Samsung SSD 990 EVO Plus 1TB เป็น SSD NVMe M.2 แบบที่ไม่มี DRAM Cache ออกแบบมาเพื่อให้สมดุลระหว่างประสิทธิภาพ การประหยัดพลังงาน และราคาที่จับต้องได้ เหมาะสำหรับผู้ใช้หลากหลายกลุ่ม ตั้งแต่นักเล่นเกมไปจนถึงคนที่ใช้งานคอมพิวเตอร์ทั่วไป เริ่มวางจำหน่ายมาตั้งแต่ช่วงปลายไตรมาส 2 ของปี 2024, SSD รุ่นนี้พัฒนาต่อจาก 990 EVO เดิม โดยใช้เทคโนโลยี V-NAND รุ่นที่ 8 (236-layer TLC) และทำงานควบคู่ไปกับ SSD คอนโทรลเลอร์ขนาด 5nm ที่ Samsung พัฒนาเอง
แม้ SSD รุ่นนี้จะไม่มี DRAM ในตัวแต่ก็จะอาศัยการทำงานของเทคนิคที่เรียกว่า HMB (Host Memory Buffer) หรือก็คือการนำพื้นที่บางส่วนของ RAM หลักในเครื่องของเรามาเป็นแคชแทน ทำให้ SSD ยังคงมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีในราคาที่ถูกลง
คุณสมบัติทางด้านเทคนิค
SSD 990 EVO Plus จะมีให้เลือกใช้อยู่ด้วยกัน 3 ความจุคือ 1TB, 2TB และ 4TB ก็จะเห็นได้ว่า SSD ในซีรีส์นี้จะเน้นไปที่ความจุที่ค่อนข้างสูง (ในมุมของ SSD) ส่วนรุ่นที่เราจะทดสอบกันในครั้งนี้ก็คือความจุ 1TB

รุ่น 1TB มีความเร็วในการอ่านแบบต่อเนื่อง (Sequential Read) สูงสุด 7,150 MB/s และเขียน (Sequential Write) 6,300 MB/s ซึ่งเท่ากับรุ่น 2TB และ 4TB ถือว่าอยู่ในระดับสูงของ SSD PCIe 4.0 แต่ยังช้ากว่า 990 PRO (7,450 MB/s อ่าน, 6,900 MB/s เขียน) แต่ก็ไม่แปลกเพราะนั่นรุ่น PRO สำหรับประสิทธิภาพการแบบสุ่ม (Random IOPS) อยู่ที่ 850,000 IOPS และการเขียนอยู่ที่ 1,350,000 IOPS ซึ่งดีขึ้นจาก 990 EVO เดิมด้วยเทคโนโลยี Host Memory Buffer (HMB) ที่ปรับปรุงใหม่และ TurboWrite 2.0
SSD รุ่นนี้ใช้ดีไซน์แบบไฮบริด รองรับทั้ง PCIe 4.0 x4 และ PCIe 5.0 x2 ให้แบนด์วิดท์สูงสุดราว 8 GB/s แม้จะยังไม่ใช้ศักยภาพ PCIe 5.0 เต็มที่ (ต้องใช้ x4 เพื่อได้ถึง 14 GB/s) แต่ความยืดหยุ่นนี้ทำให้เข้ากันได้กับทั้งระบบเก่าและใหม่ รวมถึงแล็ปท็อปและเดสก์ท็อป สำหรับการเล่นเกม จัดเก็บข้อมูลหรือใช้งานทั่วไป ความเร็วตอบสนองดีเยี่ยม โหลดไวใกล้เคียง SSD PCIe 4.0 ระดับสูง แต่อาจช้ากว่าเล็กน้อยในงานที่ใช้ Random 4K เทียบกับรุ่นที่มี DRAM ในตัว แต่ก็แลกมาด้วยราคาที่เบากว่า


