุ่นที่เกิดขึ้นก็จะมาจากด้านในเคสเองมากกว่าครับ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหาเพราะถอดไปทำความสะอาดได้ง่าย

เวลาเราจะใช้งานเคสที่เป็นฝาข้างแบบกระจกนิรภัย แนะนำว่าให้จับเคสวางนอนลงไปแล้วค่อยเปิดฝาออกมา รวมถึงเวลาใส่กลับเข้าไปก็เช่นกัน ปลอดภัยไว้ก่อนครับ อาจจะเสียเวลาหน่อยอาจจะไม่สะดวก แต่ก็ช่วยลดอุบัติเหตุที่จะทำให้ฝาข้างแตกไปได้เกิน 80% แล้วครับ แล้วเวลาไขสกรูยึดก็ไม่จำเป็นต้องใช้ไขควงมาไขให้มันแน่น ใช้แค่มือของเราหมุนพอรู้สึกตึงมือก็พอแล้วครับไม่ต้องกลัวหลุด แล้วพอใช้งานไปนาน ๆ ก็ตรวจสอบด้วยการใช้มือลองหมุน ๆ ลองขยับดูก็พอครับ แค่นี้ฝาข้างที่เป็นกระจกนิรภัยก็จะอยู่กับเราได้ยาว ๆ ครับ

ตำแหน่งติดตั้งเมนบอร์ดมีการเจาะช่องขนาดใหญ่เพื่อให้เราเข้าถึงด้านหลังของเมนบอร์ดได้ง่าย ทำให้เราสามารถถอดใส่ฮีตซิงค์หรือบล็อกน้ำสำหรับซีพียูได้ง่ายโดยไม่จำเป็นต้องรื้อเมนบอร์ดออกมานอกเคส ช่วยให้การจัดการกับอุปกรณ์เป็นเรื่องที่ง่าย พร้อมกันนั้นจะมีการเจาะช่องสำหรับลอดสายต่าง ๆ เพื่อให้การเดินสายไฟของอุปกรณ์และสายสัญญาณต่าง ๆ จากเคสหรืออุปกรณ์อื่นมาเข้ากับตัวเมนบอร์ดได้ง่ายและเรียบร้อย


ตำแหน่งที่ติดตั้งพาวเวอร์ซัพพลายมีฝาครอบมาให้ช่วยให้เราซ่อนสายไฟต่าง ๆ ที่ไม่ได้ใช้ของพาวเวอร์ซัพพลายได้เป็นอย่างดี ทำให้ภายในเคสของเราดูเรียบร้อย พร้อมด้วยช่องสำหรับสอดสายไฟต่าง ๆ และในตำแหน่งใกล้เคียงกันนี้ก็ยังเป็นพื้นที่สำหรับติดตั้งฮาร์ดดิสก์ 3.5″ ได้อีกหนึ่งตัว

ตรงบริเวณที่ติดตั้งพาวเวอร์วัพพลายก็จะมีช่องสำหรับรับอากาศเข้าจากภายนอกมาระบายความร้อนให้กับพาวเวอร์ซัพพลายได้โดยตรง และมีตะแกรงกรองฝุ่นมาให้อีกด้วย ก็ไม่ต้องกันวนเรื่องฝุ่นสะสม เพราะสามารถถอดตะแกรงออกไปทำความสะอาดได้ง่ายมาก ๆ

เคสรุ่นนี้มาพร้อมกับพัดลมระบายความร้อนในตัวที่มีไฟ ARGB มาให้สามตัวด้วยกันครับ ติดไว้ทางด้านบนสองตัว และด้านหลังหนึ่งตัว ซึ่งตรงตำแหน่งพัดลมสองตัวด้านบนนั้นก็ใช้เป็นพื้นที่สำหรับติดตั้งหม้อน้ำขนาดสองตอนได้สบาย ๆ ครับ แล้วก็ย้ายพัดลมสองตัวมาติดทางด้านหน้าของเคสแทนได้

ตำแหน่งด้านหลังของตัวเคสก็ไม่มีอะไรเป็นพิเศษครับ ก็เป็นดีไซน์มาตรฐานที่ออกแบบมาให้ตรงตำแหน่งกับการติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในเคส แต่ก็มีออปชันพิเศษเล็ก ๆ ตรงที่เตรียมช่องสำหรับติดตั้งการ์ดจอในแนวตั้งมาให้ด้วยสำหรับคนที่ต้องการ แต่ก็ต้องจัดหาสายไรเซอร์มาใช้งานเพิ่มเติมกันเองครับ

