XPG Gaming PC Build ประกอบเกมมิ่งพีซีด้วยอุปกรณ์จาก XPG

วันนี้เราได้มีโอกาสประกอบเกมมิ่งพีซีขึ้นมาหนึ่งเครื่อง โดยใช้ซีพียูรุ่นใหม่ล่าสุดจากอินเทล บนซ็อกเก็ต LGA 1700 ที่รองรับหน่วยความจำ DDR5 เราใช้เมนบอร์ด MSI Z690 Unify-X สำหรับกราฟิกการ์ดเรายังคงใช้ของเดิมที่เรามีอยู่นั่นก็คือ GeForce RTX 2080 Ti แม้จะเป็นกราฟิกการ์ดที่มีอายุการใช้งานมาพอสมควร แต่ก็ยังถือว่ามีความแรงเพียงพอที่จะเล่นเกมในยุคปัจจุบันได้ เดี๋ยวเราไปดูกันว่าการประกอบพีซีครั้งนี้ของเรามีรายละเอียดและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ใช้มีอะไรกันบ้าง

เคส XPG Defender Pro

XPG Defender Pro เป็นเคสในระดับ Mid-Tower ที่รองรับเมนบอร์ดขนาด ATX, mATX และ mini-ITX ส่วนเมนบอร์ดที่เราใช้ในครั้งนี้เป็นขนาด ATX ครับ ซึ่งเมื่อประกอบเข้ากับเคสรุ่นนี้แล้วก็ถือว่าลงตัวและมีพื้นที่ให้เราจัดการกับสายต่าง ๆ ได้อย่างสบายครับ สำหรับเคส XPG Defender Pro นั้นจะมีอยู่ด้วยกันสองคือคือสีขาวและสีดำ ส่วนการประกอบของเราในครั้งนี้เลือกใช้สีขาวครับ

จุดเด่นของ XPG Defender Pro ก็คือดีไซน์ทางด้านหน้าเคสที่ใช้คอนเซปต์ของ mesh หรือทำออกมาในรูปทรงที่เหมือนกับตาข่าย โดยชั้นนอกสุดเป็นตาข่ายที่มีความแข็งแรงเพราะทำหน้าที่เป็นพาเนลด้านหน้าที่ต้องปกป้องช่องทางเข้าของอากาศส่วนชั้นรองลงมาเป็นตาข่ายที่มีความละเอียดมาขึ้นเพื่อป้องกันฝุ่นขนาดใหญ่ แต่ก็มีช่องวางมากพอที่จะให้อากาศไหลเวียนเข้าไปในเคสได้อย่างสะดวก ส่วนการปกป้องฝุ่นจริง ๆ ก็จะมีตาขายผ้าแบบละเอียดที่กรองฝุ่นขนาดเล็กไม่ให้หลุดรอดเข้าไปในเคสได้ 

ที่สำคัญพาเนลด้านหน้านี้สามารถถอดและใส่ได้ง่ายมาก ๆ เพราะเป็นการติดตั้งโดยใช้แม่เหล็กทำให้ผู้ใช้สามารถถอดพาเนลด้านหน้าเคสออกมาทำความสะอาดและนำแผงกรองฝุ่นที่อยู่ด้านในมาทำงานสะอาดได้อย่างง่ายดาย ลดปัญหาการสะสมของฝุ่นที่จะนำไปสู่ปัญหาเรื่องความร้อนได้เป็นอย่างดี