990 EVO Plus 1TB เป็นแบบ M.2 2280 ด้านเดียว ขนาด 80.15 x 22.15 x 2.38 มม. ใช้ PCB สีดำพร้อมคอนโทรลเลอร์และสติกเกอร์กระจายความร้อน ไม่มีฮีตซิงค์ในตัว มีเพียงแผ่นกราฟีนช่วยระบายความร้อนมาให้ แต่ด้วยดีไซน์ประหยัดพลังงาน อุณหภูมิขณะใช้งานอยู่ที่ 0°C ถึง 70°C (หากมี airflow ที่ดี) และสภาวะขณะไม่ใช้งาน -40°C ถึง 85°C เหมาะกับแล็ปท็อปหรือระบบขนาดเล็กอย่าง PS5 (แต่ต้องซื้อฮีตซิงค์แยกหากใช้กับ PS5) การใช้ NAND เพียงชิปเดียวทำให้ขนาดกะทัดรัด เหมาะกับเครื่องที่พื้นที่จำกัด
ซอฟต์แวร์ Samsung Magician
นอกเหนือไปจากตัว SSD 990 EVO Plus เองแล้ว ซอฟต์แวร์ Samsung Magician ก็ยังคงเป็นจุดเด่น ที่ช่วยตรวจสอบสุขภาพของ SSD อัปเดตเฟิร์มแวร์ ปรับแต่งประสิทธิภาพ และรองรับฟีเจอร์ TRIM, Garbage Collection, S.M.A.R.T รวมถึงการเข้ารหัส AES 256-bit และ TCG/Opal V2.0 เพิ่มความสะดวกและความปลอดภัยที่เหนือกว่า SSD ราคาถูกทั่วไป


เราสามารถปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงานของ SSD ได้ด้วยการตั้งค่าในส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น Over Provisioning (OP) ในซอฟต์แวร์ Samsung Magician เป็นฟีเจอร์ที่จัดสรรพื้นที่ว่างสำรองบน SSD เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความทนทาน โดยกันพื้นที่บางส่วนไม่ให้ระบบปฏิบัติการใช้งาน ทำให้ SSD มีพื้นที่สำหรับจัดการข้อมูล, Garbage Collection และ Wear Leveling ซึ่งช่วยเพิ่มความเร็วในการอ่านเขียน, ยืดอายุการใช้งาน และลดปัญหาการหน่วง สำหรับการกำหนดค่า OP นั้นเราควรตั้งค่าอย่างเหมาะสมแนะนำ 10-20% ของความจุทั้งหมด แต่ควรระวังว่า OP จะลดพื้นที่ใช้งานจริง และการตั้งค่ามากเกินไปอาจไม่ส่งผลดีเท่าที่ควรขึ้นอยู่กับลักษณะของการใช้งาน

ส่วนในการทดสอบของเราไม่ได้ใช้งานซอฟต์แวร์นี้ในระหว่างการทดสอบ และการใช้งานจริงส่วนตัวแล้วเราก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับ Samsung Magician มากนัก เราติดตั้งไว้เพื่อช่วยตรวจสอบสถานะการทำงานของ SSD ในระยะยาวเท่านั้น ไม่ได้มุ่งเน้นไปในเรื่องของการปรับแต่งประสิทธิภาพมากนัก แต่ถ้าต้องการปรับจริง ๆ เราแนะนำว่าให้ไปใช้ตัวเลือกในส่วนของ Peformance Optimization แล้วเลือกเป็น Full Performance เป็นอันจบ
อุปกรณ์ที่ใช้ในการทดสอบ
- CPU: Intel Core Ultra 7 265K
- GPU: Intel Arc Xe-LPG Graphics
- Mainboard: ASRock Z890 Pro-A
- RAM: Thermaltake TOUGHRAM RGB D5, DDR5 5600MT/s, 2 x 16GB
- SSD: Transcend 512GB NVMe (OS, Software)
- PSU: Thermaltake TOUGHPOWER GF A3 1050W

ติดตั้งและใช้งานโดยมีฮีตซิงค์ที่มาพร้อมกับเมนบอร์ดมาช่วยในการระบายความร้อน และทดสอบในห้องอุณหภูมิประมาณ 26 องศาเซลเซียส
ตรวจสอบคุณสมบัติด้วยซอฟต์แวร์


ทดสอบด้วยโปรแกรม CrystalDiskMark
การทดสอบด้วย CrystalDiskMark เราเลือกใช้โหมด Peak Performance เพื่อทดสอบดูความเร็วในการอ่านและเขียนแบบสูงสุดที่เป็นไปได้และทำการทดสอบแบบอ่านและเขียนเพิ่มเติม ซึ่งผลการทดสอบของ Samsung 990 EVO Plus รุ่น 1TB นี้ก็ออกมาใกล้เคียงกับค่าที่ระบุไว้ในสเปค แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงขนาดของไฟล์ที่ใช้ในการทดสอบจาก 1GB ไปจนถึงขนาด 64GB ก็ยังคงรักษาระดับความเร็วในการทำงานไว้ได้ด้วยดี

ทดสอบด้วย AS-SSD Benchmark
การทดสอบด้วย AS-SSD Benchmark เราจะทดสอบสองรูปแบบด้วยกันคือการอ่านค่าการทำงานด้วยหน่วยที่เป็น MB/s ตามปกติ และทดสอบเพื่อการดูจากค่า IOPS หรือการทำงานต่อวินาที