มาดูทางด้านหลังของตำแหน่งที่ติดตั้งเมนบอร์ดกันบ้างครับ มองจากมุมนี้เข้าไปอาจจะดูรก ๆ หน่อยเพราะยังไม่ได้จัดการกับสายไฟของพัดลมครับ แต่ถ้าดูให้ทั่วบริเวณติดตั้งเมนบอร์ดก็จะเห็นว่ามีการเจาะตำแหน่งของการลอดสายต่าง ๆ ไว้เยอะพอสมควร ทำให้เราซ่อนสายมาไว้ด้านหลังได้ง่าย ส่วนความเรียบร้อยก็ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบแต่ละคนแล้วครับว่าจะมีทักษะหรือจะให้เวลากับเรื่องการจัดสายมากน้อยขนาดไหน จริง ๆ การประกอบอุปกรณ์ลงเคสใช้เวลาอย่างมากก็ไม่เกินครึ่งชั่วโมงครับ แต่จัดสายนี้ใช้เวลากันที 4-5 ชั่วโมงก็มีครับ

เคสรุ่นนี้มาพร้อมกับแผงควบคุมการทำงานของไฟ ARGB ที่เราสามารถกดปุ่มเพื่อปรับแต่งไฟล์ได้จากที่เคสได้โดยตรง หรือจะต่อเข้ากับเมนบอร์ดเพื่อรับสัญญาณควบคุมมาจากเมนบอร์ดก็ได้เช่นกัน


ในการใช้งานจริง ก็ไม่มีอะไรมากครับ แต่ก็แนะนำว่าใช้กับเมนบอร์ดไซส์ ATX ก็พอครับ แม้จะรับ E-ATX ได้ เราคิดว่ามันเต็มพื้นที่ไปหน่อย ยกเว้นแต่คุณมีอุปกรณ์ติดตั้งไม่เยอะก็พอจะใช้งานได้สะดวกอยู่ครับ ในรูปนี้เราใช้ฮีตซิงค์ที่มีขนาดใหญ่ในระดับกลาง ๆ ครับมีความสูงอยู่ที่ประมาณ 15 เซนติเมตร วัดจากแผง PCB ไปจนสุดความสูงของฮีตซิงค์ ดังนั้นใครใช้ฮีตซิงค์ขนาดใหญ่ก็ต้องตรวจสอบให้ดีครับ เท่าที่อลงวัดดูความสูงระดับ 16 เซนติเมตร ก็ยังรองรับได้อยู๋ครับ
โดยสรุปนะครับเคส Plenty Davinci E-ATX รุ่นนี้ก็ถือว่าเป็นเคสพิมพ์นิยมที่น่าสนใจอีกรุ่นครับ ด้วยหน้าตาที่ดูทันสมัย ในสไตล์ที่เรียบง่ายแต่หรูหรา ถึงเวลาจะผ่านไปก็ดูไม่เก่าครับ ที่สำคัญคือคุณภาพเนื้องานนั้นก็เทียบเท่ากับสินค้าแบรนด์อินเตอร์ครับ เพราะใช้โรงงานเดียวกัน การติดตั้งก็ง่าย ภายในเคสกว้างขวาง มีพื้นที่ในการส่อนสายเก็บสายได้มากพอสมควร เหมาะอย่างยิ่งสำหรับสายประกอบคอมแนวมินิมอลที่ต้องการความเรียบง่ายแต่หรูหราครับ
Model No | DAVINCI E-ATX |
---|---|
Case Type | Tower Case |
Color | Black ( สีดำ ) |
Motherboards | E-ATX / ATX / M-ATX |
Cooling System | ด้านหลัง : พัดลมขนาด 12 cm x 1 ( มาพร้อมเคส ) ด้านบน : ช่องสำหรับพัดลมขนาด 12 cm x 2 ( มาพร้อมเคส) ด้านหน้า : ช่องสำหรับพัดลมขนาด 12 cm x 3 ( ติดตั้งเพิ่ม ) |
Front I/O Ports | USB 2.0 x 2 USB 3.0 x 1 HD Audio x 1 Mic x 1 |
Drive Bay | Drive 3.5″ x 2 Drive 2.5″ x 2 |
Expansion Slot | 7 Slots + 2 (Vertical) |
Optional | ARGB 3 Fan + Controller |
Case Size ( DxWxH ) | 380x210x440mm |
ข้อมูลเพิ่มเติม