มาดูภายในของเคสกันบ้าง เคสรุ่นนี้จะดีไซน์ออกมาเป็นสองโซนใหญ่ ๆ คือพื้นที่สำหรับการติดตั้งเมนบอร์ดที่อยู่ทางด้านบน และพื้นที่สำหรับติดตั้งพาวเวอร์ซัพพลายจะอยู่ทางด้านล่าง รวมไปถึงพื้นที่สำหรับติดตั้งฮาร์ดดิสก์ขนาด 3.5 นิ้ว ก็จะอยู่ในโซนล่างนี้ด้วยเช่นกัน และในโซนด้านล่างนี้ก็จะมีฝาครอบ เพื่อให้เราซ่อนสายเก็บสายเพื่อความเป็นระบบเรียบร้อยสบายตาเวลาใช้งาน และ bay ที่ใช้ติดตั้งฮาร์ดดิสก์ก็สามารถเลื่อนมาทางด้านหน้าหรือจะเลื่อนไปทางด้านหลังเคสได้ตามสะดวก ก็ถือว่าเป็นเคสที่มีความยืดหยุ่นในการใช้งานพอควร

แต่แหน่งที่ใช้ในการติดตั้งเมนบอร์ดก็มีการเจาะช่องขนาดใหญ่ตรงบริเวณตำแหน่งของซีพียูที่ทำให้ผู้ใช้สามารถถอดเปลี่ยนชุดระบายความร้อนได้สะดวกโดยไม่ต้องถอดเมนบอร์ดออกมา ถือว่าเป็นความสะดวกเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ก็สำคัญที่เราได้จากเคสรุ่นนี้ครับ นอกจากนี้ก็ยังมีการออกแบบช่องลอดสายมาค่อนข้างดี ทำให้เวลาเราประกอบพวกสายพาวเวอร์ สายไฟการ์ดจอก็สามารถซ่อนและใช้ได้โดยไม่รกหูรกตาภายในของเคสเลยครับ และยังช่วยให้อากาศภายในเคสไหลเวียนได้ดีขึ้นอีกด้วย รวมไปถึงการติดตั้งหรือเปลี่ยนอุปกรณ์ก็ทำได้ง่ายเพราะไม่มีสายไฟต่าง ๆ มาขวางทาง

ตัวเคสออกแบบมาให้ติดตั้งการ์ดจอได้ทั้งแบบแนวตั้งและแนวนอน แต่ว่าการติดตั้งการ์ดจอแบบแนวตั้งนั้นผู้ใช้ต้องหาซื้อสายไรเซอร์มาติดตั้งเพิ่มเติมเอง ส่วนตำแหน่งสำหรับยึดตัวการ์ดจอนั้นที่เคสมีเตรียมไว้ให้เรียบร้อยแล้วครับ

เคสรุ่นนี้มาพร้อมกับพัดลมระบายความร้อนขนาด 120 มม. มาให้สามตัวและเป็นพัดลมที่มีไฟ RGB อีกด้วย โดยติดตั้งมาทางด้านหน้าเคสสองตัว และทางด้านหลังเคสอีกหนึ่งตัว พัดลมแต่ละตัวสามารถใช้สายต่อพ่วงสัญญาณไฟ RGB เข้าด้วยกันได้ ซึ่งสามารถเชื่อมต่อเข้ากับคอนเน็คเตอร์ไฟ RGB บนเมนบอร์ดได้โดยตรงและสามารถควบคุมได้โดยใช้ซอฟต์แวร์ของเมนบอร์ด

ที่พาเนลด้านหน้าของเคสเองก็มีการติดตั้งไฟ RGB มาให้ทั้งทางด้านบนและด้านล่างสามารถต่อพ่วงกับสัญญาณไฟ RGB เข้ากับเมนบอร์ดได้โดยตรงเช่นกัน หรือจะใช้พ่วงกับพัดลมเคสก็ได้ 

สำหรับพวกปุ่มพาวเวอร์ และคอนเน็คเตอร์ต่าง ๆ ของเคสจะอยู่ด้านบนโซนด้านหน้าเคส โดยจะมีช่อง USB 3.0 มาให้สองช่อง มีช่องสำหรับต่อไมโครโฟนและหูฟังแบบร่วมมาให้ ก็ใช้งานได้สะดวกตามสมควรครับ