การทดสอบด้วย AS-SSD ความเร็วที่ได้ก็จะดูค่อนข้างน้อยแต่ที่จริงนี่ถือว่าสูงมากแล้วสำหรับการทดสอบด้วย AS-SSD Benchmark ที่จะทดสอบในลักษณะของ Real World Performance ซึ่งเป็นการอ่านเขียนแบบสุ่ม เราจะเห็นได้ว่าความเร็วในการอ่านและเขียนไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปมากนักแม้ว่จะเพิ่มขนาดของข้อมูลในการทดสอบไปที่ 10GB ถ้าเป็น SSD รุ่นเก่า ๆ หรือในกลุ่มพวก SSD แบบ SATA เราจะพบบ่อยว่าเมื่อเพิ่มขนาดข้อมูลไปที่ 10GB ความเร็วจะต่างจากการทดสอบที่ 1GB อย่างมาก แต่สำหรับ SSD 990 EVO Plus 1TB นี้ ถือว่าทำได้ดีการอ่านเขียนยังคงมีเสถียรภาพตลอดการทดสอบ

เมื่อมาดูการทดสอบโดยใช้หน่วยวัดเป็น IOPS (Input/Output Operations Per Second) ก็จะเห็นได้ว่ารอบการทำงานของ SSD มีอัตรงที่ใกล้เคียงกันตลอดทุการทดสอบแม้จะมีการเพิ่มขนาดของข้อมูลให้ใหญ่ขึ้นก็ตาม
ทดสอบด้วย PCMark และ 3DMark
PCMark 8 เป็นการทดสอบโดยจำลองการทำงานของแอปพลิเคชันต่าง ๆ เพื่อทำการอ่านและเขียนข้อมูลลงใน SSD ซึ่งเทียบได้กับการใช้งานจริงสำหรับแอปพลิเคชันทั่วไป ที่ใช้งานในชีวิตประจำวัน และต้องบอกว่า SSD 990 EVO Plus 1TB สามารถทำงานเร็วได้ดีมาก ๆ อยู่ในระดับ 600์MB/s สำหรับ SSD ที่ไม่มี DRAM ในตัวถือว่าทำความเร็วดีได้ แสดงว่าชุดควบคุมการทำงานของ Samsung นั้นไม่ธรรมดาจริง ๆ สามารถใช้ประโยชน์จาก HMB (Host Memory Buffer) ได้ค่อนข้างดี

มาดูการทดสอบของ 3DMark กันบ้าง เป็นการจำลองการอ่านเขียนข้อมูลด้วยเกมและกิจกรรมต่าง ๆ เช่นการบันทึก การเรียกเกม การติดตั้ง การย้ายตำแหน่งไฟล์ของเกม ซึ่งโดยรวมก็จะเห็นได้ว่าทำความเร็วได้ดีเช่นกัน

ทดสอบด้วย AJA System Disk Test
โปรแกรมนี้มาจาก AJA เป็นบริษัทที่ผลิตอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลสำหรับงานวิดีโอในระดับมืออาชีพขั้นสูง ดังนั้นการทดทอบด้วยโปรแกรมนี้ก็จะช่วยยืนยันประสิทธิภาพในการทำงานในระดับมืออาชีพของ SSD รุ่นนี้ได้เช่นกัน แม้ว่า SSD 990 EVO Plus นี้จะทำออกมาสำหรับกลุ่มผู้ใช้งานทั่วไปก็ตาม