พาวเวอร์ซัพพลาย XPG CORE REACTOR 850 GOLD

แหล่งพลังงานของคอมพิวเตอร์เครื่องนี้ได้มากจาก XPG CORE REACTOR 850 GOLD ซึ่งเป็นพาวเวอร์ซัพพลายขนาด 850 วัตต์ ที่เพียงพอต่อซีพียู Core i7-12700K และกราฟิกการ์ด RTX 2080 Ti ได้อย่างลงตัว พาวเวอร์ซัพพลายรุ่นนี้สามารถถอดสายชุดจ่ายไฟต่าง ๆ ได้ทั้งหมด ช่วยให้การประกอบลงในเคสทำได้ง่ายและสะดวก (Review)

แต่งเติมเสริมไฟด้วย XPG PRIME ARGB Extension Cable

เวลาที่เราประกอบอุปกรณ์ลงในเคสที่จัดเก็บสายได้ดี ๆ มีพื้นที่โล่ง ๆ แบบไม่รกตา เราก็สามารถแต่งเติมเสริมความโดดเด่นภายในเคสของเราได้ง่ายขึ้นครับ และหนึ่งในนั้นก็คือการใช้สายเคเบิลหรือสายไฟแบบ RGB ซึ่งในการประกอบเกมมิ่งพีซีของเราในครั้งนี้เราก็จะทำการเติมสายตรงภาคจ่ายไฟของเมนบอร์ดให้เป็นสายแบบ RGB รวมไปถึงสายภาคจ่ายไฟบนการ์ดจอด้วย สำหรับไฟหรือสายเคเบิลที่ใช้ในครั้งนี้ก็ประกอบด้วย XPG PRIME ARGB Extension Cable-MB สำหรับเมนบอร์ด และ XPG PRIME ARGB Extension Cable-VGA สำหรับการ์ดจอ

XPG PRIME ARGB Extension Cable-MB จะมีความพิเศษหน่อยตรงที่จะมาพร้อมกับตัวควบคุมไฟ RGB ที่เราสามารถกดเปลี่ยนจังหวะและรูปแบบของการแสดงผลได้จากตัวควบคุม โดยไม่ต้องใช้ซอฟต์แวร์ใด ๆ และเรายังสามารถต่อพ่วงการควบคุมนี้ไปยังอุปกรณ์อื่น ๆ ของ XPG ได้อีกไม่ว่าจะเป็นพัดลมหรือสายไฟ RGB อื่น ๆ ครับ และในการประกอบเกมมิ่งพีซีของเราในครั้งนี้เราก็เลือกที่จะใช้การควบคุมไฟผ่านชุดควบคุมของ XPG PRIME ARGB Extension Cable-MB นี่แหละครับเพราะสะดวกดี

เมนบอร์ด MSI Z690 Unify-X

ในตอนที่ XPG เปิดตัวแรม DDR5 ก็ได้มีการจับมือกับ MSI เป็นพาร์ทเนอร์คนสำคัญ โดยเฉพาะเมนบอร์ด MSI Z690 Unify-X นี้ได้ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษสำหรับนักโอเวอร์คล็อก แม้ว่าจะเป็นเมนบอร์ดขนาด ATX แต่ก็มีสล๊อตติดตั้งแรม DDR5 มาให้เพียงสองช่องเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพื่อทำให้การโอเวอร์คล๊อกหน่วยความจำสามารถทำได้ดีเป็นพิเศษนั่นเองครับ นอกจากนี้แล้วฟังก์ชันอื่น ๆ ก็ยังคงจัดเต็มตามสไตล์ของชิปเซต Z690 ที่ถือว่าเป็นรุ่นสูงสุดของแพลตฟอร์มสำหรับซีพียู อินเทล คอร์ เจนฯ 12 ครับ

XPG LANCER RGB DDR5

อย่างที่เราได้บอกไปครับว่าการประกอบเกมมิ่งพีซีด้วยอุปกรณ์จาก XPG นั้น เราเลือกใช้ซีพียูอินเทล คอร์ เจนฯ 12 และเมนบอร์ดที่ใช้ก็ยังเป็นชิปเซต Z690 ดังนั้นหน่วยความจำที่เราเลือกใช้ในครั้งนี้ก็จะเป็นหน่วยความจำหรือแรมแบบ DDR5 ครับ โดยเราได้เลือก XPG LANCER RGB DDR5 ซึ่งเป็นชุดคิทของแรมแบบ 16GB จำนวนสองโมดูล เท่ากับว่าเมื่อติดตั้งแล้วเราจะได้แรมที่มีความจุถึง 32GB กันเลยทีเดียว เหลือเฟือสำหรับการเล่นเกมรวมถึงพวกงานตัดต่อวิดีโออีกด้วย สำหรับหน่วยความจำรุ่นนี้เราเคนทำรีวิวไว้อย่างละเอียดแล้วครับ ใครสนใจในเรื่องประสิทธิภาพก็ไปอ่านย้อนหลังกันได้ “รีวิว XPG LANCER RGB DDR5 (XMP 6000MHz) แรงเกินขีดจำกัด

ได้เวลารวมร่าง

Defender Pro ถือว่าเป็นเคสที่มีพื้นที่ในการติดตั้งอุปกรณ์ได้อย่างสะดวกสบาย แม้ว่าเวลาเราประกอบเมนบอร์ดขนาด ATX ลงไปแล้วจนดูเต็มพื้นที่ แต่ตำแหน่งสำหรับจัดการกับสายต่าง ๆ ที่ออกแบบมาให้เราสอดให้เราซ่อนสายได้ทำให้การติดตั้งเป็นไปโดยสะดวก และมีอึดอัด นอกจากนี้แล้วพาวเวอร์ซัพพลายที่ใช้ก็เป็นแบบถอดสายได้ทั้งหมด เราจึงสามารถติดตั้งเฉพาะสายที่ใช้งาน ลดความยุ่งของสายลงไปได้มาก รวมไปถึงการติดตั้งก็ทำได้สะดวกเพราะพอเราวางตำแหน่งต่าง ๆ จนเรียบร้อยค่อนต่อสายเข้าคอนเน็คเตอร์ที่ตัวพาวเวอร์ซัพพลายก็ได้ และสายที่ให้มาก็มีความยาวเพียงพอต่อการติดตั้งในเคสรุ่นนี้พอดี

สายที่อาจจะดูยุ่งและวุ่นวายที่สุดภายในเคสนี้ก็คือสายของพัดลมที่มีแยกเป็นสองชุดคือสายสำหรับต่อตัวควบคุมความเร็วรอบตามตำแหน่งต่าง ๆ ของเมนบอร์ด และสายสำหรับไฟ RGB ของตัวพัดลมและเคสนั่นเอง รวมไปถึงสาย RGB ของ XPG PRIME ARGB Extension Cable ทั้งในส่วนของเมนบอร์ดและการ์ดจออีกด้วย แต่พอไล่สายและจัดเก็บทั้งหมดแล้วด้านหน้าและภายในของเคสก็ดูสะอาดและเรียบร้อยลืมความวุ่นวายของสายไฟที่เราเห็นไปได้เลย

ระหว่างการทดสอบต่อสายไฟและสายไฟ RGB
เริ่มเข้าที่เข้าทาง
เรียบร้อยครับ

ประกอบเสร็จแล้วก็ดูดีอยู่เหมือนกันนะครับ จะว่าไปนี่ถือว่าเป็นพีซีเครื่องแรกในรอบสามปีที่เราประกอบขึ้นมาแบบจัดเด็มและเป็นทางการ โดยอยู่ในเคสสวย พร้อมชุดไฟ RGB ที่เพียบพร้อม เพราะปกติพีซีของเราก็มักจะอยู่ในรูปแบบ Test Bed (ใช่ครับฝรั่งใช้คำว่าเตียงทดสอบนี่แหละ) เป็นหลัก พอเห็นแบบนี้แล้วก็ทำให้อยากจะประกอบพีซีสวย ๆ ขึ้นมาใช้งานอีกสักเครื่องแล้วหล่ะครับ