เราทำการทดสอบด้วยไฟล์ขนาด 1GB, 16GB และ 64GB และไฟล์ที่ใช้เลือกเป็นวิดีโอแบบ 4K ใช้ Codec แบบ ProRes 4444 XQ ซึ่ง ProRes 4444 XQ เป็นรูปแบบไฟล์วิดีโอที่มีคุณภาพสูงมาก เหมาะสำหรับงานที่ต้องการความละเอียดของสีและรายละเอียดภาพที่สมบูรณ์แบบ เช่น งานภาพยนตร์, งาน VFX, และงานที่ต้องการการแก้ไขสีอย่างละเอียดในขั้นตอน Post-Production ไฟล์ ProRes 4444 XQ มีขนาดใหญ่และต้องการอัตราการถ่ายโอนข้อมูลที่สูง ดังนั้น SSD ที่มีความเร็วในการอ่านและเขียนข้อมูลสูงจึงมีความสำคัญต่อการทำงานกับไฟล์ประเภทนี้ได้อย่างราบรื่น การทดสอบ SSD ด้วยไฟล์ ProRes 4444 XQ จึงเป็นการวัดประสิทธิภาพของ SSD ในการทำงานกับไฟล์วิดีโอคุณภาพสูงได้อย่างแม่นยำ
และผลจากการทดสอบก็จะเห็นได้ว่าความเร็วในการอ่านเขียนของ SSD 990 EVO Plus นี้ก็สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว ตีเป็นตัวเลขกลม ๆ คืออยู่ในระดับ 5000MB/s ทั้งการอ่านและเขียนก็ถือว่าใครจะตัดต่อวิดีโอบน SSD รุ่นนี้ก็ไม่มีปัญหาอะไรครับ ความเร็วถือว่าผ่าน แต่เราก็ต้องไปดูเรื่องของความทนทานด้วยเช่นค่า TBW (Terabytes Written) ของ SSD รุ่นนี้อยู่ที่ 600TB ซึ่งมีความทนทานมากเกินพอสำหรับการใช้งานทั่วไปรวมถึงเหล่าเกมเมอร์ ค่าเฉลี่ยทั่วไปของผู้ใช้อยู่ที่ระดับ 20-30GB เท่านั้น หรือถ้าใช้งานอย่างหนักหน่อยก็อาจจะมีถึง 100GB ต่อวัน เท่านั้นก็ยังใช้งานได้ต่อเนื่องนานนับสิบปีกันเลยทีเดียว แต่แน่นอนถ้าคุณเป็นสายทำคอนเทนต์วิดีโอ ก็ลองประเมินดูว่างานของคุณจะต้องมีการบันทึกเกินกว่าระดับ 328GB หรือไม่ เพราะนี่คือตัวเลขสูงสุดของปริมาณการเขียนต่อวันของไดรฟ์ที่มี TBW 600TB และรับประกัน 5 ปี
อุณหภูมิการทำงาน

ก็สมกับการเป็นเจ้าของเทคโนโลยีในการผลิตชิปเองครับ Samsung ได้ใช้ความก้าวหน้าทั้งหลายในการผลิตชิปมาปรับปรุงการทำงานของ SSD ที่มีความเร็วในการอ่านและเขียนในระดับนี้ได้โดยไม่ต้องกังวลปัญหาเรื่องความร้อนเลย อย่าลืมว่านี่เราใช้งานอยู่บน PCIe 5.0×2 หรือ PCIe 4.0×4 ที่มีความเร็วสูงอย่างมาก แต่อุณหภูมิระหว่างการใช้งานและทดสอบของ NAND Flash อยู่ในระดับ 34 องศาเซลเซียสเท่านั้น แม้ในจุดที่เซนเซอร์สูง (ชุดควบคุม) ก็ยังอยู่ในระดับ 46 องศาเซลเซียสเท่านั้น ถือว่าทำงานได้เย็นมาก (ทดสอบในห้อง 26 องศาเซลเซียส) ส่วนการใช้งานในห้องปกติไม่ได้เปิดแอร์ ห้อง 32 องศา ก็จะทำให้การทำงานของ NAND Flash ขึ้นไปถึงระดับ 56 องศาเซลเซียสได้เช่นกัน แต่เฉลี่ยก็อยู่ในระดับที่ตำกว่า 50 องศาเซลเซียส ก็ถือว่าสบาย ๆ กับ SSD ที่มีความเร็วในระดับนี้

บทสรุปจากการทดสอบและลองใช้งาน
จากการทดสอบและลองใช้งาน เราคิดว่า Samsung SSD 990 EVO Plus 1TB เป็นตัวเลือกที่ครบเครื่องสำหรับการใช้งาน เป็น SSD ที่ให้ทั้งความเร็วที่ยอดเยี่ยม ความจุที่สุงพอสมควร ประหยัดพลังงาน ความร้อนต่ำ แม้ว่า SSD รุ่นจะไม่มี DRAM เป็นแคชในตัว แต่ชุดควบคุมความเร็วในการทำงานรวมกับ เทคโนโลยี Host Memory Buffer (HMB) ที่เราได้กล่าวไปข้างต้น ก็ทำให้เราสามารถใช้งาน SSD รุ่นนี้ได้แบบยาว ๆ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานในเดสก์ท็อปพีซี หรือว่าแล็ปท็อปก็เหมาะสมอย่างมาก และวางใจได้ด้วยตัวแบรนด์เอง รวมไปถึงการรับประกันที่วางใจได้เช่นกันจากตัวแทนจำหน่ายอย่างแอสเซนตี้ครับ